ข้ามไปเนื้อหา

ไฮไฟฟ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฮไฟฟ์
ประเภทบริการเครือข่ายสังคม
ภาษาที่ใช้ได้หลายภาษา (ภาษาอังกฤษเป็นหลัก)
เจ้าของThe Meet Group
ผู้ก่อตั้งลามู ยาละมันชัย
ยูอาร์แอลhi5.com
เชิงพาณิชย์ใช่
ลงทะเบียนจำเป็น
เปิดตัว27 มิถุนายน 2004; 20 ปีก่อน (2004-06-27)
สถานะปัจจุบันเปิดให้บริการ

ไฮไฟฟ์ (อังกฤษ: hi5) เป็นเว็บไซต์ในลักษณะเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ถือครองโดย The Meet Group[1][2] สมาชิกส่วนใหญ่ใช้ไฮไฟฟ์ในการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แชร์รูปภาพกันดู ในแต่ละวันจะมีสมาชิกเข้ามาใช้บริการจากทั่วโลกนับล้านราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[3]

ประวัติ

[แก้]

ลามู ยาละมันชัย นักศึกษาปริญญาตรีชาวอเมริกา ได้ร่วมกับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ที่เรียนปริญญาตรีทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ก่อตั้ง SponsorNet New Media ธุรกิจตัวแทนโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต ในปี 2004 (ปี 2547) โดยยาละมันชัย ได้เห็นว่าระบบการโฆษณาผ่านแบนเนอร์แบบเก่า ๆ ที่อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และพฤติกรรมการสร้างอัลบั้มรูปแล้วพูดคุยกัน การเกิดกลุ่มเพื่อนที่คอยอัปเดตข่าวแต่ละคนทางอินเทอร์เน็ต จึงได้เกิดเป็นเว็บไซต์ไฮไฟฟ์[4]

รูปแบบ

[แก้]

ไฮไฟฟ์ เป็นเว็บไซต์ประเภท Social Network หรืออาจเรียกในภาษาไทยว่า “เครือข่ายสังคม” หรือ “เครือข่ายมิตรภาพ” หรือ “กลุ่มสังคมออนไลน์” คือบริการผ่านเว็บไซต์ที่เป็นจุดโยงระหว่างบุคคลแต่ละคนที่มีเครือข่ายสังคมของตัวเองผ่านเน็ตเวิร์คอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเชื่อมโยงบริการต่างๆ อย่าง เมล์ เมสเซ็นเจอร์ เว็บบอร์ด บล็อก ฯลฯ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีก็กลุ่มย่อยตามความสนใจร่วมกัน เช่น กลุ่มคนขี่จักรยานเสือภูเขา กลุ่มแฟนคลับเดธโน้ต เป็นต้น โดยคนที่ลงทะเบียนสมัครจะกรอกข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ อัลบั้มรูป โดยเชื่อมเครือข่ายสังคมและเครือข่ายมิตรภาพเข้าด้วยกัน ด้วยการแชร์รูป แชร์ไฟล์ดูกัน[5]

นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันเสริมอื่น ๆ เช่น การฝังวิดีโอคลิป ฝังจอเล่นเพลง ฝังจอพิเศษที่นำรูปทั้งหมดของเรามาเล่นเรียงแบบฉายสไลด์ ซึ่งอุปกรณ์เสริมเหล่านี้เรียกว่า วิดเจ็ต (Widget) และยังเป็นฐานเปิดกว้างให้บริการอื่นๆ ร่วมด้วยอย่าง เว็บรับฝากคลิปวิดีโอ ยูทูบ หรือ หรือเว็บรับฝากเพลง iMeem นอกจากนี้ยังมีจอพิเศษที่จะฉายอัลบั้มรูปเราแบบสไลด์ของ slide.com และมีเกมสั้น ๆ ง่ายๆ สไตล์ Flash Game อีกชิ้นส่วนสำคัญคือหน้าจอ หรือที่เรียกว่า สกิน เป็นพื้นหลังแบ็กกราวนด์ ที่สามารถเลือกลวดลายและรูป ที่สามารถดาวน์โหลดได้ตามเว็บ และอีกลูกเล่นคือ กลิตเตอร์ (Glitter) การ์ตูนขยับหรือภาพ “ดุ๊กดิ๊ก” ที่ผู้ใช้สามารถคัดลอกโค้ดไปแปะในหน้าของตัวเองและส่งให้เพื่อน ๆ กันอย่างแพร่หลาย

และหลังจากที่คู่แข่งอย่าง เฟซบุ้ก เปิดโอกาสให้โปรแกรมเมอร์หรือใครก็ได้สร้างวิดเจ็ตขึ้นไปแปะบนหน้าเฟซบุ้กตัวเอง และแจกจ่ายให้แพร่หลายออกไปได้ ซึ่งไฮไฟฟ์เคยควบคุมไว้โดยตลอด แต่ต่อมา ไฮไฟฟ์ร่วมมือกับมายสเปซ ให้กูเกิ้ล ช่วยพัฒนาระบบชื่อ “Open Social” ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างให้มีวิดเจ็ตเช่นเดียวกับเฟซบุ้ก[6]

ความนิยมและกลุ่มผู้ใช้

[แก้]
แผนที่ประเทศที่มีผู้ใช้ไฮไฟฟ์มากที่สุด

ไฮไฟฟ์ เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 37 ของอาบูดาบี ตามมาด้วย มูเดิล และวินโดวส์ไลฟ์ (ข้อมูลเดือน กุมภาพันธ์ 2550[7]) และติดอันดับ 1 ใน 10 ในอีกกว่า 30 ประเทศ ไฮไฟฟ์กลุ่มของผู้ที่ใช้ภาษาสเปน เป็นหลักโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ กลุ่มประเทศที่นิยมการใช้ไฮไฟฟ์ คือ สาธารณรัฐโดมินิกัน คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส รองลงมาคือ กัวเตมาลา เปรู ขณะเดียวกันรวมถึงประเทศอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เช่น โปรตุเกส โรมาเนีย และประเทศไทยที่ปัจจุบันมีตัวเลขผู้เล่นไฮไฟฟ์ประมาณ 3 ล้านราย และมียอดผู้ใช้เป็นอันดับ 15 รองจากเม็กซิโก (ข้อมูลเดือน มิถุนายน 2551)[8]

จากการสำรวจข้อมูลของคนไทยที่ใช้ไฮไฟฟ์ ในช่วงเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2550 พบว่า ที่มีการเล่นมากที่สุดอยู่ที่ช่วงอายุ 18-24 ปี เป็นสัดส่วนถึง 42.19% โดยสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน โดยที่สัดส่วนของผู้เล่นเพศหญิงจะมากกว่าเล็กน้อย[9]

ในปี พ.ศ. 2566 ไฮไฟฟ์กลับมาได้รับความนิยมในไทยอีกครั้งหลังจากการเผยแพร่มิวสิกวิดีโอ "ธาตุทองซาวด์" โดย ยังโอม[10]

ข้อมูลเชิงเทคนิค

[แก้]

ไฮไฟฟ์พัฒนาบนเซิร์ฟเวอร์ลินุกซ์โดยใช้โพสต์เกรสคิวเอลเป็นฐานข้อมูล และมีการใช้งานระบบของจาวา รวมถึง JSP Servlets Sturts และ JDBC[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Raice, Shayndi (December 14, 2011). "Tagged acquires Facebook competitor Hi5". The Wall Street Journal.
  2. Malik, Om (July 22, 2007). "Social Network Hi5 gets $20 million". Gigaom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-10. สืบค้นเมื่อ 2023-04-16.
  3. ""Hi5"ตั้งบริษัทลูกหม้อสนุกเป็นตัวแทนขายโฆษณาออนไลน์ในไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-07. สืบค้นเมื่อ 2007-10-22.
  4. สมคิด เอนกทวีผล , Hi5 บูม สนามใหม่โฆษณาไทย Positioning Magazine พฤศจิกายน 2550
  5. ปิยะพงษ์ ป้องภัย, hi5 มาแรงสุด Social Network แจ้งเกิดเต็มตัว Positioning Magazine มีนาคม 2551
  6. สมคิด เอนกทวีผล ,ทำไมใครๆ ก็ hi5 ? Positioning Magazine มีนาคม 2551
  7. "อันดับเว็บนิยมจากอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-12. สืบค้นเมื่อ 2007-10-22.
  8. นิตยสาร Positioning ฉบับเดือนมิถุนายน 2551 หน้า 183
  9. หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หน้า 38
  10. "อีกี้ ฟีเวอร์ ดาราขออินเทรนด์งัดภาพสมัย hi5 ตัวตึงยุค Y2K จำได้ไหม ใครเป็นใคร ?". kapook.com. 2023-04-11.
  11. Rodney Gedda (2007-05-30). "Open source PostgreSQL hits another Hi5". Computerworld. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-22. สืบค้นเมื่อ 2007-10-23.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]