ข้ามไปเนื้อหา

วอยเอจเจอร์ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วอยเอจเจอร์ 1
ภาพแบบจำลองยานโครงการวอยเอจเจอร์
ประเภทภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอก เฮลิโอสเฟียร์ และมวลสารระหว่างดาว
ผู้ดำเนินการ นาซา
ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น
COSPAR ID1977-084A[1]
SATCAT no.10321[2]
เว็บไซต์voyager.jpl.nasa.gov
ระยะภารกิจ
  • 47 ปี 4 เดือน 1 วัน
  • สำรวจดาวเคราะห์: 3 ปี 3 เดือน 9 วัน
  • สำรวจอวกาศระหว่างดาวฤกษ์: 44 ปี 24 วัน
ข้อมูลยานอวกาศ
ชนิดยานอวกาศมาริเนอร์ จูปิเตอร์-แซทเทิร์น (Mariner Jupiter-Saturn)
ผู้ผลิต ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น
มวลขณะส่งยาน815 kg (1,797 lb)[3]
กำลังไฟฟ้า470 วัตต์ (ขณะปล่อยยาน)
เริ่มต้นภารกิจ
วันที่ส่งขึ้น5 กันยายน ค.ศ. 1977, 12:56:00 UTC
จรวดนำส่งTitan_IIIE
ฐานส่งสหรัฐอเมริกา ฐานปล่อยจรวด 41 ฐานทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล
สิ้นสุดภารกิจ
ติดต่อครั้งสุดท้ายรอการยืนยัน
บินผ่านดาวพฤหัสบดี
เข้าใกล้สุด5 มีนาคม ค.ศ. 1979
ระยะทาง349,000 km (217,000 mi)
บินผ่านดาวเสาร์
เข้าใกล้สุด12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1980
ระยะทาง124,000 km (77,000 mi)
บินผ่านดวงจันทร์ไททัน (สำรวจชั้นบรรยากาศ)
เข้าใกล้สุด12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1980
ระยะทาง6,490 km (4,030 mi)

ตราภารกิจโครงการวอยเอจเจอร์
ยานสำรวจอวกาศที่สำคัญ
 

วอยเอจเจอร์ 1 (อังกฤษ: Voyager 1) เป็นยานสำรวจอวกาศ (space probe) แบบไร้คนขับซึ่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐหรือองค์การนาซาได้ทำการปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 ภายใต้โครงการวอยเอจเจอร์ ซึ่งเป็นเวลา 16 วันหลังการปล่อยยาน วอยเอจเจอร์ 2 เป้าหมายเพื่อทำการศึกษาบริเวณรอบนอกของระบบสุริยะและห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว (interstellar space) ส่วนที่ไกลออกไปจากอาณาเขตเฮลิโอสเฟียร์ (heliosphere) ปัจจุบันยานปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลา 47 ปี 4 เดือน 2 วัน (มกราคม 7, 2025 UTC [รีเฟรช]) และยังคงสื่อสารกับพื้นโลกผ่านทางเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (DSN) เพื่อรับคำสั่งประจำและส่งข้อมูลกลับมายังโลก โดยข้อมูลระยะทางและความเร็วของยานตามเวลาจริงสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของนาซาและห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น[4] ปัจจุบันด้วยระยะทางของยานสำรวจที่อยู่ไกลจากโลกราว 162.3 หน่วยดาราศาสตร์ (24 พันล้าน กิโลเมตร; 15 พันล้าน ไมล์) ข้อมูลเมื่อ สิงหาคม 2023[5] ส่งผลให้ยาน วอยเอจเจอร์ 1 เป็นวัตถุที่สร้างโดยมนุษย์ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด[6]

ภารกิจของยานสำรวจคือการบินเฉียดดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททัน (ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์) ซึ่งต่างจากแผนการบินเดิมคือการบินเฉียดดาวพลูโตโดยการไม่ผ่านดวงจันทร์ไททัน แต่ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการบินเป็นการบินเฉียดดวงจันทร์ไททัน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่า โดยพุ่งเป้าไปที่ชั้นบรรยากาศ[7][8][9] วอยเอจเจอร์ 1 ได้ทำการสำรวจสภาพอากาศ สภาพสนามแม่เหล็ก และวงแหวนของทั้งดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ นอกจากนี้ยังเป็นยานสำรวจลำแรกที่ได้ถ่ายภาพเผยให้เห็นรายละเอียดของกลุ่มดาวบริวารของดาวเคราะห์เหล่านี้อีกด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจหลักในโครงการวอยเอจเจอร์เช่นเดียวกับยานคู่แฝด วอยเอจเจอร์ 2 ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ได้รับภารกิจเพิ่มเติมให้ทำการระบุและศึกษาอาณาเขตอวกาศส่วนนอกของพื้นที่ยังได้รับอิทธิพลจากลมสุริยะหรือเฮลิโอสเฟียร์ และเริ่มการสำรวจมวลสารระหว่างดาวฤกษ์ โดยยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นยานสำรวจลำแรกที่เดินทางผ่านชั้นเฮลิโอพอสไปยังพื้นที่มวลสารระหว่างดาวฤกษ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012[10][11] สองปีต่อมายาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้เผชิญกับคลื่นยักษ์จากการปลดปล่อยมวลจากชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ (coronal mass ejection) เรื่อยมาจนสิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นการยืนยันแล้วว่ายานได้ในอยู่ในมวลสารระหว่างดาวฤกษ์แล้ว [12]

ในช่วงปลายของปี ค.ศ. 2017 ทีมงานของวอยเอจเจอร์ประสบความสำเร็จในการทดลองจุดชุดเครื่องยนต์ไอพ่นที่ใช้ในการควบคุมแนวโคจร (TCM) ซึ่งไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ส่งผลให้สามารถขยายเวลาทำภารกิจของยานไปได้อีกสองถึงสามปี[13] โดยคาดว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 จะสามารถทำภารกิจได้ต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 2025 ซึ่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี (RTG) จะผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอเพื่อหล่อเลี้ยงเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ภายในยาน และหลังจากนั้นยานจะลอยเคว้งคว้างเป็นวัตถุเร่ร่อนในอวกาศ[14]

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2023 นาซาได้ประกาศว่าระบบข้อมูลการบินของ "วอยเอจเจอร์ 1" ประกาศว่าไม่สามารถใช้งานหน่วยการกล้ำสัญญาณโทรมาตร ทำให้ไม่สามารถส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้[15] เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2024 นาซาได้แก้ปัญหาและการส่งข้อมูลกลับมาใช้งานได้ในอีกสองวันถัดมา[16][17][18]

เบื้องหลังภารกิจ

[แก้]

ประวัติ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1964 นาซาได้เสนอแนวคิดโครงการแกรนด์ทัวร์ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งยานสำรวจเพื่อทำการศึกษาดาวเคราะห์ภายนอกระบบสุริยะ และเริ่มดำเนินงานโครงการในตอนต้นยุค ค.ศ. 1970[19] โดยข้อมูลที่ได้รับจากยานสำรวจ ไพโอเนียร์ 10 ช่วยให้ทีมวิศวกรของโครงการ วอยเอจเจอร์ สามารถออกแบบยานสำรวจเพื่อรับมือกับระดับกัมมันตรังสีที่รุนแรงของดาวพฤหัสบดี[20] นอกจากนี้ยังได้มีการเสริมชั้นป้องกันรังสีเพิ่มเติมด้วยแผ่นเปลวอะลูมิเนียมแบบที่ใช้ตามครัวเรือนในช่วงไม่กี่นาทีก่อนปล่อยยานอีกด้วย[21]

เดิมทียานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ก็คือยานสำรวจ "มาริเนอร์ 11" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมาริเนอร์มาก่อน ภายหลังงบประมาณของโครงการถูกจำกัดลง เป้าหมายของภารกิจจึงเน้นไปที่การสำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เป็นหลัก ยานถูกเปลี่ยนชื่อเป็น มาริเนอร์ จูปิเตอร์-แซทเทิร์น (Mariner Jupiter-Saturn) ภายหลังการดำเนินโครงการได้ระยะหนึ่งจึงมีการเปลี่ยนชื่อยานสำรวจอีกครั้งเป็น วอยเอจเจอร์ 1 เนื่องด้วยตัวยานได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าโครงการมาริเนอร์[22]

ส่วนประกอบของยานฯ

[แก้]
จานสื่อสารเกณฑ์ขยายสูงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.7 เมตร หรือ 12 ฟุต

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ถูกสร้างขึ้นโดยศูนย์ปฏิบัติการเครื่องยนต์ไอพ่น หรือ เจพีแอล[23][24][25] ตัวยานขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไฮดราซีน 16 ตัว มีไจโรสโคปรักษาตำแหน่งแบบ 3 แกน และระบบควบคุมยานที่คอยรักษาทิศทางของเสาวิทยุบนยานให้ชี้มายังโลก อุปกรณ์เหล่านี้จะเรียกรวมว่าเป็นระบบควบคุมตำแหน่งและแนวโคจร (AACS) มาพร้อมกับระบบควบคุมสำรอง และเครื่องยนต์ไอพ่นสำรองอีก 8 ตัว นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์รวมกว่า 11 ชิ้นเพื่อใช้ทำการศึกษาเหล่าดาวเคราะห์ที่ยานโคจรเข้าใกล้[26]

ระบบสื่อสาร

[แก้]

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ใช้ระบบการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงซึ่งออกแบบให้สามารถสื่อสารได้ไกลถึงนอกระบบสุริยะ ตัวยานประกอบไปด้วยจานสายอากาศทรงพาราโบลา แบบแคสซิเกรน (Cassegrain) ซึ่งมีเกณฑ์ขยายสูง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.7 เมตร (12 ฟุต) ส่งสัญญาณและรับสัญญาณคลื่นวิทยุผ่านเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network หรือ DSN) ที่มีสถานีฐานกระจายอยู่ทั่วพื้นโลก[27] โดยปกติแล้วยานจะทำการส่งสัญญาณผ่านทางช่องสัญญาณ์ 18 โดยใช้ย่านความถี่ 2.3 จิกะเฮิรตซ์ หรือ 8.4 จิกะเฮิรตซ์ ขณะที่การส่งสัญญาณจากโลกไปยังตัวยานจะทำการส่งผ่านย่านความถี่ 2.1 จิกะเฮิรตซ์ [28]

ในช่วงที่ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ไม่สามารถส่งข้อมูลมายังโลกโดยตรงได้ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกลงเทปบันทึกระบบดิจิตอล (DTR) ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูลได้สูงสุด 67 เมกะไบต์ เพื่อรอการส่งกลับมายังโลกในครั้งถัดไป[29] โดยใช้เวลาประมาณ 22 ชั่วโมงในการส่งสัญญาณจากยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 กลับมายังโลก (ข้อมูลเมื่อ 2023)[30]

แหล่งพลังงาน

[แก้]

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี หรืออาร์ทีจี (Radioisotope Thermoelectric Generator) รวม 3 เครื่อง ติดตั้งในลักษณะเป็นส่วนแขนยื่นออกจากตัวยาน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแต่ละเครื่องประกอบไปด้วยลูกบอลอัดเชื้อเพลิงพลูโตเนียม-238 (238Pu) ในรูปของพลูโตเนียมออกไซด์ (PuO2) ทั้งหมด 24 ลูก[31] กำลังไฟฟ้าวัดได้รวม 470 วัตต์ ณ วันที่ทำการปล่อยยาน[32] โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อันเป็นผลจากการสลายตัวของพลูโตเนียม-238 ที่มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 87.7 ปี รวมถึงการเสื่อมสภาพของชุดเทอร์โมคัปเปิล อย่างไรก็ตามเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอาร์ทีจีจะยังคงจ่ายพลังงานให้กับตัวยานได้อย่างเพียงพอต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 2025[26][31]

เมื่อวันที่ มกราคม 7 ปริมาณพลูโตเนียม-238 ใน วอยเอจเจอร์ 1 คงเหลือ 68.79% เทียบกับวันที่ปล่อยยาน และจะลดลงจนเหลือเพียง 56.5% ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งน้อยมากเพื่อให้ยานยังสามารถทำงานต่อไปได้ ปริมาณยังจะลดลงต่อไปอีกจนเหลือ 47.21% ในปี ค.ศ. 2078, คงเหลือ 28.92% ในปี ค.ศ. 2106, คงเหลือ 28.92% ในปี ค.ศ. 2134 และคงเหลือ 15.13% ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2165 ซึ่งพลูโตเนียม-238 ทั้งหมดจะสลายตัวกลายเป็นธาตุชนิดอื่น

ระบบคอมพิวเตอร์

[แก้]

แทบทุกส่วนของตัวยานสำรวจทำงานโดยอัตโนมัติผ่านการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ยกเว้นระบบถ่ายภาพแสงที่มองเห็นได้ซึ่งเป็นเพียงระบบเดียวที่ไม่ได้ทำงานแบบอัตโนมัติ แต่จะถูกควบคุมโดยชุดค่าพารามิเตอร์ในคอมพิวเตอร์ระบบย่อยข้อมูลการบิน (Flight Data Subsystem: FDS) ต่างจากกล้องถ่ายภาพในยานสำรวจยุคหลังจากปี ค.ศ. 1990 ที่เปลี่ยนมาใช้ระบบควบคุมแบบอัตโนมัติทั้งหมดแล้ว[33]

ระบบย่อยคอมพิวเตอร์สั่งการ (Computer Command Subsystem: CCS) ประกอบไปด้วยชุดคำสั่งแบบสำเร็จ เช่น ชุดคำสั่งถอดรหัส ชุดคำสั่งตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่อง ชุดคำสั่งควบคุมทิศทางของเสาอากาศ และชุดคำสั่งควบคุมตำแหน่งยาน คอมพิวเตอร์ส่วนนี้เป็นส่วนที่พัฒนามาจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในยานโครงการไวกิ้ง (Viking Program) ช่วงยุค ค.ศ. 1970 ฮาร์ดแวร์แบบปรับแต่งเอง (custom-built) ที่ใช้สำหรับระบบย่อยคอมพิวเตอร์สั่งการของยานสำรวจทั้งสองลำในโครงการ โวเอจเจอร์ จะเหมือนทุกประการ มีเพียงการปรับแต่งโปรแกรมเล็กน้อยเพราะมีระบบย่อยทางวิทยาศาสตร์ที่ยานอีกลำไม่มี[34]

ระบบย่อยควบคุมตำแหน่งและแนวโคจร (Attitude and Articulation Control Subsystem: AACS) เป็นระบบที่ใช้ในการควบคุมตำแหน่งและทิศทางของตัวยาน คอยควบคุมองศาของเสาอากาศยานให้ชี้มายังโลก ควบคุมการเปลี่ยนตำแหน่ง และบังคับทิศทางของยานเพื่อทำการถ่ายภาพวัตถุและพื้นผิว ระบบย่อยนี้สำหรับยานสำรวจในโครงการ โวเอจเจอร์ จะเหมือนทุกประการ[35][36]

เครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์

[แก้]
เครื่องมืดวัด ตัวย่อ รายละเอียด
ระบบการสร้างภาพถ่าย (Imaging Science System)
ปิดการทำงานแล้ว
(ISS) ทำงานโดยอาศัยกล้องถ่ายภาพ 2 ชุด คือ กล้องมุมมองกว้าง และกล้องมุมมองแคบ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายของดาวเคราะห์หรือวัตถุที่ยานเคลื่อนผ่านตลอดภารกิจ เพิ่มเติม
ตัวกรองแสง
กล้องมุมมองแคบ[37]
ชนิด ความยาวคลื่น สเปกตรัม ไวต่อแสง
0 - ใส 280–640 นาโนเมตร
4 - ใส 280–640 นาโนเมตร
7 - ยูวี 280–370 นาโนเมตร
1 - ม่วง 350–450 นาโนเมตร
2 - น้ำเงืน 430–530 นาโนเมตร
5 - เขียว 530–640 นาโนเมตร
6 - เขียว 530–640 นาโนเมตร
3 - ส้ม 590–640 นาโนเมตร
กล้องมุมมองกว้าง[38]
ชนิด ความยาวคลื่น สเปกตรัม ไวต่อแสง
2 - ใส 280–640 นาโนเมตร
3 - ม่วง 350–450 นาโนเมตร
1 - น้ำเงิน 430–530 นาโนเมตร
6 - CH4-U 536–546 นาโนเมตร
5 - เขียว 530–640 นาโนเมตร
4 - Na-D 588–590 นาโนเมตร
7 - ส้ม 590–640 นาโนเมตร
0 - CH4-JST 614–624 นาโนเมตร
ระบบวิทยาศาสตร์วิทยุ (Radio Science System)
ปิดการใช้งานแล้ว
(RSS) ทำงานโดยอาศัยระบบสื่อสารของยานโวเอจเจอร์ในการเก็บข้อมูลลักษณะทางกายภาพของดาวเคราะห์และดาวบริวาร (ชั้นบรรยากาศ มวล สนามแรงโน้มถ่วง ความหนาแน่น) อีกทั้งยังทำการเก็บข้อมูลปริมาณและขนาดของวัตถุที่อยู่ในวงแหวนของดาวเสาร์ รวมถึงขนาดของวงแหวนอีกด้วย เพิ่มเติม
อินฟราเรด อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ สเปกโทรมิเตอร์ (Infrared Interferometer Spectrometer)
ปิดการทำงานแล้ว
(IRIS) ทำการสำรวจดุลพลังงาน และองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศแบบเฉพาะพื้นที่และแบบทั่วทั้งดาว นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลรายละเอียดของระดับอุณภูมิในแต่ละชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์และเหล่าดาวบริวาร รวมถึงองค์ประกอบ สมบัติทางความร้อน และขนาดของวัตถุที่อยู่ในวงแหวนของดาวเสาร์ เพิ่มเติม
อัลตราไวโอเลต สเปกโทรมิเตอร์ (Ultraviolet Spectrometer)
ปิดการทำงานแล้ว
(UVS) ออกแบบมาเพื่อทำการวัดค่าต่างๆ ของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการวัดค่าของการแผ่รังสี เพิ่มเติม
ฟลักซ์เกทแมกนิโทมิเตอร์แบบสามแกน (Triaxial Fluxgate Magnetometer)
ยังทำงานอยู่
(MAG) ออกแบบมาเพื่อทำการศึกษาสนามแม่เหล็ก ของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ปฏิกิริยาระหว่างพายุสุริยะที่มีต่อแม็กนีโตสเฟียร์ของดาวเคราะห์แต่ละดวง สนามแม่เหล็กของอวกาศชั้นนอก ไปจนถึงเส้นขอบระหว่างลมสุริยะกับสนามแม่เหล็กของอวกาศระหว่างดาวฤกษ์ เพิ่มเติม
พลาสมา สเปกโทรมิเตอร์ (Plasma Spectrometer)
ระบบขัดข้อง
(PLS) ทำการศึกษาคุณสมบัติของอนุภาคไออนในพลาสมาและตรวจหาจำนวนของอิเล็กตรอนที่มีพลังงานในช่วง 5 อิเล็กตรอนโวลต์ถึง 1 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ เพิ่มเติม
เครื่องตรวจวัดอนุภาคมีประจุพลังงานต่ำ (Low Energy Charged Particle Instrument)
ยังทำงานอยู่
(LECP) ทำการวัดความค่าความเปลี่ยนแปลงของฟลักซ์พลังงาน การกระจายตัวเชิงมุมของไอออนและอิเล็กตรอน ตลอดจนวัดความเปลี่ยนแปลงของพลังงานในสารประกอบของไอออน เพิ่มเติม
เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก (Cosmic Ray System)
ยังทำงานอยู่
(CRS) ค้นหาแหล่งกำเนิดและกระบวนการเร่ง ประวัติในช่วงชีวิตและการพัวพันเชิงพลวัตของรังสีคอสมิกระหว่างดาวฤกษ์ (interstellar cosmic ray) การสังเคราะห์นิวเคลียสของธาตุองค์ประกอบในแหล่งกำเนิดของรังสีคอสมิก พฤติกรรมของรังสีคอสมิกในมวลสารระหว่างดาว รวมถึงสภาพแวดล้อมของอนุภาคพลังงานสูงของดาวเคราะห์ที่ถูกกักไว้ เพิ่มเติม
ระบบวิเคราะห์ดาราศาสตร์วิทยุ (Planetary Radio Astronomy Investigation)
ปิดการทำงานแล้ว
(PRA) อาศัยการทำงานของเครื่องรับวิทยุแบบกวาดความถี่เพื่อศึกษาคลื่นวิทยุที่ปล่อยออกมาจากดาวพฤหัสและดาวเสาร์ เพิ่มเติม
เครื่องวัดการโพลาไรซ์ของแสง (Photopolarimeter System)
ระบบขัดข้อง
(PPS) อาศัยการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ที่มีโพลาไรเซอร์ในการเก็บข้อมูลรายละเอียดและองค์ประกอบของพื้นผิว รวมถึงคุณสมบัติการกระจายตัวและความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสและดาวเสาร์ เพิ่มเติม
ระบบตรวจจับคลื่นพลาสมา (Plasma Wave System)
ยังทำงานอยู่
(PWS) อาศัยการทำงานของเสาอากาศที่ยืดหดได้ในการวัดปฏิกิริยาของคลื่นอิเล็กตรอนบริเวณรอบดาวเคราะห์กับช่วงมวลสารระหว่างดาวฤกษ์ โดยการตรวจวัดค่าความเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้าเมื่อเสาอากาศเคลื่อนผ่านกลุ่มเมฆประจุไฟฟ้า เพิ่มเติม
ภาพของยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1
ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ในหอจำลองสภาพอวกาศ
ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ในหอจำลองสภาพอวกาศ 
Voyager 1 in the Space Simulator chamber
แผ่นจานทองคำ ถูกติดตั้งไปกับยาน วอยเอจเจอร์ 1
แผ่นจานทองคำ ถูกติดตั้งไปกับยาน วอยเอจเจอร์ 1 
Gold-Plated Record is attached to Voyager 1
Edward C. Stone อดีตผู้อำนวยการการของนาซา ถ่ายภาพคู่กับแบบจำลองของยาน วอยเอจเจอร์
Edward C. Stone อดีตผู้อำนวยการการของนาซา ถ่ายภาพคู่กับแบบจำลองของยาน วอยเอจเจอร์ 
ผังแสดงตำแหน่งของเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์
ผังแสดงตำแหน่งของเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ the Voyager spacecraft

รายละเอียดภารกิจ

[แก้]

ช่วงเวลาการเดินทาง

[แก้]

แนวเส้นทางวิถีโค้งจากโลกของยาน วอยเอจเจอร์ 1 ก่อนเริ่มออกนอกสุริยวิถีที่ดาวเสาร์ในปี ค.ศ. 1981 ปัจจุบันกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกงู

วันที่ เหตุการณ์
5 กันยายน 1977 ทำการปล่อยยาน ณ เวลา 12:56:00 (UTC)
10 ธันวาคม 1977 เดินทางเข้าสู่แถบดาวเคราะห์น้อย
19 ธันวาคม 1977 ระยะห่างจากโลกของยาน วอยเอจเจอร์ 1 เริ่มแซงยาน วอยเอจเจอร์ 2 (ดูแผนผัง)
8 กันยายน 1978 เดินทางออกจากแถบดาวเคราะห์น้อย
6 มกราคม 1979 เริ่มปฏิบัติการสำรวจดาวพฤหัสบดี
5 มีนาคม 1979 เคลื่อนเข้าใกล้กลุ่มดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี (jovian system)
0006:54 น.0 บินโฉบผ่านดวงจันทร์อมัลเทีย ที่ระยะห่าง 420,200 กิโลเมตร
0012:05:26 น. เคลื่อนเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีระยะใกล้ที่สุดที่ 348,890 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางมวล
0015:14 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์ไอโอ ที่ระยะห่าง 20,570 กิโลเมตร
0018:19 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์ยูโรปา ที่ระยะห่าง 733,760 กิโลเมตร
6 มีนาคม 1979
0002:15 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์แกนีมีด ที่ระยะห่าง 114,710 กิโลเมตร
0017:08 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์คัลลิสโต ที่ระยะห่าง 126,400 กิโลเมตร
13 เมษายน 1979 สิ้นสุดภารกิจการสำรวจดาวพฤหัสบดี
29 มกราคม 1980 ปิดการทำงานระบบตรวจวัดโพลาไรซ์ของแสง (PPS) เนื่องจากการเสื่อมสภาพ
22 สิงหาคม 1980 เริ่มภารกิจการสำรวจดาวเสาร์
12 พฤศจิกายน 1980 เคลื่อนเข้าใกล้ดาวบริวารของดาวเสาร์ (saturnian system)
0005:41:21 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์ไททัน ที่ระยะห่าง 6,490 กิโลเมตร
0022:16:32 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์ทีทิส ที่ระยะห่าง 415,670 กิโลเมตร
0023:46:30 น. เคลื่อนเข้าใกล้ดาวเสาร์ระยะใกล้ที่สุดที่ 184,300 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางมวล
13 พฤศจิกายน 1980
0001:43:12 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์ไมมัส ที่ระยะห่าง 88,440 กิโลเมตร
0001:51:16 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์เอนเซลาดัส ที่ระยะห่าง 202,040 กิโลเมตร
0006:21:53 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์รีอา ที่ระยะห่าง 73,980 กิโลเมตร
0016:44:41 น. บินโฉบผ่านดวงจันทร์ไฮพีเรียน ที่ระยะห่าง 880,440 กิโลเมตร
14 พฤศจิกายน 1980 สิ้นสุดภารกิจการสำรวจดาวเสาร์
14 พฤศจิกายน 1980 เข้าสู่ช่วงขยายภารกิจ
ช่วงขยายภารกิจ
14 กุมภาพันธ์ 1990 ภาพถ่ายสุดท้ายของโครงการวอยเอจเจอร์ที่ได้จากยาน วอยเอจเจอร์ 1 ซึ่งภายหลังถูกนำมาประกอบเป็นภาพครอบครัวสุริยะ

ปิดการทำงานของกล้องถ่ายภาพทั้ง 2 ชุด (ISS) เพื่อสงวนพลังงาน

17 กุมภาพันธ์ 1998 วอยเอจเจอร์ 1 ทำสถิติวัตถุที่สร้างโดยมนุษย์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดซึ่งยาน ไพโอเนียร์ 10 เคยทำไว้ที่ระยะ 69.419 หน่วยดาราศาสตร์ ยานเคลื่อนที่ออกห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่า 1 หน่วยดาราศาสตร์ต่อปี เร็วกว่ายาน ไพโอเนียร์ 10 เช่นกัน
3 มิถุนายน 1998 ปิดการทำงานระบบอินฟราเรดอินเตอร์เฟอโรมิเตอร์สเปกโทรมิเตอร์ (IRIS) เพื่อสงวนพลังงาน
17 ธันวาคม 2004 เคลื่อนผ่านชั้นกำแพงกระแทกที่ระยะ 94 หน่วยดาราศาสตร์ และเข้าสู่ชั้นเฮลิโอชีท
1 กุมภาพันธ์ 2007 ปิดการทำงานระบบพลาสมาสเปกโทรมิเตอร์ (PLS) จากการเสื่อมสภาพ
11 เมษายน 2007 ปิดการทำงานระบบทำความร้อนของอุปกรณ์ตรวจจับพลาสมา
16 มกราคม 2008 ปิดการทำงานระบบวิเคราะห์ดาราศาสตร์วิทยุ (PRA) เพื่อสงวนพลังงาน
25 สิงหาคม 2012 ผ่านเข้าสู่อวกาศชั้นเฮลิโอพอสที่ระยะ 121 หน่วยดาราศาสตร์ และเข้าสู่อวกาศระหว่างดาว
7 กรกฎาคม 2014 ยืนยันตำแหน่งของยานอยู่ในอวกาศระหว่างดาว
19 เมษายน 2016 ปิดการทำงานระบบอัลตราไวโอเลตสเปกโทรมิเตอร์ (UVS) เพื่อสงวนพลังงาน
28 พฤศจิกายน 2017 ทำการจุดเครื่องยนต์ควบคุมเส้นแนวโคจร (TCM) อีกครั้งนับตั้งแต่ปี 1980[39]
5 พฤษจิกายน 2023 วอยเอจเจอร์ 1 อยู่ไกลจากโลก 162.3 หน่วยดาราศาสตร์ (24.280 พันล้าน กิโลเมตร; 15.087 พันล้าน ไมล์) และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 161.64 หน่วยดาราศาสตร์ (24.181 พันล้าน กิโลเมตร; 15.025 พันล้าน ไมล์)

การปล่อยยานและแนวโคจร

[แก้]
วอยเอจเจอร์ 1 บนส่วนหัวของจรวดนำส่ง Titan IIIE
ภาพเคลื่อนไหวแสดงแนวโคจรของ วอยเอจเจอร์ 1 ระหว่างเดือนกันยายน ปี 1977 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 1981       วอยเอจเจอร์ 1 ·       โลก ·       ดาวพฤหัสบดี ·       ดาวเสาร์ ·       ดวงอาทิตย์
ภาพเคลื่อนไหวแสดงแนวโคจรของ วอยเอจเจอร์ 1 รอบดาวพฤหัสบดี       วอยเอจเจอร์ 1 ·       ดาวพฤหัสบดี ·       ดวงจันทร์ไอโอ ·       ดวงจันทร์ยูโรปา ·       ดวงจันทร์แกนีมีด ·       ดวงจันทร์คัลลิสโต
แนวโคจรของยาน วอยเอจเจอร์ 1 ผ่านระบบดาวพฤหัสบดี

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ถูกส่งขึ้นไปในอวกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 ณ แท่นปล่อยจรวด 41 ฐานทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล ด้วยจรวดนำส่ง Titan IIIE ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 2 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศไปก่อนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกส่งขึ้นอวกาศช้ากว่ายาน วอยเอจเจอร์ 2 แต่ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ก็เดินทางถึงดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ได้ก่อน[40] ด้วยแนวโคจรที่สั้นกว่า[41]

บินเฉียดดาวพฤหัสบดี

[แก้]

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 เริ่มทำการถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีในปี ค.ศ. 1979 โดยบินเฉียดใกล้มากที่สุดที่ระยะห่างประมาณ 349,000 กิโลเมตร (217,000 ไมล์)* จากจุดศูนย์กลางดาวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1979[40] และด้วยตำแน่งของยานที่อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี ทำให้ได้ภาพถ่ายที่มีรายละเอียดที่มากขึ้น ส่งผลให้ภารกิจการสังเกตการณ์ระบบของดาวพฤหัสบดีซึ่งได้แก่ เหล่าดาวบริวาร วงแหวน สนามแม่เหล็ก และสภาพแวดล้อมของแถบรังสีแวนแอลเลน (Van Allen Belts) เสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมงเท่านั้น ภารกิจการถ่ายภาพระบบดาวพฤหัสบดีเสร็จสิ้นลงในเดือนเมษายน ค.ศ. 1979

การค้นพบภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่บนดวงจันทร์ไอโอ ถือว่าเป็นการค้นพบที่สร้างความฮือฮาที่สุด นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบภูเขาไฟมีพลังบนดาวดวงอื่นในระบบสุริยะนอกเหนือจากบนโลก อีกทั้งภูเขาไฟที่ครุกรุ่นเหล่านี้ยังส่งอิทธิพลไปยังดาวพฤหัสบดีด้วย ดวงจันทร์ไอโอถือเป็นแหล่งของสสารหลักที่แผ่ไปทั่วชั้นแม็กนีโตสเฟียร์ (บริเวณโดยรอบของดาวฤกษ์ที่ได้รับอิทธิพลอย่างรุนแรงจากสนามแม่เหล็ก) ของดาวพฤหัสบดี โดยมีการค้นพบร่องรอยของซัลเฟอร์ ออกซิเจน และโซเดียมที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟบนดวงจันทร์ไอโอปะปนอยู่ในขอบนอกของชั้นแม็กนีโตสเฟียร์ของดาวพฤหัสบดี[40]

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ ทั้งสองลำได้เผยการค้นพบที่สำคัญของดาวพฤหัสบดีเป็นจำนวนมาก เช่น เหล่าดาวบริวาร แถบกัมมันตรังสี และวงแหวนของดาวพฤหัสบดีที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ the Voyager 1 Jupiter encounter

บินเฉียดดาวเสาร์

[แก้]

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ ทั้งสองลำประสบความสำเร็จในการโคจรโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง (gravitational assist trajectory) ไปยังดาวเสาร์ อีกทั้งได้ทำการสำรวจดาวเสาร์ รวมถึงวงแหวน และเหล่าดาวบริวารของดาวเสาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 เดินทางมาถึงดาวเสาร์ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1980 และเดินทางเข้าใกล้มากที่สุด โดยห่างจากขอบบนของกลุ่มเมฆ (clound-tops) บนดาวที่ระยะ 124,000 กิโลเมตร (77,000 ไมล์)* ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1980 ซึ่งกล้องบนยานได้ตรวจพบโครงสร้างอันสลับซับซ้อนบนวงแหวนของดาวเสาร์และใช้เซ็นเซอร์ระยะไกลทำการศึกษาชั้นบรรยากาศของทั้งดาวเสาร์และดวงจันทร์ไททัน ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุด[42]

จากการสำรวจพบว่าชั้นบรรยากาศส่วนบนของดาวเสาร์ประกอบไปด้วยฮีเลียมอยู่ประมาณร้อยละ 7 (คิดเป็นร้อยละ 11 ของชั้นบรรยากาศบนดาวพฤหัสบดี) ขณะที่องค์ประกอบที่เหลือคือไฮโดรเจน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าฮีเลียมปริมาณมหาศาลจะกระจุกตัวอยู่บริเวณชั้นในของดาวเสาร์เช่นเดียวกับที่พบบนดาวพฤหัสบดีและดวงอาทิตย์ ส่วนฮีเลียมปริมาณเบาบางที่พบในชั้นบรรยากาศส่วนบนอาจแทรกลงมาด้านล่างอย่างช้าๆ ผ่านไฮโดรเจนซึ่งมีมวลน้อยกว่า ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าความร้อนส่วนเกินบนดาวเสาร์ที่แผ่ออกมานั้นได้รับมาจากดวงอาทิตย์นั่นเอง นอกจากยังพบว่ามีกระแสลมแรงพัดอยู่บนพื้นผิวดาวเสาร์ ความเร็วลมใกล้เส้นศูนย์สูตรสูงถึง 500 เมตรต่อวินาที (1,100 ไมล์ต่อชั่วโมง) โดยกระแสลมส่วนใหญ่จะพัดไปทางทิศตะวันออก[41]

มีการตรวจพบปรากฏการณ์คล้ายออโรราซึ่งเกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่ปลดปล่อยออกมาจากไฮโดรเจนบริเวณเขตละติจูดกลาง (mid-latitudes) ของชั้นบรรยากาศ และพบออโรราบริเวณละติจูดแถบขั้วโลก (มากกว่า 65 องศา) การเกิดออโรราบนชั้นบรรยากาศที่สูงเช่นนี้อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปเป็นโมเลกุลเชิงซ้อนของไฮโดรคาร์บอนซึ่งจะเคลื่นที่ไปรวมกันอยู่ที่แถบเส้นศูนย์สูตร ส่วนสาเหตุของการเกิดออโรราบริเวณเขตละติจูดกลางที่พบได้เฉพาะบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงนั้นยังคงเป็นปริศนา แต่คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากการระเบิดของอิเล็กตรอนและไอออนซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกับการเกิดออโรราที่พบบนโลก ยานวอยเอจเจอร์ทั้งสองลำได้ทำการวัดคาบการหมุนรอบตัวเอง (เวลาในหนึ่งวัน) ของดาวเสาร์พบว่าใช้เวลา 10 ชั่วโมง 39 นาที 24 วินาที[42]

ภารกิจของยาน วอยเอจเจอร์ 1 ยังรวมถึงการบินเฉียดดวงจันทร์ไททัน ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ ซึ่งมีการค้นพบการมีอยู่ของชั้นบรรยากาศจากภาพถ่ายที่ได้จากยาน ไพโอเนียร์ 11 ในปี ค.ศ. 1979 ระบุว่ามีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นและซับซ้อน ซึ่งทำให้เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา การบินเฉียดดวงจันทร์ไททันเกิดขึ้นเมื่อยานพยายามเดินทางเข้าสู่ระบบของดาวเสาร์โดยพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะที่อาจส่งผลต่อการสำรวจ ในที่สุดยานก็เข้าใกล้ที่ระยะประมาณ 6,400 km (4,000 mi) จากด้านหลังดวงจันทร์ไททันหากมองจากโลก เครื่องมือบนยานทำการตรวจวัดปฏิกิริยาระหว่างชั้นบรรยากาศกับแสงอาทิตย์ มีการใช้คลื่นวิทยุของยานเพื่อทำการค้นหาองค์ประกอบ ความหนาแน่น และความดันของชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังทำการวัดมวลของดวงจันทร์ไททันโดยอาศัยการสังเกตแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อแนวโคจรของยาน ชั้นบรรยากาศที่ปกคลุมอย่างหนาแน่นกลายเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถมองทะลุถึงพื้นผิวได้ แต่ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บได้จากชั้นบรรยากาศทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่ามีทะเลสาบโฮโดรคาร์บอนเหลวอยู่บนพื้นผิวดาว[43]

เนื่องภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ไททันถูกจัดให้เป็นภารกิจสำคัญ ดังนั้นแนวโคจรของยาน วอยเอจเจอร์ 1 จึงถูกออกแบบให้บินเฉียดดวงจันทร์ไททันให้มากที่สุด ส่งผลให้ยานเคลื่อนผ่านขั้วโลกใต้ของดาวเสาร์และหลุดออกจากระนาบสุริยวิถี ซึ่งทำให้ภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์นั้นสิ้นสุดลงไปด้วย[44] หากยาน วอยเอจเจอร์ 1 ล้มเหลวในการเข้าใกล้เพื่อทำการสำรวจดวงจันทร์ไททัน ทางนาซ่าก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางของยาน วอยเอจเจอร์ 2 มาทำภารกิจนี้แทนได้[43]: 94  โดยไม่โคจรผ่านดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน[7] นอกจากนี้ในแผนเดิมแนวโคจรของยาน วอยเอจเจอร์ 1 จะไม่ผ่านดาวยูเรนัสหรือดาวเนปจูน[43]: 155  แต่สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางภายหลังได้โดยการไม่บินเฉียดดวงจันทร์ไททัน อีกทั้งยังสามารถเดินทางจากดาวเสาร์ไปยังดาวพลูโตได้ภายในปี ค.ศ. 1986 อีกด้วย[9]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ the Voyager 1 Saturn encounter

โคจรออกจากเฮลิโอสเฟียร์

[แก้]
A set of grey squares trace roughly left to right. A few are labeled with single letters associated with a nearby colored square. J is near to a square labeled Jupiter; E to Earth; V to Venus; S to Saturn; U to Uranus; N to Neptune. A small spot appears at the center of each colored square
ภาพครอบครัวสุริยะที่ได้จากยานสำรวจ วอยเอเจอร์ 1
ภาพครอบครัวสุริยะล่าสุด (12 กุมภาพันธ์ 2020)
ตำแหน่งของยาน วอยเอจเจอร์ 1 เหนือระนาบสุริยะวิถีเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ได้ทำการถ่ายภาพครอบครัวสุริยะ (family portrait) จากมุมมองนอกระบบสุริยะได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์[45] ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายของโลกที่รู้จักกันในชื่อเพลบลูดอต ก่อนที่จะทำการปิดการทำงานของอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพเพื่อสงวนพลังงานสำหรับระบบอื่นในยานหลังจากนั้น เนื่องจากซอฟต์แวร์ของระบบกล้องถ่ายภาพทั้งหมดได้ถูกลบออกหมดแล้ว จึงเป็นการยากที่จะเปิดระบบนี้ขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง นอกจากนี้ยังไม่มีซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากยานบนโลกอีกแล้วเช่นกัน[7]

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 โคจรที่ระยะห่าง 69

หน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์ ซึ่งมากกว่าระยะที่ยานไพโอเนียร์ 10 ที่เคยเป็นยานอวกาศที่โคจรห่างจากโลกมากที่สุด[46][47] นอกจากนี้ยานยังเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 17 กิโลเมตรต่อวินาที (11 ไมล์ต่อวินาที)[48] ซึ่งเป็นความเร็วถอยห่างจากดวงอาทิตย์ที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับยานอวกาศทุกลำ[49]

ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้เดินทางเข้าสู่อวกาศระหว่างดาว มีการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดเพื่อทำการศึกษาระบบสุริยะอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ปฏิบัติการเครื่องยนต์ไอพ่น (JPL) ได้เปิดใช้งานอุปกรณ์ปล่อยคลื่นพลาสมาที่ติดตั้งอยู่บนทั้งยาน วอยเอจเจอร์ 1 และ 2 เพื่อทำการศึกษาเฮลิโอพอส ซึ่งเป็นแนวเขตที่ลมสุริยะได้ถูกหยุดลงเพราะเป็นบริเวณแรงดันของมวลสารระหว่างดาวกับลมสุริยะเข้าสู่สมดุลกัน[50] ในปี ค.ศ. 2013 ยานสำรวจโคจรด้วยความเร็วสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์ประมาณ 17,030 เมตรต่อวินาที (55,900 ฟุตต่อวินาที)[51] และในปัจจุบันยาน วอยเอจเจอร์ 1 โคจรโดยคงความเร็วคงที่ 325 ล้านไมล์ (523×106 กิโลเมตร) ต่อปี[52] หรือประมาณ 1 ปีแสงใน 18,000 ปี

กำแพงกระแทก

[แก้]
ความเร็วของยาน วอยเอจเจอร์ 1 และ 2 และระยะห่างจากดวงอาทิตย์
ภาพถ่ายเพลบลูดอตที่แสดงให้เห็นโลกจากระยะ 6 พันล้าน กิโลเมตร (3.7 พันล้าน ไมล์)* จะปรากฏเป็นจุดสีน้ำเงินจางเล็กๆ ท่ามกลางอวกาศอันกว้างใหญ่ (จุดกลางภาพค่อนไปทางขวามือ ในลำแสงอาทิตย์ที่ถูกกระเจิงโดยกล้องของยาน)[53]

เหล่านักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์เชื่อว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้เดินทางเข้าสู่ชั้นกำแพงกระแทก (termination shock) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003[54] บริเวณนี้เป็นจุดที่ลมสุริยะชะลอความเร็วลงจนช้ากว่าความเร็วของเสียง (subsonic speed) หรือต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อวินาที แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่นๆ มีการถกประเด็นนี้ในวารสารวิชาการเนเจอร์ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003[55] โดยประเด็นนี้จะยังคงต้องถกเถียงดันต่อไปจนกว่าจะมีข้อมูลใหม่ที่สามารถมายืนยันได้ อีกทั้งอุปกรณ์ตรวจจับลมสุริยะที่ติดตั้งไว้บนยานได้หยุดการทำงานไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ทำให้การตรวจหาชั้นกำแพงกระแทกทำได้โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ตัวอื่นแทน[56][57][58]

ภาพเพลบลูดอตเผยให้เห็นตำแหน่งของโลกจากระยะ 6 พันล้านกิโลเมตร (จุดเล็กสีฟ้าอ่อนประมาณกึ่งกลางของแถบสีน้ำตาลทางด้านขวา) ท่ามกลางความมืดมิดของห้วงอวกาศ

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2005 ทางนาซาได้เผยแพร่บทความสรุปผลว่ายานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ได้โคจรเข้าสู่ห้วงอวกาศบริเวณที่เรียกว่าเฮลิโอชีท (heliosheath) โดยในงานประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นที่สหภาพธรณีวิทยาอเมริกา (American Geophysical Union: AGU) เมืองนิวออร์ลีนส์ วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 ทาง ดร.เอ็ด สโตน (Dr. Ed Stone) ได้เสนอหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ายานเดินทางผ่านชั้นกำแพงกระแทกในช่วงปลายปี ค.ศ. 2004[59] ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2004 ที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 94 หน่วยดาราศาสตร์[60][61]

เฮลิโอชีท

[แก้]
การบินเฉียดดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ 4 ดวงเพื่อใช้ในการเคลื่อนที่แบบเหวี่ยงโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง (gravity assists) ของยาน วอยเอจเจอร์ ทั้งสองลำ

ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2006 กลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นจากองค์กรกิจการดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น หรือ AMSAT ในประเทศเยอรมนี ได้รับสัญญาณคลื่นวิทยุจากยาน วอยเอจเจอร์ 1 ผ่านจานดาวเทียมขนาด 20 เมตร (66 ฟุต) ที่เมืองโบคุม สัญญาณที่พบได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้วโดยเทียบกับสัญญาณที่ได้จากเครือข่ายสื่อสารข้อมูลห้วงอวกาศ (DSN) ที่เมืองมาดริด ประเทศสเปน[62] ถือได้ว่าเป็นกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มแรกที่สามารถติดตามสัญญาณของยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้[62]

วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2010 ไมีการยืนยันว่ายานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 เดินทางผ่านขอบเขตของการขยายตัวของลมสุริยะ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากเครื่องตรวจวัดอนุภาคมีประจุพลังงานต่ำ (Low Energy Charged Particle: LECP) นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าลมสุริยะในบริเวณนี้มีทิศทางไหลย้อนกลับอันเนื่องมาจากกระแสลมระหว่างดาว (interstellar wind) ที่พยายามไหลต้านกับเฮลิโอสเฟียร์ และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2010 มีการตรวจพบว่าลมสุริยะมีค่าคงที่เป็นศูนย์ ซึ่งสามารถใช้สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ได้เป็นอย่างดี[63][64] ในวันนั้นยานโคจรห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 116 หน่วยดาราศาสตร์ (17.4 พันล้าน กิโลเมตร; 10.8 พันล้าน ไมล์)*[65]

ยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ได้รับคำสั่งให้หมุนตัวยานเพื่อทำการตรวจวัดการเลี้ยวเบนของลมสุริยะของบริเวณนี้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 (ประมาณ 33 ปีหลังการปล่อยยาน) ภายหลังการทดสอบที่แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ยานมีความพร้อมที่จะถูกควบคุมให้หมุนตัวได้อีกครั้ง โดยยังคงแนวโคจรไว้เช่นเดิม แต่จะหมุนตัวยานไป 70 องศาทวนเข็มนาฬิกาเมื่อเทียบกับโลกเพื่อทำการตรวจจับลมสุริยะ (ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบังคับตัวยานครั้งใหญ่นับตั้งแต่การถ่ายภาพครอบครัวสุริยะในปี ค.ศ. 1990) โดยหลังจากการหมุนตัวยานในครั้งแรกพบว่าตัวยานสามารถหมุนตัวกลับมาหาดาวแอลฟาคนครึ่งม้า (α-Centauri) ซึ่งเป็นดาวนำทางของยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้โดยไม่พบปัญหาใดๆ และยังสามารถส่งสัญญาณกลับมายังโลกได้เหมือนเดิมอีกด้วย คาดว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 เดินทางเข้าสู่อวกาศระหว่างดาวไปแล้วโดยไม่ทราบวันเวลาแน่ชัด ในขณะยาน วอยเอจเจอร์ 2 ยังคงกำลังตรวจวัดการไหลออกของลมสุริยะที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งซึ่งคาดว่าน่าจะตามหลังยาน วอยเอจเจอร์ 1 ในแง่ของเหตุการณ์ที่ได้พบไปประมาณหลายเดือนหรือหลายปี[66][67]

ตำแหน่งของยานสำรวจ วอยเอจเจอร์ 1 ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 เทียบจากโลกตามพิกัดศูนย์สูตร (equatorial coordinates) คือเดคลิเนชันที่ 12.44 องศา, ไรต์แอสเซนชันที่ 17.163 ชั่วโมง และละติจูดสุริยะที่ 34.9 องศา (ละติจูดสุริยะจะเปลี่ยนช้ามาก) ซึ่งเป็นตำแหน่งของกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus)[7]

ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2011 มีการประกาศว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้ตรวจพบรังสีช่วงไลแมน-อัลฟา (Lyman-alpha) ที่มีจุดกำเนิดมาจากดาราจักรทางช้างเผือก (Milky Way) ได้เป็นครั้งแรก จากปกติยานจะพบแต่รังสีช่วงไลแมน-อัลฟาที่มาจากดาราจักรอื่นๆ รังสีที่มาจากดาราจักรทางช้างเผือกจะถูกรบกวนจากดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่สามารถตรวจจับได้[68]

องค์การนาซาได้ลงประกาศในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2011 ว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้โคจรเข้าสู่อวกาศพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่า "cosmic purgatory" ซึ่งเป็นชื่อเรียกพื้นที่สแตกเนชัน (stagnation) กล่าวคือ ภายในพื้นที่นี้อนุภาคมีประจุที่ปลดปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ช้าลงและเริ่มเคลื่อนที่ย้อนกลับ และด้วยสนามแม่เหล็กของระบบสุริยะที่มากกว่าสนามแม่เหล็กของอวกาศระหว่างดาวถึงสองเท่านั้นได้ก่อให้เกิดเป็นแรงดันขึ้น อนุภาคมีพลังงานที่มีจุดกำเนิดมาจากระบบสุริยะจะลดลงเกือบกึ่งหนึ่ง ขณะที่มีการตรวจพบอิเล็กตรอนพลังงานสูงจากบริเวณภายนอกมากถึง 100 ทบ เส้นขอบส่วนในของพื้นที่สแตกเนชันนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 113 หน่วยดาราศาสตร์[69]

เฮลิโอพอส

[แก้]

นาซาได้ลงประกาศในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012 ว่ายานสำรวจได้ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงบริเวณโดยรอบยานที่คาดว่าน่าจะบ่งบอกการมาถึงของเฮลิโอพอส[70] ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้รายงานว่ามีการเพิ่มขึ้นของอนุภาคมีประจุจากอวกาศชั้นอวกาศระหว่างดาว (interstellar space) ซึ่งปกติจะมีการหักเหเนื่องจากอิทธิพลของลมสุริยะภายในชั้นเฮลิโอสเฟียร์ที่มาจากดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่ายานได้เริ่มโคจรเข้าสู่ชั้นมวลสารระหว่างดาว (interstellar medium) ซึ่งสุดขอบของระบบสุริยะแล้ว[71]

ยาน วอยเอจเจอร์ 1 เป็นยานอวกาศลำแรกที่ได้เดินทางเข้าสู่อวกาศชั้นเฮลิโอพอสในเดือนสิงหา ค.ศ. 2012 ซึ่งเป็นระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 121 หน่วยดาราศาสตร์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้เพิ่งจะได้รับการยืนยันในช่วง 1 ปีให้หลังไปแล้ว[72][73][74][75][76]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 แสงจากดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลาประมาณ 20.11 ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปถึงยาน วอยเอจเจอร์ 1 ซึ่งคือระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 145 หน่วยดาราศาสตร์ ค่าความส่องสว่างปรากฏเท่ากับ -15.9 หน่วย (น้อยกว่าค่าความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง 30 เท่า)[77] ยานกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์ 16.972 กิโลเมตรต่อวินาที (10.434 ไมล์ต่อวินาที) ด้วยความเร็วนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 17,676 ปีเพื่อเดินทางให้ได้ระยะทางเท่ากับ 1 ปีแสง[77]

ช่วงปลายปี ค.ศ. 2012 กลุ่มนักวิจัยพบว่าข้อมูลอนุภาคที่ได้จากยานบ่งชี้ว่ายานได้เดินทางผ่านชั้นเฮลิโอพอสแล้ว ค่าต่างๆ ที่วัดได้แสดงให้เห็นว่ามีการชนกันของอนุภาคพลังงานสูงเพิ่มขึ้นแบบคงที่ (มากกว่า 70 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์) ซึ่งเชื่อว่าเป็นรังสีคอสมิกที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดซูเปอร์โนวาที่ไกลออกไปจากระบบสุริยะ นอกจากนี้ในปลายเดือนสิงหาคมยังพบว่าการชนกันของอนุภาคพลังงานสูงมีค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันการชนกันของอนุภาคพลังงานต่ำพบว่ามีค่าลดลงเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าอนุภาคพลังงานต่ำเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากดวงอาทิตย์[78] Ed Roelof นักวิทยาศาสตร์อวกาศจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์และเป็นผู้ติดตามข้อมูลการสำรวจของเครื่องตรวจวัดอนุภาคมีประจุพลังงานต่ำ (LECP) ได้ประกาศว่า "เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลยาน วอยเอจเจอร์ 1 ต่างพึงพอใจเป็นอย่างมาก"[78] อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์สุดท้ายที่ใช้ยืนยันว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้โคจรผ่านบริเวณที่คาดว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก (ทั้งจากดวงอาทิตย์และจากอวกาศระหว่างดาว) ไม่ได้ถูกตั้งข้อสังเกต (สนามแม่เหล็กเปลี่ยนทิศเพียง 2 องศา[73]) ซึ่งนั่นอาจทำให้มีการระบุแนวขอบของเฮลิโอพอสมีความผิดพลาดได้

ในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ดร.เอ็ด สโตน นักวิทยาศาสตร์ของโครงการวอยเอจเจอร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (Caltech) กล่าวไว้ว่า "ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้ค้นพบพื้นที่ใหม่ในเฮลิโอพอสที่เราไม่เคยทราบมาก่อน ตอนนี้ยานยังอยู่ภายใน แต่สนามแม่เหล็กสามารถเชื่อมต่อกับภายนอกได้ มันเป็นเหมือนถนนที่เป็นทางเข้าออกของเหล่าอนุภาค"[79] สนามแม่เหล็กบริเวณนี้สูงมากกว่า 10 เท่าเทียบกับที่ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้เคยเจอมาก่อนในบริเวณชั้นกำแพงกระแทก คาดว่าบริเวณนี้เป็นแนวกั้นสุดท้ายก่อนที่ยานจะเดินทางออกไปจากระบบสุริยะอย่างสมบูรณ์และเริ่มเข้าสู่อวกาศระหว่างดาว[80][81][82]

มวลสารระหว่างดาว

[แก้]

เดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 มีการประกาศว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 อาจเป็นยานอวกาศลำแรกที่เดินทางเข้าสู่อวกาศระหว่างดาว โดยตรวจพบความเปลี่ยนแปลงของพลาสมาบรืเวณโดยรอบมาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012 อย่างไรก็ตามมีการถกเถียงกันว่าพิ้นที่นี้คืออวกาศระหว่างดาวหรือเป็นพื้นที่ของระบบสุริยะที่ไม่เคยค้นพบกันแน่ มีการถกประเด็นเรื่อยมาจนถึงวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2013 จึงได้มีการประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการเรื่องดังกล่าว[83][84]

ในปี ค.ศ. 2020 ยาน วอยเอจเจอร์ 1 กำลังเดินทางออกจากระบบสุริยะด้วยความเร็วประมาณ 3.6 หน่วยดาราศาสตร์ (330 ล้าน ไมล์; 540 ล้าน กิโลเมตร)*ต่อปี ขณะที่ยาน วอยเอจเจอร์ 2 โคจรด้วยความเร็วที่ช้ากว่าที่ประมาณ 3.3 หน่วยดาราศาสตร์ (310 ล้าน ไมล์; 490 ล้าน กิโลเมตร)*ต่อปี[85] โดยยาน วอยเอจเจอร์ 1 จะนำหน้ายาน วอยเอจเจอร์ 2 มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ทำระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 135 หน่วยดาราศาสตร์ (12.5 พันล้าน ไมล์; 20.2 พันล้าน กิโลเมตร)*ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2016[86] และเพิ่มขึ้นเป็น 139.64 หน่วยดาราศาสตร์ (12.980 พันล้าน ไมล์; 20.890 พันล้าน กิโลเมตร)*ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2017 หรือมากกว่า 19 ชั่วโมงแสง ซึ่งในขณะนั้น ยาน วอยเอจเจอร์ 2 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 115.32 หน่วยดาราศาสตร์ (10.720 พันล้าน ไมล์; 17.252 พันล้าน กิโลเมตร)*[87]

สำหรับข้อมูลตำแหน่งของยานสามารถดูได้จากเว็บไซต์ทางการขององค์การนาซา (ดูเพิ่มในหัวข้อ แหล่งข้อมูลอื่น )[88]

ยาน วอยเอจเจอร์ 1 และยานสำรวจอื่นๆ ที่เดินทางไปยังอวกาศระหว่างดาว ยกเว้นยาน นิวฮอไรซันส์
ยาน วอยเอจเจอร์ 1 มีส่งสัญญาณที่สร้างจากคลื่นพลาสมาที่มาจากอวกาศระหว่างดาว

วันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2013 องค์การนาซาได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้เดินทางถึงชั้นมวลสารระหว่างดาวแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 หลังจากมีการตรวจสอบ และตกลงว่าเกิดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012 (ประมาณ 10 วันก่อนครบรอบ 34 ปีที่ปล่อยยาน) ช่วงเวลาอาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่ามีการตรวจพบความเปลี่ยนแปลงของอนุภาคมีพลังงานครั้งแรกเมื่อใด[74][75][76] ตรงจุดนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์อวกาศได้ทิ้งสมมติฐานที่ว่าการเปลี่ยนแปลงทิศทางของสนามแม่เหล็กจะเกิดขึ้นพร้อมกับการข้ามผ่านเฮลิโอพอส[75] แบบจำลองเฮลิโอพอสแบบใหม่ได้ทำนายว่าอาจไม่พบความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มากนัก[89]

กุญแจสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่ายานเคลื่อนที่ผ่านเฮลิโอพอสไปแล้วก็คือการตรวจพบอิเล็กตรอนที่มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นถึง 80 ทบ อ้างอิงจากการแกว่งของพลาสมาที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2013[75] ที่เกิดจากการระเบิดบนดวงอาทิตย์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012[72] (คาดว่าความหนาแน่นของอิเล็กตรอนภายนอกเฮลิโอพอสจะมากกว่าภายใน 2 ระดับในแง่ของขนาด)[74] การแกว่งที่น้อยกว่านี้ถูกตรวจพบตั้งแต่เดือนตุลาคมถีงพฤศจิกายน ค.ศ. 2012[90][91] ถูกนำมาใช้ประกอบการศึกษาด้วย

การตรวจวัดพลาสมาต้องอาศัยข้อมูลทางอ้อมจากอุปกรณ์วัดอื่นๆ เนื่องจากเครื่องวัดพลาสมาสเปกโตรมิเตอร์ของยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้หยุดทำงานลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980[76] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2013 นาซาได้เผยแพร่สัญญาณเสียงที่แปลงมาจากคลื่นพลาสมาที่วัดได้ในอวกาศระหว่างดาว[92]

ในขณะที่ยาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้รับกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่ากำลังจะออกจากระบบสุริยะทันทีที่ออกจากชั้นเฮลิโอพอส แต่โดยทางเทคนิคแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะระบบสุริยะถูกนิยามว่าเป็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ในอวกาศครอบคลุมเหล่าวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ปัจจุบันยานยังโคจรได้น้อยกว่า 1 ใน 7 ของจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวเซดนา และยังโคจรไม่ถึงเมฆออร์ต ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งต้นกำเนิดของดาวหาง ที่เหล่านักดาราศาสตร์กำหนดว่าเป็นส่วนนอกสุดของระบบสุริยะ[73][90]

เดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 กลุ่มนักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบค่าความหนาแน่นของอวกาศนอกระบบสุริยะที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญที่ได้จากยาน วอยเอจเจอร์ 1 และยาน วอยเอจเจอร์ 2 หากอ้างอิงจากกลุ่มนักวิจัย สามารถกล่าวได้ว่าบริเวณนี้เป็นบริเวณที่หลุดออกไปจากขอบของระบบสุริยะ (VLISM หรือ very local interstellar medium) ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนปลายของเฮลิโอพอส[93][94]

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 องค์การนาซาได้ออกรายงานการติดตามวัดค่าความหนาแน่นของสสารในพื้นที่อวกาศระหว่างดวงดาวเป็นครั้งแรก ตลอดจนการตรวจพบเสียงของอวกาศระหว่างดาวได้เป็นครั้งแรก[95]

อนาคตของยานสำรวจ

[แก้]
ภาพของยาน วอยเอจเจอร์ 1 จากกล้องโทรทัศน์วิทยุเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2013[96]
ภาพจำลองยาน วอยเอจเจอร์ 1 เทียบกับระบบสุริยะ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2018
ภาพจำลองยานทั้ง 2 ลำเทียบกับระบบสุริยะและเฮลิโอพอส เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2018

วอยเอจเจอร์ 1 จะเดินทางถึงเมฆออร์ตในราว 300 ปีข้างหน้า[97][98] และใช้จะเวลาราว 30,000 ปีในการเดินทางข้ามผ่าน[73][90] แม้ว่ายานจะไม่มุ่งหน้าไปยังดาวฤกษ์ใดๆ แต่อีกประมาณ 40,000 ปี ตัวยานจะอยู่ห่างจากดาว Gliese 445 ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวยีราฟราว 1.6 ปีแสง[99] ดาวดวงนี้เคลื่อนที่มายังระบบสุริยะด้วยความเร็วประมาณ 119 กิโลเมตรต่อวินาที[99] นาซากล่าวไว้ว่า วอยเอจเจอร์ทั้งคู่ถูกลิขิตให้เร่ร่อนไปในทางช้างเผือกอาจจะชั่วนิรันดร์" ("The Voyagers are destined—perhaps eternally—to wander the Milky Way.")[100] และภายใน 300,000 ปีข้างหน้ายานจะอยู่ห่างจากดาว TYC 3135-52-1 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ประเภท M3V น้อยกว่า 1 ปีแสง[101]

เชื่อว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 จะท่องไปในห้วงลึกของอวกาศโดยไม่ชนกับวัตถุใดๆ และไม่มีทางที่จะกู้คืนได้อีกแล้ว ในทางกลับกันยานสำรวจ นิวฮอไรซันส์ กลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้ความเร็วตอนปล่อยยานจากโลกจะสูงกว่ายานวอยเอจเจอร์ทั้งสองลำ แต่ยานวอยเอจเจอร์ทั้งสองลำกลับได้แรงส่งจากจากบินเฉียดดาวเคราะห์หลายดวง ซึ่งทำให้ความเร็วจากศูนย์กลางดวงอาทิตย์ (heliocentric velocity) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ยาน นิวฮอไรซันส์ กลับได้แรงส่งจากการบินเฉียดดาวพฤหัสบดีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในปี ค.ศ. 2019 ยาน นิวฮอไรซันส์ เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 14 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งช้ากว่ายาน วอยเอจเจอร์ 1 ไปประมาณ 3 กโลเมตรต่อวินาที และยังเคลื่อนที่ช้าลงเรื่อยๆ อีกด้วย[102]

ในปี ค.ศ. 2017 นาซาประกาศความสำเร็จในการติดเครื่องยนต์ไอพ่นควบคุมแนวโคจร (trajectory correction maneuver: TCM) ทั้งหมด 4 ตัวที่ติดตั้งบนยาน วอยเอจเจอร์ 1 ภายหลังมีการติดเครื่องยนต์ชุดนี้ครั้งแรกไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เครื่องยนต์ชุดนี้สามารถใช้แทนเครื่องยนต์ที่ใช้ในการควบคุมตำแหน่งของจานสายอากาศที่เสื่อมสภาพไปนานแล้ว ซึ่งนั่นทำให้นาซายังสามารถรับส่งข้อมูลกับยาน วอยเอจเจอร์ 1 ต่อไปได้อีก 2 ถึง 3 ปี[103][104]

มีการปิดการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งบนยานเพื่อสงวนพลังงานไว้สำหรับอุปกรณ์ที่สำคัญอื่นๆ โดยเริ่มจากอุปกรณ์วัดทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่จำเป็นหรือได้รับข้อมูลมากเพียงพอแล้ว ขณะนี้อุปกรณ์ที่ยังเปิดใช้งานอยู่จะใช้สำหรับการศึกษาคุณสมบัติของอวกาศระหว่างดาว รวมถึงอวกาศภายนอกระบบสุริยะ ซึ่งได้แก่ รังสีคอสมิก อนุภาคมีประจุพลังงานต่ำ สนามแม่เหล็ก และคลื่นพลาสมา[105]

ในอนาคตนาซามีแผนที่จะปิดการทำงานของเทปบันทึกดิจิตอล (DTR) ที่ใช้ในการสำรองข้อมูลในยานเมื่อรอส่งกลับมายังโลก เพื่อโอนถ่ายพลังงานไว้สำหรับระบบป้องกันเชื้อเพลิงไฮดราซีนจากการเยือกแข็ง นอกจากนี้จะหยุดการใช้งานไจโรสโคปในการปฏิบัติภารกิจทั่วไป โดยมีการเขียนโปรแกรมให้ทำงานในกรณีที่มีข้อบกพร่องร้ายแรงเท่านั้น

ภายหลังปี ค.ศ. 2020 อุปกรณ์วัดทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ติดตั้งบนยาน วอยเอจเจอร์ 1 เริ่มถูกปิดการทำงานทันที หรือมีการปิดการทำงานบางส่วน แล้วใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมกันเท่าที่พลังงานไฟฟ้าที่หลงเหลืออยู่ ท้ายสุดยานจะยังคงสื่อสารกับโลกไปจนกว่าจะถึงปี ค.ศ. 2025 ที่คาดว่าจะไม่มีพลังงานไฟฟ้าหลงเหลือสำหรับยาน สุดท้ายยานจะขาดการติดต่อกับโลกไปตลอดกาลและโคจรไปในห้วงอวกาศโดยไร้การควบคุมใดๆ[31][105]

แผ่นจานทองคำ

[แก้]
แผ่นจานทองคำของยาน วอยเอจเจอร์
คำทักทายเป็นภาษาไทยในแผ่นจากทองคำ นาทีที่ 00:00:25 โดยคุณรุจิรา เมนดิโอเนส

ยานวอยเอจเจอร์แต่ละลำบรรทุกแผ่นเสียงที่เรียกว่าแผ่นจานทองคำ (Golden record) ซึ่งบันทึกเสียงและภาพของเหตุการณ์ต่างๆ บนโลก ในกรณีที่ยานทั้งสองได้มีโอกาสพบกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอื่นในระบบดาวเคราะห์แห่งอื่น[106] เนื้อหาในแผ่นจานประกอบด้วยภาพของโลก สิ่งมีชีวิตบนโลก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา คำพูดทักทายจากผู้คนเป็นภาษาต่างๆ มากถึง 55 ภาษา (เช่น จากเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเด็ก ๆ บนโลก รวมถึงภาษาไทย โดยภาษาไทยมีการบันทึกไว้ว่า "สวัสดีค่ะ สหายในธรณีโพ้น พวกเราในธรณีนี้ขอส่งมิตรจิตมา­ถึงท่านทุกคน") รวมถึงชุดเมดเล่ย์ "เสียงจากโลก" ที่ประกอบด้วยเสียงของวาฬ เสียงเด็กร้อง เสียงคลื่นกระทบฝั่ง และบทเพลงของศิลปินชื่อดังมากมาย[107]

ดูเพิ่ม

[แก้]
ตำแหน่งตามระบบพิกัดทรงกลมของยานสำรวจอวกาศทั้ง 5 ลำจากศูนย์กลางดวงอาทิตย์ในอวกาศระหว่างดวงดาว (สี่เหลี่ยม) และวัตถุอื่นๆ (วงกลม) จนถึงปี 2020 ระบุวันปล่อยยานและวันที่ทำการบินเฉียด จุดที่ระบุในภาพคือตำแหน่งทุกวันที่ 1 มกราคมของทุกปี และจะกำกับทุก 5 ปี

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Voyager 1". NSSDC Master Catalog. NASA/NSSDC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 14, 2013. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 21, 2013.
  2. "Voyager 1". N2YO. สืบค้นเมื่อ August 21, 2013.
  3. "NASA - Voyager Facts". NASA's Goddard Space Flight Center website. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 10, 2022. สืบค้นเมื่อ May 20, 2023.
  4. https://voyager.jpl.nasa.gov/mission/status/
  5. "Voyager - Mission Status". Jet Propulsion Laboratory. National Aeronautics and Space Administration. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 1, 2018. สืบค้นเมื่อ January 7, 2023.
  6. "Voyager 1". BBC Solar System. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 3, 2018. สืบค้นเมื่อ กันยายน 4, 2018.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "Voyager – Frequently Asked Questions". NASA. February 14, 1990. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21. สืบค้นเมื่อ August 4, 2017.
  8. "New Horizons conducts flyby of Pluto in historic Kuiper Belt encounter". สืบค้นเมื่อ September 2, 2015.
  9. 9.0 9.1 "What If Voyager Had Explored Pluto?". สืบค้นเมื่อ September 2, 2015.
  10. "Interstellar Mission". NASA Jet Propulsion Laboratory. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 14, 2017. สืบค้นเมื่อ August 24, 2020.
  11. Barnes, Brooks (September 12, 2013). "In a Breathtaking First, NASA Craft Exits the Solar System". New York Times. สืบค้นเมื่อ September 12, 2013.
  12. Claven, Whitney (July 7, 2014). "Sun Sends More 'Tsunami Waves' to Voyager 1". NASA. สืบค้นเมื่อ July 8, 2014.
  13. Wall, Mike (December 1, 2017). "Voyager 1 Just Fired Up its Backup Thrusters for the 1st Time in 37 Years". Space.com. สืบค้นเมื่อ December 3, 2017.
  14. "Voyager – Frequently Asked Question". Jet Propulsion Laboratory. สืบค้นเมื่อ July 30, 2020.
  15. Paul, Andrew (December 14, 2023). "Voyager 1 is sending back bad data, but NASA is on it". Popular Science (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 22, 2023. สืบค้นเมื่อ December 15, 2023.
  16. Hartono, Naomi (2024-04-04). "Engineers Pinpoint Cause of Voyager 1 Issue, Are Working on Solution – Voyager". blogs.nasa.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 12, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-04-13.
  17. "NASA's Voyager 1 Resumes Sending Engineering Updates to Earth". NASA Jet Propulsion Laboratory (JPL) (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 22, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-04-22.
  18. Strickland, Ashley (2024-04-22). "Voyager 1 is sending data back to Earth for the first time in 5 months". CNN (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 24, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-04-24.
  19. "1960s". JPL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 8, 2012. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 18, 2013.
  20. "The Pioneer missions". NASA. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-29. สืบค้นเมื่อ August 19, 2013.
  21. "Preview Screening: The Farthest - Voyager in Space". informal.jpl.nasa.gov. NASA Museum Alliance. August 2017. สืบค้นเมื่อ August 18, 2019. supermarket aluminum foil added at the last minute to protect the craft from radiation
  22. Mack, Pamela (1998). "Chapter 11". From engineering science to big science: The NACA and NASA Collier Trophy research project winners. History Office. p. 251. ISBN 978-0-16-049640-0.
  23. Landau, Elizabeth (October 2, 2013). "Voyager 1 becomes first human-made object to leave solar system". CNN. CNN. สืบค้นเมื่อ May 29, 2014.
  24. "NASA Spacecraft Embarks on Historic Journey into Interstellar Space". NASA. September 12, 2013. สืบค้นเมื่อ May 29, 2014. NASA's Voyager 1 spacecraft officially is the first human-made object to venture into interstellar space.
  25. "Viking: Trailblazer for All Mars Research". NASA. June 22, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-23. สืบค้นเมื่อ May 29, 2014. All of these missions relied on Viking technologies. As it did for the Viking program team in 1976, Mars continues to hold a special fascination. Thanks to the dedication of men and women working at NASA centers across the country, the mysterious Mars of our past is becoming a much more familiar place.
  26. 26.0 26.1 "VOYAGER 1:Host Information". JPL. 1989. สืบค้นเมื่อ April 29, 2015.
  27. "High Gain Antenna". JPL. สืบค้นเมื่อ August 18, 2013.
  28. Ludwig, Roger; Taylor, Jim (March 2002). "Voyager Telecommunications" (PDF). DESCANSO Design and Performance Summary Series. NASA/JPL. สืบค้นเมื่อ September 16, 2013.
  29. "NASA News Press Kit 77–136". JPL/NASA. สืบค้นเมื่อ December 15, 2014.
  30. "Voyager - Mission Status". Jet Propulsion Laboratory. National Aeronautics and Space Administration. สืบค้นเมื่อ February 16, 2019.
  31. 31.0 31.1 31.2 Furlong, Richard R.; Wahlquist, Earl J. (1999). "U.S. space missions using radioisotope power systems" (PDF). Nuclear News. 42 (4): 26–34. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-10-16. สืบค้นเมื่อ 2019-02-07.
  32. "Spacecraft Lifetime". JPL. สืบค้นเมื่อ August 19, 2013.
  33. "pds-rings". สืบค้นเมื่อ May 23, 2015.
  34. Tomayko, James (April 1987). "Computers in Spaceflight: The NASA Experience". NASA. สืบค้นเมื่อ February 6, 2010.
  35. "au.af". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ May 23, 2015.
  36. "airandspace". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-06. สืบค้นเมื่อ May 23, 2015.
  37. "Voyager 1 Narrow Angle Camera Description". NASA. สืบค้นเมื่อ January 17, 2011.
  38. "Voyager 1 Wide Angle Camera Description". NASA. สืบค้นเมื่อ January 17, 2011.
  39. Greicius, Tony (2017-12-01). "Voyager 1 Fires Up Thrusters After 37 Years". NASA (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-19. สืบค้นเมื่อ 2017-12-13.
  40. 40.0 40.1 40.2 "Encounter with Jupiter". NASA. สืบค้นเมื่อ August 18, 2013.
  41. 41.0 41.1 "Planetary voyage". NASA. สืบค้นเมื่อ August 18, 2013.
  42. 42.0 42.1 "Encounter with saturn". NASA. สืบค้นเมื่อ August 29, 2013.
  43. 43.0 43.1 43.2 Jim Bell (February 24, 2015). The Interstellar Age: Inside the Forty-Year Voyager Mission. Penguin Publishing Group. p. 93. ISBN 978-0-698-18615-6.
  44. David W. Swift (January 1, 1997). Voyager Tales: Personal Views of the Grand Tour. AIAA. p. 69. ISBN 978-1-56347-252-7.
  45. "Photo Caption". Public Information Office. สืบค้นเมื่อ August 26, 2010.
  46. "Voyager 1 now most distant man-made object in space". CNN. กุมภาพันธ์ 17, 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 1, 2012. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 1, 2012.
  47. Clark, Stuart (September 13, 2013). "Voyager 1 leaving solar system matches feats of great human explorers". The Guardian.
  48. Webb, Stephen (October 4, 2002). If the Universe is Teeming with Aliens … WHERE IS EVERYBODY?: Fifty Solutions to the Fermi Paradox and the Problem of Extraterrestrial Life. ISBN 978-0-387-95501-8.
  49. Darling, David. "Fastest Spacecraft". สืบค้นเมื่อ August 19, 2013.
  50. "Voyager 1 in heliopause". JPL. สืบค้นเมื่อ August 18, 2013.
  51. "Voyager Mission Operations Status Report # 2013-09-06, Week Ending September 6, 2013". JPL. สืบค้นเมื่อ September 15, 2013.
  52. Wall, Mike (September 12, 2013). "It's Official! Voyager 1 Spacecraft Has Left Solar System". Space.com. สืบค้นเมื่อ May 30, 2014.
  53. Staff (February 12, 2020). "Pale Blue Dot Revisited". NASA. สืบค้นเมื่อ February 12, 2020.
  54. Tobin, Kate (November 5, 2003). "Spacecraft reaches edge of Solar System". CNN. สืบค้นเมื่อ August 19, 2013.
  55. Fisk, Len A. (2003). "Planetary Science: Over the edge?" (PDF). Nature. 426 (6962): 21–2. Bibcode:2003Natur.426...21F. doi:10.1038/426021a. PMID 14603294.
  56. Krimigis, S. M.; Decker, R. B.; Hill, M. E.; Armstrong, T. P.; Gloeckler, G.; Hamilton, D. C.; Lanzerotti, L. J.; Roelof, E. C. (2003). "Voyager 1 exited the solar wind at a distance of ∼85 au from the Sun". Nature. 426 (6962): 45–8. Bibcode:2003Natur.426...45K. doi:10.1038/nature02068. PMID 14603311.
  57. McDonald, Frank B.; Stone, Edward C.; Cummings, Alan C.; Heikkila, Bryant; Lal, Nand; Webber, William R. (2003). "Enhancements of energetic particles near the heliospheric termination shock". Nature. 426 (6962): 48–51. Bibcode:2003Natur.426...48M. doi:10.1038/nature02066. PMID 14603312.
  58. Burlaga, L. F. (2003). "Search for the heliosheath with Voyager 1 magnetic field measurements" (PDF). Geophysical Research Letters. 30 (20): n/a. Bibcode:2003GeoRL..30.2072B. doi:10.1029/2003GL018291.
  59. "Voyager crosses termination shock". สืบค้นเมื่อ August 29, 2013.
  60. "Voyager crosses termination shock". สืบค้นเมื่อ August 29, 2013.
  61. "Voyager Timeline". NASA/JPL. February 2013. สืบค้นเมื่อ December 2, 2013.
  62. 62.0 62.1 "ARRL article" (ภาษาเยอรมัน). AMSAT-DL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 14, 2006. "ARRL article".
  63. "Voyager 1 Sees Solar Wind Decline". NASA. ธันวาคม 13, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 22, 2011. สืบค้นเมื่อ กันยายน 16, 2013.
  64. Krimigis, S. M.; Roelof, E. C.; Decker, R. B.; Hill, M. E. (2011). "Zero outward flow velocity for plasma in a heliosheath transition layer". Nature. 474 (7351): 359–361. Bibcode:2011Natur.474..359K. doi:10.1038/nature10115. PMID 21677754.
  65. Amos, Jonathan (December 14, 2010). "Voyager near Solar System's edge". BBC News. สืบค้นเมื่อ December 21, 2010.
  66. NASA. "Voyager – The Interstellar Mission". NASA. สืบค้นเมื่อ September 16, 2013.
  67. "Voyager: Still dancing 17 billion km from Earth". BBC News. March 9, 2011.
  68. "Voyager Probes Detect "invisible" Milky Way Glow". National Geographic. December 1, 2011. สืบค้นเมื่อ December 4, 2011.
  69. "Spacecraft enters 'cosmic purgatory'". CNN. December 6, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-07. สืบค้นเมื่อ December 7, 2011.
  70. "NASA Voyager 1 Spacecraft Nears Interstellar Space". Space.com. สืบค้นเมื่อ August 19, 2013.
  71. "Data From NASA's Voyager 1 Point to Interstellar Future". NASA. June 14, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-17. สืบค้นเมื่อ June 16, 2012.
  72. 72.0 72.1 Cook, J.-R. C.; Agle, D.C.; Brown, D. (September 12, 2013). "NASA Spacecraft Embarks on Historic Journey into Interstellar Space". NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-13. สืบค้นเมื่อ September 14, 2013.
  73. 73.0 73.1 73.2 73.3 Ghose, Tia (September 13, 2013). "Voyager 1 Really Is in Interstellar Space: How NASA Knows". Space.com. TechMedia Network. สืบค้นเมื่อ September 14, 2013.
  74. 74.0 74.1 74.2 Cowen, R. (2013). "Voyager 1 has reached interstellar space". Nature. doi:10.1038/nature.2013.13735.
  75. 75.0 75.1 75.2 75.3 Kerr, R. A. (2013). "It's Official—Voyager Has Left the Solar System". Science. 341 (6151): 1158–1159. doi:10.1126/science.341.6151.1158. PMID 24030991.
  76. 76.0 76.1 76.2 Gurnett, D. A.; Kurth, W. S.; Burlaga, L. F.; Ness, N. F. (2013). "In Situ Observations of Interstellar Plasma with Voyager 1". Science. 341 (6153): 1489–1492. Bibcode:2013Sci...341.1489G. doi:10.1126/science.1241681. PMID 24030496.
  77. 77.0 77.1 Thongoon, Kiattisak (June 7, 2019). "Spacecraft escaping the Solar System". Heavens-Above. สืบค้นเมื่อ June 7, 2019.
  78. 78.0 78.1 Wolchover, Natalie. "Did NASA's Voyager 1 Spacecraft Just Exit the Solar System?". livescience. สืบค้นเมื่อ August 20, 2013.
  79. Matson, John (December 4, 2012). "Despite Tantalizing Hints, Voyager 1 Has Not Crossed into the Interstellar Medium". Scientific American. สืบค้นเมื่อ August 20, 2013.
  80. "Voyager 1 Can 'Taste' the Interstellar Shore". Discovery News. Discovery Channel. December 3, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-05. สืบค้นเมื่อ September 16, 2013.
  81. Oakes, Kelly (December 3, 2012). "Voyager 1 is still not out of the Solar System". Basic Space Blog. Scientific American. สืบค้นเมื่อ September 16, 2013.
  82. "Voyager 1 probe leaving Solar System reaches 'magnetic highway' exit". Daily News & Analysis. Reuters. December 4, 2012. สืบค้นเมื่อ December 4, 2012.
  83. "Voyager 1 has entered a new region of space, sudden changes in cosmic rays indicate". American Geophysical Union. March 20, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 22, 2013.
  84. Cook, J.-R (September 12, 2013). "How Do We Know When Voyager Reaches Interstellar Space?". NASA / Jet Propulsion Lab. สืบค้นเมื่อ September 15, 2013.
  85. "Voyager - Fast Facts". voyager.jpl.nasa.gov.
  86. "Voyager - Mission Status". Jet Propulsion Laboratory. National Aeronautics and Space Administration. สืบค้นเมื่อ November 21, 2021.
  87. "Voyager - Mission Status". Jet Propulsion Laboratory. National Aeronautics and Space Administration. สืบค้นเมื่อ November 21, 2021.
  88. "Voyager - Mission Status". Jet Propulsion Laboratory. National Aeronautics and Space Administration. สืบค้นเมื่อ November 21, 2021.
  89. Swisdak, M.; Drake, J. F.; Opher, M. (2013). "A Porous, Layered Heliopause". The Astrophysical Journal. 774 (1): L8. arXiv:1307.0850. Bibcode:2013ApJ...774L...8S. doi:10.1088/2041-8205/774/1/L8.
  90. 90.0 90.1 90.2 Cook, J.-R (September 12, 2013). "How Do We Know When Voyager Reaches Interstellar Space?". NASA / Jet Propulsion Lab. สืบค้นเมื่อ September 15, 2013.
  91. Morin, Monte (September 12, 2013). "NASA confirms Voyager 1 has left the Solar System". Los Angeles Times.
  92. "Voyage 1 Records "Sounds" of Interstellar Space". Space.com. สืบค้นเมื่อ December 20, 2013.
  93. Starr, Michelle (October 19, 2020). "Voyager Spacecraft Detect an Increase in The Density of Space Outside The Solar System". ScienceAlert. สืบค้นเมื่อ October 19, 2020.
  94. Kurth, W.S.; Gurnett, D.A. (August 25, 2020). "Observations of a Radial Density Gradient in the Very Local Interstellar Medium by Voyager 2". The Astrophysical Journal Letters. 900 (1): L1. Bibcode:2020ApJ...900L...1K. doi:10.3847/2041-8213/abae58. S2CID 225312823. สืบค้นเมื่อ October 19, 2020.
  95. Hatfield, Miles; Cofield, Calla (May 11, 2021). "As NASA's Voyager 1 Surveys Interstellar Space, Its Density Measurements Are Making Waves". NASA. สืบค้นเมื่อ May 11, 2021.
  96. "Voyager Signal Spotted By Earth Radio Telescopes". NASA. NASA TV. September 5, 2013. สืบค้นเมื่อ 2015-05-20.
  97. "Catalog Page for PIA17046". Photo Journal. NASA. สืบค้นเมื่อ April 27, 2014.
  98. "It's Official: Voyager 1 Is Now In Interstellar Space". UniverseToday. 2013-09-12. สืบค้นเมื่อ April 27, 2014.
  99. 99.0 99.1 "Voyager – Mission – Interstellar Mission". NASA. August 9, 2010. สืบค้นเมื่อ March 17, 2011.
  100. "Future". NASA. สืบค้นเมื่อ October 13, 2013.
  101. Bailer-Jones, Coryn A. L.; Farnocchia, Davide (3 April 2019). "Future stellar flybys of the Voyager and Pioneer spacecraft". Research Notes of the AAS. RNAAS 3, 59. 3 (4): 59. Bibcode:2019RNAAS...3d..59B. doi:10.3847/2515-5172/ab158e.
  102. "New Horizons Salutes Voyager". New Horizons. สิงหาคม 17, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มีนาคม 9, 2011. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 3, 2009.
  103. "Voyager 1 spacecraft thrusters fire up after decades idle". The Irish Times. December 4, 2017.
  104. "Voyager 1 Fires Up Thrusters After 37 Years". NASA. December 1, 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-19. สืบค้นเมื่อ 2019-02-21.
  105. 105.0 105.1 "Voyager - Mission Status". voyager.jpl.nasa.gov.
  106. Ferris, Timothy (May 2012). "Timothy Ferris on Voyagers' Never-Ending Journey". Smithsonian Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-04. สืบค้นเมื่อ August 19, 2013.
  107. "Voyager Golden record". JPL. สืบค้นเมื่อ August 18, 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]