ข้ามไปเนื้อหา

เดอะเกรตเกม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่เปอร์เซียและอัฟกานิสถานทางเหนือในปี ค.ศ. 1857 แสดงภาพรัฐข่านคีวา บูคารา และโกกันด์

เดอะเกรตเกม (อังกฤษ: The Great Game) เป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองและการทูตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระหว่างจักรวรรดิบริติชและจักรวรรดิรัสเซีย รัสเซียซึ่งในขณะนั้นยึดครองรัฐข่านคาซัคเกรงว่าบริติชจะใช้อิทธิพลทางทหารและการค้ารุกเข้ามาในเอเชียกลาง ขณะที่บริติชกังวลว่ารัสเซียจะเข้าแทรกแซงอินเดียอันเป็นอาณานิคมสำคัญของตนในเอเชียใต้[1] ทั้งสองฝ่ายจึงพยายามแผ่อำนาจเข้ามาในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ นำไปสู่ความตึงเครียดและคำขู่ว่าจะเกิดสงครามระหว่างสองจักรวรรดิ[2] ชื่อ เดอะเกรตเกม ที่นิยามถึงช่วงเวลานี้มีใช้มาก่อนศตวรรษที่ 19 เพื่อหมายถึงเกมที่ต้องชิงไหวชิงพริบ[3] ก่อนจะแพร่หลายทั่วไปโดยนวนิยายเรื่อง คิม ของรัดยาร์ด คิปลิง ซึ่งมีฉากหลังในช่วงเวลาดังกล่าว[4]

ต้นศตวรรษที่ 19 อนุทวีปอินเดียซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรเป็นที่สนใจของทั้งจักรวรรดิบริติชที่กำลังรุกคืบเข้ามาด้วยบริษัทอินเดียตะวันออก และจักรวรรดิรัสเซียที่กำลังขยายอำนาจลงมาทางเอเชียกลาง จุดเริ่มต้นของ เดอะเกรตเกม ยังคงเป็นที่ถกเถียง บางส่วนเชื่อว่าเริ่มขึ้นเมื่อรัสเซียชนะสงครามรัสเซีย-เปอร์เซียในปี ค.ศ. 1813[5] ปีเตอร์ ฮอปเคิร์ก นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวบริติชเสนอความเห็นว่าเริ่มในปี ค.ศ. 1836 เมื่อบริติชสนับสนุนชาวเซอร์คัสเซียให้ลุกฮือต่อรัสเซียในคอเคซัส[6] ในบริติชเชื่อว่า เดอะเกรตเกม เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1830 เมื่อลอร์ดเอลเลนโบโรห์ ประธานกรรมการการค้าในอินเดียมอบหมายให้ลอร์ดวิลเลียม เบนทิงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์แห่งอินเดียจัดตั้งเส้นทางการค้าใหม่กับเอมิเรตบูคารา[7] บริติชวางแผนจะยึดเอมิเรตอัฟกานิสถานเป็นรัฐในอารักขา และใช้อาณาจักรราชวงศ์กอญัรและรัฐข่านบูคาราเป็นรัฐกันชนเพื่อขวางไม่ให้รัสเซียเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย ในขณะที่รัสเซียต้องการใช้อัฟกานิสถานเพื่อประโยชน์ทางการค้าฝ่ายตน[8][9] ในปี ค.ศ. 1839 บริติชซึ่งกลัวว่ารัสเซียอาจใช้อัฟกานิสถานในการเดินทัพมาบริติชอินเดียตัดสินใจบุกอัฟกานิสถานและคุมตัวเอมีร์ดอสต์ มุฮัมมัด ข่าน จนเกิดเป็นสงครามอังกฤษ–อัฟกานิสถานครั้งที่หนึ่ง ในช่วงแรกบริติชประสบชัยชนะอย่างง่ายดายก่อนจะถูกตีโต้จนลอร์ดเอลเลนโบโรห์ต้องยอมสงบศึกและส่งตัวดอสต์ มุฮัมมัด ข่านกลับไปปกครองอัฟกานิสถานตามเดิม ถึงแม้ว่าจะเอาชนะอัฟกานิสถานแบบเด็ดขาดไม่ได้ในสงครามครั้งต่อ ๆ มา แต่การพิชิตจักรวรรดิซิกข์และการทำสนธิสัญญากับเปอร์เซียในปี ค.ศ. 1857 รวมถึงการได้ทิเบตมาเป็นรัฐในอารักขาหลังบุกครองทิเบตในปี ค.ศ. 1903 ก็ทำให้บริติชสร้างรัฐกันชนเพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียเข้าถึงบริติชอินเดียได้สำเร็จ[10][11]

จุดสิ้นสุดของ เดอะเกรตเกม ยังคงเป็นที่ถกเถียงเช่นกัน บางส่วนเชื่อว่ายุติในปี ค.ศ. 1907 เมื่อมีความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย[5] ขณะที่บางส่วนเชื่อว่าจบลงเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1895 เมื่อบริติชและรัสเซียร่วมลงนามในพิธีสารปามีร์เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างอัฟกานิสถานและรัสเซียด้วยเทือกเขาปามีร์และแม่น้ำอามูดาร์ยา[12][13] ปัจจุบันมีสื่อบางแห่งใช้ เดอะเกรตเกม ในการอธิบายความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของมหาอำนาจยุคใหม่ในดินแดนเอเชียกลาง[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Chepkemoi, Joyce (August 1, 2017). "What Was The Great Game?". WorldAtlas.com. สืบค้นเมื่อ November 6, 2019.
  2. Ewans 2004, p. 1.
  3. Yapp 2000, pp. 183.
  4. Morgan 1973, pp. 55–65.
  5. 5.0 5.1 Konstantin Penzev (2010). "When Will the Great Game End?". Oriental Review Org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-13. สืบค้นเมื่อ 2019-11-06. web article, no page numbers.
  6. Hopkirk, Peter (2006) [1990]. The Great Game: On Secret Service in High Asia. London: Hachette UKJohn Murray. ISBN 9781848544772. สืบค้นเมื่อ 14 June 2019. The Caucasus, thanks to Urquhart and his friends, had thus become part of the Great Game battlefield.
  7. Edward Ingram. The International History Review, Vol. 2, No. 2 (April 1980), pp. 160-171. Published by: Taylor & Francis, Ltd. Stable URL: https://www.jstor.org/stable/40105749 Great Britain's Great Game: An Introduction เก็บถาวร 2016-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. In Defence of British India: Great Britain in the Middle East, 1775-1842 By Edward Ingram. Frank Cass & Co, London, 1984. ISBN 0714632465. p7-19
  9. Becker 2005, p. 47.
  10. Powers 2004, p. 82.
  11. Szczepanski, Kallie (July 31, 2019). "What Was the Great Game?". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ November 6, 2019.
  12. International Boundary Study of the Afghanistan-USSR Boundary (1983) เก็บถาวร 2014-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by the US Bureau of Intelligence and Research
  13. https://bioone.org/journals/mountain-research-and-development/volume-25/issue-2/0276-4741(2005)025%5B0139%3AKFSDIT%5D2.0.CO%3B2/Knowledge-for-Sustainable-Development-in-the-Tajik-Pamir-Mountains/10.1659/0276-4741(2005)025[0139:KFSDIT]2.0.CO;2.full
  14. Morrison, Alexander (July 25, 2017). "Central Asia's Catechism of Cliché: From the Great Game to Silk Road". Eurasianet. สืบค้นเมื่อ November 6, 2019.