ภูมิประเทศ
ภูมิประเทศ เป็นลักษณะทางกายภาพทั้งในแนวดิ่งและแนวราบของพื้นผิว คำว่า ภูมิประเทศของพื้นสมุทร (bathymetry) เป็นคำที่ใช้สำหรับอธิบายความสูงต่ำหรือลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ๆ อยู่ใต้น้ำ ส่วนคำว่า ภูมิประเทศของพื้นโลก (hypsometry) ใช้อธิบายภูมิประเทศที่สัมพันธ์กับระดับน้ำทะเล (ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล)
ในภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิประเทศคือลักษณะการวางตัวบนผิวดิน ปกติจะแสดงออกมาในรูปของความสูง ความชันและการวางตัวของลักษณะภูมิประเทศ ภูมิประเทศจะสงผลโดยตรงต่อการไหลของน้ำบนผิวดิน ภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่สามารถส่งผลต่อสภาพอากาศและรูปแบบภูมิอากาศได้
ความสำคัญ
[แก้]มีหลายเหตุผลที่เราต้องทำความเข้าใจภูมิประเทศ:
- ภุมิประเทศส่วนใหญ่เป็นตัวกำหนดความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เช่น การตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบตะกอนน้ำพาเพื่อความเหมาะสมในการเพาะปลูก
- ในด้านของ คุณภาพของสภาพแวดล้อม เกษตรกรรม อุทกวิทยาและสหวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ[1] จะทำการศึกษาภูมิประเทศเพื่อทำความเข้าใจพื้นที่สันปันน้ำ ลุ่มน้ำ [2] ระบบลำธาร อุทกธรณีวิทยา การระบายน้ำและผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ลำดับที่ซับซ้อนของข้อมูลผิวโลกมักนำมาใช้เป็นตัวแปรเสริมในการทำแบบจำลองการเคลื่อนย้ายทางอุทกศาสตร์ (เช่น SWMM หรือ โมเดล DSSAM) เพื่อพยากรณ์คุณภาพน้ำในแม่น้ำ
- การทำความเข้าในภูมิประเทศยังสามารถทำให้การอนุรักษ์ดินมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกษตรกรรม การไถดินตามแนวขวาง[3]เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้ทำการเกษตรบนพื้นที่ลาดชันได้ (การไถดินตามแนวขวางช่วยลดการชะล้างหน้าดินไม่ให้ไหลไปตามความลาดชั้นของภูมิประเทศ)[3]
- ด้านการทหารนั้น การศึกษาภูมิประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการวางกองกำลัง การวางกลยุทธ์ป้องกันและรุกคืบ ล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องใช้ภูมิประเทศที่คาดว่าน่าจะได้เปรียบกว่าฝั่งตรงข้าม
- ภูมิประเทศเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปแบบสภาพอากาศ พื้นที่ ๆ อยู่ใกล้กันอาจมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันเช่น พื้นที่หน้าเขาอุดมสมบูรณ์และมีหยาดน้ำฟ้ามากกว่าพื้นที่หลังเขา (พื้นที่หลังเขาเป็น เงาฝน)
- ภูมิประเทศส่งผลต่อการบินเป็นอย่างมาก โดยส่งผลต่ออุปกรณ์การบินต่าง ๆ เช่น เรดาห์ ระบบนำทางและวิทยุติดต่อกับภาคพื้นดิน หรือส่งผลต่อ เครื่องบินที่มีเพดานบินต่ำ เครื่องบินซ้อมรบ และความสูงของสนามบิน (ดูเพิ่มที่ ระบบเตือนหลีกเลี่ยงภูมิประเทศ)
ความต่างระดับ
[แก้]ความต่างระดับ หรือ ความสูงต่ำของผิวโลก เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ เช่นความสูงในแนวดิ่งของภูมิทัศน์ มักจะเป็นปริมาณความแตกต่างระหว่างจุดต่ำสุดและจุดสูงสุดในพื้นที่หนึ่ง ๆ ที่มีขอบเขตจำกัด[4]
ธรณีสัณฐานวิทยา
[แก้]ธรณีสัณฐานวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของภูมิประเทศ ภูมิประเทศเกิดขึ้นตามกระบวนการทางธรณีวิทยาที่ผ่านตามธรณีกาล
- กระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น การแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค รอยเลื่อน การเกิดชั้นหินคดโค้ง การก่อตัวของภูเขา การระเบิดของภูเขาไฟ ฯลฯ
- กระบวนการการกัดเซาะ เช่น ธารน้ำแข็ง กระบวนการของธารน้ำ กระบวนการจากลม การผุผังอยู่กับที่ การเคลื่อนที่ของมวลซึ่งเป็นผลจากแรงดึงดูด เช่น แผ่นดินถล่ม การเลื่อนหลุดเป็นกระปิ หินพังเป็นต้น
- เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบจากนอกโลก เช่น อุกกาบาต แอ่งกระแทก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Baker, N.T., and Capel, P.D., 2011, "Environmental factors that influence the location of crop agriculture in the conterminous United States": U.S. Geological Survey Scientific Investigations Report 2011–5108, 72 p.
- ↑ Brush, L. M. (1961). "Drainage basins, channels, and flow characteristics of selected streams in central Pennsylvania" (pp. 1-44) (United States, U.S. Department of the Interior, GEOLOGICAL SURVEY). Washington D.C.: UNITED STATES GOVERNMENT PRINTING OFFICE. Retrieved October 29, 2017, from https://pubs.usgs.gov/pp/0282f/report.pdf
- ↑ 3.0 3.1 รศ.ดร.ไพบูลย์ ภูริเวทย์, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยหลักชีววิทยา,บทที่ 4 "ดิน" หน้า 83. ISBN 974-599-193-7
- ↑ Summerfield, M.A., 1991, Global Geomorphology, Pearson, 537 p. ISBN 9780582301566