มหาวิหารตูร์แน
อาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน Cathédrale Notre-Dame de Tournai Onze-Lieve-Vrouw van Doornik | |
---|---|
Cathedral of Our Lady of Tournai | |
บริเวณจุดตัดกลางโบสถ์และหอระฆังทั้งห้าของมหาวิหาร | |
50°36′22″N 3°23′21″E / 50.60611°N 3.38917°E | |
ที่ตั้ง | ตูร์แน จังหวัดแอโน |
ประเทศ | เบลเยียม |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เว็บไซต์ | www.cathedrale-tournai.be |
สถานะ | อาสนวิหาร |
ประเภทสถาปัตย์ | กางเขน |
รูปแบบสถาปัตย์ | โรมาเนสก์ กอธิก บาโรก |
ปีสร้าง | บริเวณกลางโบสถ์: ค.ศ. 1140 แขนกางเขน: ค.ศ. 1199 หลังคาแขนกางเขน: ค.ศ. 1243 |
แล้วเสร็จ | ค.ศ. 1255 |
ความสูงอาคาร | 83 เมตร (272 ฟุต) (ยอดแหลม) |
ขนาดอื่น ๆ | ยาว 134 เมตร (440 ฟุต) กว้าง 20 เมตร (66 ฟุต) |
อนุสรณ์สถานสำคัญแห่งวัลลูน (ค.ศ. 1906) มรดกโลก (ค.ศ. 1998) |
มหาวิหารตูร์แน หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน (ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre-Dame de Tournai; ดัตช์: Onze-Lieve-Vrouw van Doornik) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลตูร์แน (Diocese of Tournai) ตั้งอยู่ที่เมืองตูร์แน จังหวัดแอโน แคว้นวอลลูน ในประเทศเบลเยียม โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่พระนางมารีย์พรหมจารี
มหาวิหารแห่งนี้ถือเป็นมหาวิหารแห่งเดียวในประเทศเบลเยียมซึ่งตั้งใจสร้างเพื่อมีฐานะเป็นอาสนวิหาร (อังกฤษ: Cathedral) ซึ่งจัดเป็นผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบตูร์แน (Gothique tournaisien) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างโรมาเนสก์กับกอทิกที่พบได้มากในภูมิภาคแถบนี้ มหาวิหารตูร์แนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของภูมิภาควัลลูน (ฝรั่งเศส: Patrimoine immobilier classé de la Région wallonne) เมื่อปี ค.ศ. 1936[1] และต่อมาได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อปีค.ศ. 2000
อาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
มหาวิหารบริเวณแขนกางเขน | |
ประเทศ | ตูร์แน เบลเยียม |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | i, iv |
อ้างอิง | 1009 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2544 (คณะกรรมการสมัยที่ 25) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
ประวัติ
[แก้]ในบริเวณสถานที่ตั้งของมหาวิหารนั้นเคยเป็นที่ตั้งของมหาวิหารในอดีตถึง 3 หลัง โดยหลังแรกนั้นสร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งมีหลักฐานพบถึงการก่อสร้างในฐานะโบสถ์เพื่ออุทิศให้แก่นักบุญอะเลอแตร์แห่งตูร์แน หนึ่งในมุขนายกแห่งตูร์แนในช่วงแรกของประวัติศาสตร์
ในปีค.ศ. 532 นักบุญเมดาร์ มุขนายกลำดับที่ 14 แห่งนัวยง ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ในปีค.ศ. 531 นั้นได้ให้ย้ายที่ตั้งของมุขมณฑลแห่งแซ็ง-ก็องแตง ไปอยู่เมืองนัวยงแทน ได้รับเลือกเป็นมุขนายกแห่งตูร์แนควบด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งทำให้สองมุขมณฑลนี้ปกครองร่วมกัน โดยเรียกเป็น มุขมณฑลนัวยง-ตูร์แน จนกระทั่งปีค.ศ. 1146 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 มีรับสั่งให้แยกเป็นคนละมุขมณฑล
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 - 11 นั้นได้มีการก่อสร้างมหาวิหารขึ้นเป็นหลังที่สอง โดยตามประวัติทราบว่ามีการเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ๆจำนวนสองครั้ง (ในปีค.ศ. 881 และ ค.ศ. 1066) ซึ่งในแต่ละครั้งก็มีการบูรณะซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม ต่อมาในปีค.ศ. 1092 ได้มีการก่อตั้งแอบบีย์นักบุญมาร์ตินแห่งตูร์แน (ฝรั่งเศส: abbaye Saint-Martin de Tournai) อีกทั้งยังเป็นปีที่สิ้นสุดลงของโรคระบาดครั้งร้ายแรงใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่า "Grand Peste" โดยได้มีประเพณีสำคัญเพื่อรำลึกถึงสถานการณ์นั้นโดยได้กลายมาเป็นประเพณีใหญ่ของชาวตูร์แน เรียกว่า "กร็อง โปรเซสซิยง" (ฝรั่งเศส: Grande Procession) ซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบันทุกๆวันอาทิตย์ที่สองในเดือนกันยายนของแต่ละปี
ต่อมาช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 ได้เริ่มมีการก่อตั้งลัทธิบูชาพระแม่ขึ้นในตูร์แน อีกทั้งความมั่งคั่งของเมืองรวมทั้งความต้องการที่จะแยกมุขมณฑลออกจากนัวยง จึงได้มีการผลักดันให้สร้างมหาวิหารหลังปัจจุบันขึ้นที่ตูร์แน ซึ่งถือเป็นวิหารหลังที่สามที่สร้างบริเวณที่แห่งนี้ การก่อสร้างเริ่มจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก เริ่มที่บริเวณกลางโบสถ์ ไปยังบริเวณร้องเพลงสวด โดยบริเวณหลังคานั้นเริ่มขึ้นโครงสร้างในช่วงปีค.ศ. 1142 - 1150
ในปีค.ศ. 1146 มุขมณฑลตูร์แนก็ได้แยกออกจากมุขมณฑลนัวยงอย่างสิ้นเชิงโดยพระบัญชาของสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 อาสนวิหารแห่งใหม่นี้จึงได้รับการเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1171 ซึ่งยังถือเป็นวันสำคัญของมหาวิหารแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปีค.ศ. 1243 มุขนายกวอลแตร์ เดอ มาร์วี ได้เริ่มโครงการปรับปรุงส่วนบริเวณร้องเพลงสวดให้เป็นแบบกอทิกแรยอน็อง (ตามสมัยนิยม) โดยเริ่มจากการรื้อถอนส่วนบริเวณร้องเพลงสวดซึ่งเป็นแบบเดิม (โรมาเนสก์) โดยได้เสร็จสิ้นลงในปีค.ศ. 1255 โดยการปรับปรุงครั้งนี้ได้มีแรงบันดาลใจมากจากมหาวิหารอาเมียง และซัวซงเป็นอย่างมาก ด้วยการออกแบบในขนาดที่สูงโปร่ง กับลวดลายอันอ่อนช้อย โดยบริเวณที่สร้างใหม่นี้มีขนาดความยาวพอๆกับจุดตัดกลางโบสถ์รวมกันกับบริเวณกลางโบสถ์แบบโรมาเนสก์เดิม
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ได้มีการเริ่มบูรณะส่วนของหลังคาโค้งบริเวณแขนกางเขนภายใต้การปกครองของมุขนายกเอเตียน โดยในช่วงนี้ได้มีการก่อสร้างหอคอยกลางและหอระฆังทั้งสี่
ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้มีการเริ่มบูรณะส่วนของหน้าบันหลักของวิหารฝั่งทิศตะวันตก โดยบูรณะเพียงส่วนมุขทางเข้าเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเช่นกัน
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1566 ได้มีการบุกรุกอาสนวิหารโดยผู้คลั่งลัทธิทำลายรูปเคารพ ซึ่งได้ทำลายงานตกแต่งภายในตั้งแต่สมัยยุคกลางไปเกือบหมดสิ้น ต่อมาการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ได้มีการทำลาย ขโมยเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งภายใน รวมถึง แท่นบูชา หินอ่อน ระฆัง ฉากกางเขน แท่นเทศน์ ฯลฯ ซึ่งต่อมาในภายหลังจากความตกลง ค.ศ. 1801 แล้วจึงได้มีการฟื้นฟูอาสนวิหารขึ้นใหม่ทีละเล็กละน้อย โดยความช่วยเหลือของมุขนายกแห่งตูร์แนทั้งสององค์ในสมัยนั้น คือ มุขนายกฟร็องซัว-โฌแซฟ อีร์น ซึ่งเป็นผู้รวบรวมงานศิลปะที่สวยงามจากวิหารอื่นๆที่ถูกยุบลง โดยเฉพาะส่วนของพื้นหินอ่อนบริเวณร้องเพลงสวด และแท่นบูชาได้นำมาจากโบสถ์ของแอบบีย์นักบุญมาร์ตินแห่งตูร์แนซึ่งโดนยุบลง และอีกองค์หนึ่งคือ มุขนายกกาสปาร์-โฌแซฟ ลาบี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการบูรณะครั้งใหญ่ที่กินเวลายาวนานถึงกว่าสี่สิบปี
ในสงครามโลกครั้งที่สอง ตูร์แนเป็นสถานที่ที่ถูกถล่มโดยกองทัพเยอรมันเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 โดยได้ทำลายเมืองไปมาก รวมทั้งชาเปลแม่พระในสถาปัตยกรรมกอทิกยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเคยตั้งอยู่บริเวณติดกับทางเดินข้างฝั่งทิศเหนือของบริเวณกลางโบสถ์ ซึ่งชาเปลหลังนี้ถูกทำลายหมดสิ้น และมิได้มีการสร้างใหม่ในภายหลัง
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1999 ได้มีพายุทอร์นาโดเข้าผ่านบริเวณอาสนวิหาร โดยหลังจากได้มีการคำนวณและวัดความสมดุลของตัวอาคารและหอระฆังทั้งห้าแล้ว ได้มีความกังวลเกิดขึ้นในความแข็งแรงของบริเวณโครงสร้างมหาวิหาร โดยทางเทศบาลแห่งตูร์แน จังหวัดแอโน รวมทั้งมุขมณฑลตูร์แน ได้เริ่มทำโครงการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อเป็นชุบชีวิตของอาสนวิหารแห่งนี้ขึ้นอีกครั้ง
ขนาด
[แก้]- ความยาวโดยรวม : 134 เมตร (เท่ากันกับมหาวิหารซอลส์บรี, ส่วนมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสมีความยาวเพียง 127 เมตร)
- ความยาวของบริเวณร้องเพลงสวด (รวมจรมุข และชาเปลข้าง) : 58 เมตร (มากกว่ามหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสซึ่งมีความยาว 38 เมตร และน้อยกว่ามหาวิหารอาเมียงซึ่งมีความยาว 64 เมตร)
- ความยาวของบริเวณร้องเพลงสวด (ไม่รวมจรมุข และชาเปลข้าง) : 45 เมตร (มากกว่ามหาวิหารอาเมียง ที่มีความยาวเพียง 42 เมตร)
- ความยาวของแขนกางเขน : 67 เมตร (เทียบกับมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสซึ่งยาวเพียง 48 เมตร)
- ความกว้างของแขนกางเขน : 14 เมตร (เท่ากันกับมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส)
- ความยางของบริเวณกลางโบสถ์ : 48 เมตร
- ความกว้างของบริเวณกลางโบสถ์ (ไม่รวมทางเดินข้าง) : 11 เมตร
- ความกว้างของบริเวณกลางโบสถ์และทางเดินข้าง : 20 เมตร
- ความกว้างของบริเวณร้องเพลงสวด (ไม่รวมจรมุข) : 12.6 เมตร (contre 14,6 à Amiens)
- ความสูงของหอระฆัง : 83 เมตร (เทียบกับมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสซึ่งสูงเพียง 69 เมตร)
- ความสูงจรดเพดานบริเวณแขนกางเขน : 50 เมตร (ส่วนที่สูงที่สุดภายในมหาวิหาร)
- ความสูงของบริเวณกลางโบสถ์แบบโรมาเนสก์ : 26 เมตร
- ความสูงของบริเวณร้องเพลงสวดแบบกอทิก : 36 เมตร (เทียบกับมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสซึ่งสูงเพียง 33.50 เมตร, มหาวิหารอาเมียงที่ 42.30 เมตร และมหาวิหารโบแวที่ 48.50 เมตร)
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ภาพถ่ายจากเครื่องบิน
-
บริเวณกลางโบสถ์ หันหน้าไปยังบริเวณร้องเพลงสวด
-
ภาพวาดแสดงต้นแบบของมหาวิหารในสมัยโรมาเนสก์ จะสังเกตบริเวณร้องเพลงสวด (ด้านหน้า) และหอระฆังที่ไม่ได้สร้างอีก 2 หอ (ด้านหลัง)
-
แผนผังของวิหาร
-
ภาพเขียน "The issue of souls in purgatory" ประมาณปีค.ศ. 1635 โดยจิตรกรเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์
-
หน้าต่างกุหลาบ (โดยชาร์ล แบนวีญา สมัยศตวรรษที่ 19) และออร์แกนใหญ่ (โดยดูว์ครอแก ค.ศ. 1854)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "L'ensemble de la Cathédrale Notre-Dame à l'exception de l'orgue de choeur (partie instrumentale et buffet)". Patrimoine Wallon (ภาษาฝรั่งเศส). Direction de la Protection - Région Wallone. สืบค้นเมื่อ 7 July 2011. - n° 57081-CLT-0002-01 - 5 February 1936
บรรณานุกรม
[แก้]- Jean Dumoulin et Jacques Pycke La Cathédrale de Tournai, Éditions Casterman, Tournai, ISBN| 2-203-28761-6, 1985.
- Claude Alsteen Un amour de cathédrale, PAC Hainaut Occidental, Tournai, 1990.
- Jean Housen, "Tournai - cathédrale Notre-Dame", dans Bulletin de la Commission royale des monuments, sites et fouilles, tome 18, 2004-2005, pp. 55-57.
ดูเพิ่ม
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Cathédrale Notre-Dame, Tournai
- (ฝรั่งเศส) เว็บไซต์ของมุขมณฑลตูร์แน Evêché de Tournai : Cathédrale Notre-Dame de Tournai - patrimoine et découverte เก็บถาวร 2006-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- (ฝรั่งเศส) เว็บไซด์ของมูลนิธิน็อตร์-ดาม
- (ฝรั่งเศส) เว็บไซต์ของเทศบาลเมืองตูร์แน เก็บถาวร 2006-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- (ฝรั่งเศส) คำอธิบายขององค์การยูเนสโก
- (อังกฤษ) (ฝรั่งเศส) Document d'évaluation (2000) Évaluation préalable à l'inscription au patrimoine mondial réalisée par l'ICOMOS
- (ฝรั่งเศส) Daniel Ramée - Histoire générale de l'architecture publ. 1862 (page 1039)
- (ฝรั่งเศส) หลักฐานทางโบราณคดีของอาสนวิหารแม่พระแห่งตูร์แน