ข้ามไปเนื้อหา

ปง อัศวินิกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปง อัศวินิกุล
ปง ขณะทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา เมื่อ พ.ศ. 2497
ปง ขณะทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา เมื่อ พ.ศ. 2497
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 (94 ปี)
อาชีพช่างบันทึกเสียง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2497 - ปัจจุบัน
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับระบบเสียง - สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) พ.ศ. 2563
พระสุรัสวดีบันทึกเสียงยอดเยี่ยม
พ.ศ. 2500 - ชั่วฟ้าดินสลาย
พ.ศ. 2501 - รักริษยา
พ.ศ. 2502 - โรงแรมนรก
พ.ศ. 2507 - น้ำตาลไม่หวาน
ชมรมวิจารณ์บันเทิงพ.ศ. 2548 - รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ

ปง อัศวินิกุล (เกิด 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473) หนึ่งในผู้บุกเบิกการบันทึกเสียงลงฟิล์มสำหรับภาพยนตร์ไทย ได้รับการยกย่องเป็นช่างอัดเสียงมือหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย เป็นผู้ก่อตั้ง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา เมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นห้องบันทึกเสียงที่มีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ปง อัศวินิกุล เริ่มงานภาพยนตร์ครั้งแรกเป็นผู้ช่วยกล้องของรัตน์ เปสตันยี ในภาพยนตร์เรื่องแรกของรัตน์ เรื่อง ตุ๊กตาจ๋า (2494) ซึ่งรัตน์เป็นผู้กำกับและถ่ายภาพ จากนั้นเมื่อรัตน์ เปสตันยี ก่อตั้งบริษัท หนุมานภาพยนตร์ ปง อัศวินิกุล ก็ได้ร่วมงานกับหนุมานภาพยนตร์เรื่อยมา

ผลงานสำคัญชิ้นแรกของ ปง อัศวินิกุล คืองานบันทึกเสียงเรื่อง สันติ-วีณา (2497) งานซึ่งสร้างอย่างเร่งรีบเพื่อส่งเข้าร่วมการประกวด ภาพยนตร์โลกภาคเอเชีย ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดย วิจิตร คุณาวุฒิ เขียนบท, มารุต กำกับการแสดง, รัตน์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง กำกับภาพ และตัดต่อ ผลการประกวด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับ รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม, รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษจากผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จในการประกวดภาพยนตร์ระดับโลก

เมื่อมีการจัดประกวดภาพยนตร์ไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 ปงได้รับรางวัลการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน จาก ชั่วฟ้าดินสลาย (2498), โรงแรมนรก (2500), รักริษยา (2501)

ปง อัศวินิกุล เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนภาพยนตร์ไทยจากระบบ 16 มม. พากย์สด เป็นระบบ 35 มม. บันทึกเสียงในฟิล์ม ช่วงปี พ.ศ. 2513-2519 ในขณะนั้นห้องบันทึกเสียงที่มีอยู่ในประเทศยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ปงจึงต้องนำฟิล์มและเทปบันทึกเสียงเดินทางไปทำงานที่ห้องแล็บในประเทศญี่ปุ่น หรือฮ่องกงอยู่เสมอ

เนื่องความไม่สะดวกที่ต้องขนงานไปทำในต่างประเทศ ปงจึงคิดที่จะตั้งห้องบันทึกเสียง เพื่อให้การทำงานทั้งหมดเสร็จสิ้นในขั้นตอนเดียว ได้ก่อตั้งห้องบันทึกเสียงรามอินทรา เมื่อ พ.ศ. 2520 และมีการปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีความทันสมัยเรื่อยมา ตลอดจนมีผลงานที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

ปง มีบุตรชาย คือ สุนิตย์ อัศวินิกุล นักบันทึกเสียงภาพยนตร์ และ นักลำดับภาพ

รางวัลเกียรติคุณ

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]