ตัณหา
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
ตัณหา เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในพุทธศาสนา หมายถึง ความติดใจอยาก ความยินดี ยินร้าย หรือติดในรสอร่อยของโลก ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้น ๆ และ ตัณหาย่อมเจริญแก่ผู้ประพฤติประมาท ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดังนั้น ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นบ่อย ๆ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อตัณหาไม่ได้
ในหลักปฏิจจสมุปบาท ตัณหาเกิดจากเวทนาเป็นปัจจัย โดยมี อวิชชาเป็นมูลราก ควรเห็นตัณหา เป็นดังเครือเถาที่เกิดขึ้น แล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญา
ประเภทของตัณหา
[แก้]ตัณหาแบ่งออกเป็น 3 อย่าง
[แก้]- กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม ความอยากหรือไม่อยาก ใน สัมผัสทั้ง 5 เพราะความยินดีพอใจในกามคุณ 5 ที่ตนปรารถนา
- ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความอยากมีอยากเป็น คือความอยากเป็นเป็นนั่นเป็นนี่ หรืออยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อได้เป็นแล้วหรือได้สิ่งนั้นมาแล้ว ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลงไป
- วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ไม่อยากเป็นนั่นไม่อยากเป็นนี่ หรือไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ตลอดจนความอยากดับสูญ
ควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละตัณหา 3 อย่างนี้
ตัณหาได้ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ ดังอรรถว่าตัณหาเพียงดังเนิน คือความทะยานอยากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ความอยากเสพความสุขทุกอย่างทุกชนิดที่มีอยู่บนโลก ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ แล้วเชื่อว่าจะพอใจ หรือปรารถนาความสุขที่ไม่รู้จัก แต่คิดเอาเองว่ามีอยู่ เชื่อว่าถ้าได้เสพทุกอย่างครบถ้วน แล้วเชื่อว่าจะพอใจ หรืออาจเพียงแค่ติดใจยินดีพอใจในบางสิ่งบางอย่างเพียงแค่นั้น พอใจแค่นั้น แต่ต้องได้เสพสิ่งนั้นตลอด ไม่งั้นจะเกิดความทุกข์ได้ บางครั้งเสพนาน ๆ ไปก็เกิดความเบื่อหน่าย นำไปสู่ความทุกข์เช่นกัน
ถ้าได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา จะเอาสิ่งเหล่านั้นไปวางกองไว้ที่ไหน โลกย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทรัพยากรโลกก็มีให้ใช้ ไม่เพียงต่อความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด และอายุขัยก็ไม่ยืนยาวพอที่จะเสพทุกความปรารถนาที่ไม่สิ้นสุดได้
ตัณหา
[แก้]ตัณหา 6 หมวด ได้แก่
- รูปตัณหา คือ อยากได้รูป (ที่มองเห็นด้วยตา)
- สัททตัณหา คือ อยากได้เสียง
- คันธตัณหา คือ อยากได้กลิ่น
- รสตัณหา คือ อยากได้รส
- โผฏฐัพพตัณหา คือ อยากได้โผฏฐัพพะ (ความรู้สึกทางกายสัมผัส)
- ธัมมตัณหา คือ อยากในธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด)
ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งตัณหาทั้ง 6 นี้ เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับ ความสูญแห่งตัณหาทั้ง 6 นี้ เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ ตัณหาทั้ง 6 นี้ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
ธรรมะที่เกี่ยวข้อง
[แก้]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจใน รูปตัณหา นี้เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสัททตัณหา ฯลฯ ใน คันธตัณหา ฯลฯ ในรสตัณหา ฯลฯ ในโผฏฐัพพตัณหา ฯลฯ ในธรรมตัณหา ฯลฯ นี้เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ภิกษุละอุปกิเลสแห่งจิตในฐานะ 6 นี้ได้ เมื่อนั้น จิตของเธอย่อมเป็นจิตน้อมไปในเนกขัมมะ อันเนกขัมมะอบรมแล้ว ควรแก่การงาน ปรากฏในธรรมที่พึงทำให้แจ้งด้วยอภิญญา
— ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 17
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล 9 ประการ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล 9 ประการเป็นไฉน การแสวงหาเพราะอาศัยตัณหา 1 การได้เพราะอาศัยการแสวงหา 1 การวินิจฉัยเพราะอาศัยการได้ 1 ฉันทราคะเพราะอาศัยการวินิจฉัย 1 ความหมกมุ่นเพราะอาศัยฉันทราคะ 1 ความหวงแหนเพราะอาศัยความหมกมุ่น 1 ความตระหนี่เพราะอาศัยความหวงแหน 1 การจัดการอารักขาเพราะอาศัยความตระหนี่ 1 ธรรมอันเป็นบาปอกุศลหลายประการ คือ การจับท่อนไม้ จับศาตราการทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท กล่าววาจาส่อเสียดว่ามึง ๆ และพูดเท็จย่อมเกิดขึ้น 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมมีตัณหาเป็นมูล 9 ประการนี้แลฯ
— ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
- ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส. "อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น".
- วิภังคสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 16
- ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 16
- ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 17
- ขันธสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 19
- ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 19
- คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ 24 พระไตรปิฎก เล่มที่ 25