ข้ามไปเนื้อหา

โอคาพี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โอคาพี
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับย่อย: Ruminantia
วงศ์: Giraffidae
สกุล: Okapia
Lankester, 1901
สปีชีส์: O.  johnstoni
ชื่อทวินาม
Okapia johnstoni
(Sclater, 1901)
แผนที่การกระจายพันธุ์

โอคาพี (อังกฤษ: okapi; ชื่อวิทยาศาสตร์: Okapia johnstoni) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์กีบคู่ ในวงศ์ Giraffidae เช่นเดียวกับยีราฟ เป็นสัตว์พื้นเมืองของเขตป่าฝนอีตูรี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในแอฟริกากลาง แม้ว่าโอคาพีจะมีลายแถบและรูปร่างที่คล้ายกับม้าลาย แต่ที่จริงแล้วมีสายสัมพันธ์กับยีราฟ อันเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน และถือว่าเป็นสัตว์เพียง 1 ใน 2 ชนิดเท่านั้นในวงศ์นี้ ที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงถือว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่อีกชนิดหนึ่ง[2]

โอคาพีมีความสูงเพียงประมาณ 1.5-2 เมตร บริเวณขาทั้ง 4 ข้างและบั้นท้ายจะมีแถบดำคล้ายกับม้าลาย ส่วนบริเวณคอนั้นจะเห็นเป็นแถบไม่ชัดนัก อีกทั้งยังมีนัยน์ตาคล้ายคลึงกับกวางหรือแอนทีโลป โอคาพีตัวผู้นั้นจะมีเขา 2 เขา โดยหากมองจากด้านข้างแล้วจะทำให้ดูราวกับว่ามีเพียงเขาเดียว ซึ่งในอดีตมีผู้เคยเข้าใจว่าโอคาพี คือ ยูนิคอร์น สัตว์ในเทพปกรณัมกรีกด้วยซ้ำ

บั้นท้ายที่มีลายเหมือนม้าลาย

แถบดำบนตัวของโอคาพีนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยพรางตัวในธรรมชาติแล้ว ยังเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้โอคาพีวัยอ่อนสามารถที่จะสังเกตเห็นแม่ของตัวเองได้ง่ายขึ้น ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าฝนที่หนาทึบ เพราะถึงแม้โอคาพีเป็นสัตว์ที่รักสันโดษ มักใช้ชีวิตตามลำพัง แต่โอคาพีตัวเมียจะดูแลและไปไหนมาไหนกับลูกของตัวเองเสมอ โดยปกติแล้ว โอคาพีมีลำตัวสีน้ำตาลแดง มีความยาวประมาณ 2-2.5 เมตรและสูงประมาณ 1.5-2 เมตร

ส่วนหางจะยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัย โอคาพีจะมีน้ำหนักอยู่ในราว 200-250 กิโลกรัม[3] และถึงแม้ว่าลำตัวของโอคาพีจะคล้ายคลึงกับยีราฟ แต่ลำคอก็มิได้ยืดยาวเหมือนยีราฟแต่อย่างใด[4]

โอคาพีเป็นที่รู้จักครั้งแรกของโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จากการค้นพบของเซอร์แฮร์รี จอห์นสตัน ผู้สำเร็จราชการแห่งจักรวรรดิอังกฤษ ที่พบเห็นชาวปิกมีนุ่งห่มหนังของโอคาพี ในครั้งแรกเซอร์จอห์นสตันเข้าใจว่าเป็นหนังของม้าลาย[5] ปัจจุบัน มีโอคาพีอยู่ในป่าที่ประมาณ 10,000–20,000 ตัวใน พ.ศ. 2554 กับมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดแสดงโอคาพีอยู่ทั่วโลก[6][7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Mallon, D.; Kümpel, N.; Quinn, A.; และคณะ (2015). "Okapia johnstoni". IUCN. p. e.T15188A51140517. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-4.RLTS.T15188A51140517.en.
  2. "12 Amazing Living Animal Fossils". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-13. สืบค้นเมื่อ 2012-12-31.
  3. Burnie & Don E. Wilson (2001). Animal (1st American ed.). New York: DK. ISBN 0789477645.
  4. Alina Bradford (23 September 2016). "Okapi: Facts About the Forest Giraffe".
  5. หน้า 71-72, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  6. "National Zoological Gardens of South Africa: National Zoo gets rare okapis". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06. สืบค้นเมื่อ 2012-06-22.
  7. "ISIS Species Holdings: Okapi johnstoni". International Species Holding Information System (ISIS). 2011-01-12. สืบค้นเมื่อ 2011-03-23.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Wolfram Bell (Nov. 2009): "Okapis - geheimnisvolle Urwaldgiraffen. Entdeckungsgeschichte, Biologie, Haltung und Medizin einer seltenen Tierart." Schüling Verlag Münster, Germany. ISBN 978-3-86523-144-4.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Okapia johnstoni ที่วิกิสปีชีส์

ลิงก์ข่าว

[แก้]