ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยานครราชสีมา
(ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)
เจ้าเมืองนครราชสีมา
ก่อนหน้าพระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา)
ถัดไปพระยานครราชสีมา (ขำ ณ ราชสีมา)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2323
เสียชีวิตพ.ศ. 2388
คู่สมรสท่านผู้หญิงทับทิม รายณสุข
ท่านผู้หญิงบุนนาค สิงหเสนี
ชุ่ม รายณสุข
อนุภริยาอื่น
บุตรนายศัลยวิชัย หุ้มแพร (ทองคำ ณ ราชสีมา)
ทองแก้ว ณ ราชสีมา
พระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมา
เจ้าจอมชื่น ในรัชกาลที่ 3
เจ้าจอมทรัพย์ในรัชกาลที่ 3
เจ้าจอมแจ่ม ในรัชกาลที่ 3
คุณหญิงเปี่ยม ณ ราชสีมา
เจ้าจอมฉิม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตรธิดาอื่น
บุพการี

เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) [1][2] หรือ ทองอินท์, ทองอิน เดิม พระองค์เจ้าทองอินทร์ เจ้าเมืองนครราชสีมาสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บุตรบุญธรรมในเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นแม่ทัพคนสำคัญของไทยในสงครามปราบกบฏเวียงจันทน์ และสงครามอานามสยามยุทธ

ประวัติ

[แก้]

เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) เกิดในปี พ.ศ. 2323 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงจวน ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานแด่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) ให้เป็นความดีความชอบและด้วยพระเมตตาที่สูญเสียท่านผู้หญิงนครราชสีมาระหว่างการสงคราม

เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้สมรสกับท่านผู้หญิงทับทิม ธิดาพระยาสุริยเดช (ทัศน์ รายณสุข ณ ราชสีมา) บุตรคนที่ 3 ของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) ต่อมาท่านผู้หญิงทับทิมได้ถึงแก่อนิจกรรม ได้สมรสใหม่กับ ท่านผู้หญิงบุนนาค ธิดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น สิงหเสนี) และเป็นน้องสาวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นอกจากนั้นยังสมรสกับ ชุ่ม รายณสุข ณ ราชสีมา น้องสาว ท่านผู้หญิงทับทิม และมีอนุภริยาอีกหลายท่าน

เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) มีบุตรธิดารวม 50 ท่าน ต่อมาเชื้อสายและเครือญาติ ได้มีบทบาทสำคัญในราชสำนักสยาม และในราชการบ้านเมือง

พ.ศ. 2386 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้ล้มป่วยลง ทำให้ต้องลาพักราชการสงคราม กลับมาพักรักษาตัว ณ เมืองนครราชสีมา แต่บุตรหลานยังคงอยู่ช่วยงานราชการสงคราม และในปี พ.ศ. 2388 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ถึงแก่อสัญกรรมด้วยความสงบ

เกียรติประวัติ

[แก้]

ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาแทนพี่ชาย

[แก้]

เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้เริ่มรับราชการ ณ เมืองนครราชสีมา ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 โดยช่วยงานราชการ พระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา) บุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชาย ต่อมาในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาสืบแทน และได้รับบรรดาศักดิ์สุดท้ายเป็น "เจ้าพระยากำแหงสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองนครราชสีมา"

ปราบเจ้าเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ และเจ้าราชวงศ์แห่งจำปาศักดิ์

[แก้]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2369 พระยาไกรสงคราม เจ้าเมืองขุขันธ์ วิวาทกับน้องชาย มีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) กับพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ยกกำลังไปปราบปรามให้สงบ โดยให้หลวงยกกระบัตรอยู่รักษาเมือง แต่ในที่สุดกลับต้องทำการรบติดพันกับพระยาไกรสงครามที่เมืองขุขันธ์ ทำให้เจ้าอนุวงศ์ นำทัพลาวเวียงจันทน์ เข้ายึดเมืองนครราชสีมาโดยง่าย เมื่อความทราบถึงเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) จึงให้พระยาปลัดเมืองนครราชสีมากลับเข้าเมืองนครราชสีมาเพื่อควบคุมครัวเรือนนครราชสีมาให้รวมกันติดที่บ้านปราสาท ในขณะที่ชาวเมืองนครราชสีมา ได้ถูกกวาดต้อนไปกับกองทัพเวียงจันทน์ จากนั้นพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา คุณหญิงโมภรรยาปลัดเมือง หลวงยกกระบัตร พระณรงค์สงคราม ได้ร่วมกันนำชาวเมืองนครราชสีมาเข้าต่อสู้กับกองทัพลาวจนได้ชัยชนะในเบื้องต้นจนเกิดเป็นวีรกรรม ณ ทุ่งสำริด และกองกำลังชาวเมืองนครราชสีมาได้ตีทัพลาวที่เจ้าอนุวงศ์ส่งมาช่วยแตกพ่ายไปอีกครั้งหนึ่ง จากวีรกรรมครั้งนี้ คุณหญิงโมได้รับพระราชทานนามเป็น ท้าวสุรนารี ในเวลาเดียวกันเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ยังรบติดพันกับกองทัพเมืองขุขันธ์และกองทัพลาว จากนั้นได้ถอยอ้อมมาทางเมืองเสียมราฐ และเข้าจังหวัดปราจีนบุรีจึงบรรจบกับกองทัพไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าอนุวงศ์รู้ข่าวกองทัพพระนครจึงสั่งถอยทัพออกจากเมืองนครราชสีมาและสั่งทำลายกำแพงเมืองนครราชสีมาสองด้าน พระยาไกรสงครามได้ถอยทัพไปด้วยแต่ในที่สุดถูกเจ้าอนุวงศ์สั่งประหารเนื่องจากไม่สามารถจับเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้ตามแผนที่วางไว้

พ.ศ. 2370 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ชุมนุมทัพที่นครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้กลับเข้าเมืองนครราชสีมาไปเฝ้า มีรับสั่งให้คุมทัพเมืองนครราชสีมา และหัวเมืองไปช่วยกองทัพพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา) ในการปราบเจ้าราชวงศ์ที่เมืองจำปาศักดิ์ หลังจากนั้นให้ไปร่วมตีเมืองเวียงจันทน์ ในครั้งนั้นได้พบครัวเมืองปักธงชัยกลับคืนมาจากการถูกกวาดต้อนไปบริเวณเมืองสกลนคร เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏเวียงจันทน์แล้วเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้นำชาวเมืองนครราชสีมาบูรณะเมืองนครราชสีมาให้กลับคืนมาดีเหมือนแต่ก่อน ในครั้งนั้นกองทัพไทยได้ร่วมกันสร้างวัดสามัคคี ในบริเวณนอกกำแพงเมืองด้านเหนือ

เป็นแม่ทัพสำคัญในสงครามกัมพูชา-ญวน

[แก้]

พ.ศ. 2376 กองทัพนครราชสีมาได้เป็นกำลังสำคัญในการทำสงครามกับญวนในดินแดนเขมร เพื่อขับไล่ญวนออกจากเขมร เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้ร่วมกับ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทำการรบด้วยความสามารถ ต่อมาในปี พ.ศ. 2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ทำนุบำรุงเมืองพระตะบองให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยนำชาวเมืองนครราชสีมาจำนวน 2,000 คน ไปปฏิบัติงานด้วยความเรียบร้อย

พ.ศ. 2383 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) พร้อมด้วย พระยาภักดีนุชิต บุตรชาย คุมกำลังพลไปปรามกบฏนักองค์อิ่มที่เมืองพระตะบอง เพราะนักองค์อิ่มได้ปกครองเมืองพระตะบองแทนพระยาอภัยภูเบศร์ แล้วคิดกบฏไปฝักใฝ่กับญวณ โดยจับกุมกรรมการเมืองพระตะบอง รวมทั้ง พระยาราชานุชิต น้องชายของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) และกวาดต้อนครอบครัวหนีไป กองทัพจากนครราชสีมาตามขับเคี่ยว จนถึงปี พ.ศ. 2386 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้ล้มป่วย จึงกลับมาพักรักษาตัวที่เมืองนครราชสีมา ทำให้การรบยืดเยื้อต่อไป ซึ่งการทำสงครามกับญวนนี้ เมืองนครราชสีมาเป็นกำลังสำคัญของราชการทัพมาโดยตลอด [3]

ถวายช้างเผือกแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้]

พ.ศ. 2377 เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายช้างพลายเผือกหางดำที่พบในเขตเมืองนางรอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อช้างนั้นว่า "พระยามงคลนาคินทร์ อินทรไอยราววรรณ พรรณสีสังข์สารเศวต กมเลศรังสฤษฎิ์ อิศวรรังรักษ์ จักรกฤษณราชรังสัน มหันตมหาวัฒนาคุณ วิบุลยลักษณเลิศฟ้า" [4] ในปี พ.ศ. 2387 ได้น้อมเกล้าฯ ถวายช้างพลายที่มีคชลักษณ์ดีอีก 3 เชือก (พลายบาน พลายเยียว และพลายแลม) และในปี พ.ศ. 2388 ก่อนอสัญกรรม ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ช้างพลายที่มีคชลักษณ์ดีอีก 2 เชือก (พลายอุเทน และ พลายสาร) [5]

เชื้อสาย/สกุล

[แก้]

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล แก่

ตามที่ขอพระราชทานเปลี่ยนใหม่ และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 แล้วว่า ณ ราชสีมา (เขียนเป็นอักษรโรมัน na Rajasima) เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ผู้เป็นต้นสกุล ซึ่งได้รับราชการประกอบคุณงามความดีแก่ นครราชสีมา และทั้งทายาทก็ได้รับราชการด้วยจงรักภักดีเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบเนื่องกันมาในจังหวัดนี้เป็นเวลาหลายรัชกาล [12][13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมศิลปากร, จดหมายเหตุนครราชสีมา 11 กันยายน พ.ศ. 2497, พิมพ์สนองคุณ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์ ณ ราชสีมา), กรุงเทพฯ: ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ป.ป.)
  2. ต้นสกุล ณ ราชสีมา ย้อนเรื่อง เมืองโคราช
  3. "ประวัตินครราชสีมาสมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-28. สืบค้นเมื่อ 2020-04-24.
  4. อ้างแล้ว, หน้า 67
  5. อ้างแล้ว, หน้า 69
  6. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๒๐ - ๑๖๐๑ อินทโสฬส
  7. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๒๐ - ๑๕๗๘ เมนะรุจิ
  8. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑๑ - ๙๑๓ อธินันทน์
  9. ประกาศพระราชทานนามสกุล พรหมนารท
  10. ประกาศพระราชทานนามสกุล พรหมนารท
  11. ประกาศพระราชทานนามสกุล มหาณรงค์
  12. ต้นสกุล ณ ราชสีมา
  13. อ้างแล้ว, หน้า 72 ก. ภาพตามแนบ