ญะมาอะห์ อิสลามียะห์
ญะมาอะห์ อิสลามียะห์ | |
---|---|
แนวคิด | ลัทธิอิสลาม Islamic fundamentalism ซุนนีย์ อุดมการณ์รวมกลุ่มอิสลาม |
พื้นที่ปฏิบัติการ | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
กำลังพล | 5,000 คน[1] |
พันธมิตร | อัลกออิดะฮ์ แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร แอลจีเรีย อิหร่าน |
ปรปักษ์ | สหประชาชาติ
รัฐที่เป็นปรปักษ์ |
ญะมาอะห์ อิสลามียะห์ (อาหรับ: الجماعة الإسلامية, al-Jamāʿah al-Islāmiyyah แปลว่า กลุ่มอิสลาม) หรือกลุ่ม JI เป็นกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 การมีอยู่ขององค์กรนี้ยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีนักวิชาการเชื่อว่ามีศูนย์กลางอยู่ในอินโดนีเซีย เป้าหมายหลักขององค์กรคือการก่อตั้งรัฐอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยครอบคลุมพื้นที่ของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เครือข่ายของเจไอเชื่อมโยงกับอัลกออิดะฮ์ แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร และกลุ่มกัมปูลัน มุญาฮืดีนในมาเลเซีย[2]
ประวัติ
[แก้]กลุ่มเจไอมีวิวัฒนาการมาจากกลุ่มดารุลอิสลามในอินโดนีเซียซึ่งต้องการสถาปนารัฐอิสลามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมี เซกามัดยี มาริดจัน กาโตสุวิรโจเป็นผู้นำในขณะนั้น อย่างไรก็ตามกลุ่มชาตินิยมของซูการ์โนเป็นกลุ่มที่ได้ก่อตั้งประเทศอินโดนีเซียสำเร็จ กลุ่มดารุลอิสลามเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปราม
กลุ่มดารุลอิสลามยังคงเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในหลายพื้นที่ระหว่าง พ.ศ. 2501 – 2512 โดยเขตพื้นที่หลักเป็นบริเวณอาณาจักรมัชปาหิตเดิมคือเกาะชวาตอนกลางและตะวันตกรวมทั้งสุมาตราตอนล่างและเกาะซูลาเวซี
อับดุลลา อาหมัด ซุงกาและเพื่อนของเขาคือ นายอาบู บาการ์ บาชีร์ (อาหรับ: أَبُو بَكْر بَاعَشِير, อักษรโรมัน: ʾAbū Bakr Bāʿašīr ) เป็นผู้เลื่อมใสแนวคิดดารุลอิสลามและเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการเจไอในเวลาต่อมา ทั้งคู่ได้ตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 และได้ตั้งเครือข่ายเยาวชนขึ้นดำเนินการ จนกระทั่งเกิดเหตุระเบิดที่เมืองตันหยงปริอ็อกเมื่อ พ.ศ. 2527 ที่ทั้งคู่อยู่เบื้องหลัง ทั้งซุงกาและบาชีร์หนีไปมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. 2528 และได้ตั้งขบวนการเจไอเต็มรูปแบบขึ้นที่นี่
เริ่มแรกทั้งคู่เปิดโรงเรียนสอนศาสนาชื่ออัลตาบิยะห์ ลุกมานุลอาดัมในรัฐยะโฮร์เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการ ซุงกาเปลี่ยนชื่อเป็นอับดุล ฮาลิม ส่วนบาชีร์เปลี่ยนชื่อเป็นอับดุล ซามัด โดยมีกลุ่มมวลชนเป็นแรงงานชาวอินโดนีเซียและชาวมาเลเซียบางส่วน โรงเรียนนี้เป็นสถานที่ฝึกและคัดเลือกเยาวชนไปฝึกวิชาทหารที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน รวมทั้งเข้ารบในสมรภูมิจริงในอัฟกานิสถาน
เมื่อยุคของรัฐบาลซูฮาร์โตสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2541 ซุงกาและบาชีร์เดินทางกลับอินโดนีเซีย ซุงกาถึงแก่กรรมแล้วด้วยโรคชราส่วนบาชีร์ยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณต่อไป
จุดมุ่งหมาย
[แก้]ขบวนการเจไอต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (ชาริอะห์) เป็นกฎหมายประจำรัฐ และตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ที่เรียกว่า “ดอเลาะ อิสลามิยาห์ นุสันตารา” โดยมีกลยุทธที่สำคัญคือ พลังศรัทธา พลังภราดรภาพ และพลังการทหาร[3]
การบังคับบัญชา
[แก้]นายอาบู บาการ์ บาชีร์ ครูสอนศาสนาชาวอินโดนีเซีย (อพยพมาจากเยเมน) คือบุคคลที่เชื่อว่าเป็นผู้นำทางศาสนาของกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ หรือ เจมาห์ อิสลามิยาห์ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่า นายบาชีร์ก็ดำรงฐานเป็นแกนนำด้านการปฏิบัติการเช่นเดียวกัน นายบาชีร์เข้าร่วมกับกลุ่มดารุล อิสลาม ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และถูกทางการอินโดนีเซียจับกุมไปขังเนื่องจากการเคลื่อนไหวทางศาสนา แต่ได้รับการปล่อยตัวออกมาระยะหนึ่ง และได้หลบหนีไปยังประเทศมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังจากที่ศาลอินโดนีเซียมีคำสั่งให้จับกุมตัวนายบาชีร์ไปคุมขังอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย นายบาชีร์ได้รวบรวมอาสาสมัครเพื่อไปร่วมทำสงครามต่อต้านกองทัพรัสเซียที่บุกยึดประเทศอัฟกานิสถาน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย ขณะเดียวกันนายบาชีร์ก็ยังคงติดต่อกับพวกพ้องที่มีแนวคิดเดียวกันในอินโดนีเซียอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากที่ระบอบเผด็จการของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ยุติลงเมื่อปี พ.ศ. 2541 นายบาชีร์ เดินทางกลับไปยังประเทศอินโดนีเซีย และเปิดโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นที่เมืองโซโล บนเกาะชวา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่บนเกาะนี้ เป็นชาวมุสลิม พร้อมก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภานักรบมุสลิมแห่งอินโดนีเซีย (Majelis Mujahidin Indonesia ) ซึ่งเป็นแกนนำเครือข่ายนักรบมุสลิมในอินโดนีเซีย
นายบาชีร์ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และหลังจากเกิดเหตุลอบวางระเบิดที่เกาะบาหลี เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2545 ทางการอินโดนีเซีย ได้เรียกตัวนายบาชีร์มาให้ปากคำเกี่ยวกับกรณีการลอบโจมตีที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านั้น ปัจจุบันนายบาชีร์ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและความเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ในขบวนการกลุ่มแกนนำมีความรับผิดชอบต่าง ๆ กัน ผู้นำสูงสุดเรียกว่าเอมีร์ รองลงไปคือสภาผู้นำ (มากาซ) และสภาที่ปรึกษา (ซูเราะห์) จากนั้นจึงแบ่งไปสู่ระดับภาค (มันติกิ) แต่ละภาคมีการบังคับบัญชาในระดับกองพัน (ซาลาล), หมวด (เกอดาซ) และหมู่ (เฟียซ) โดยแบ่งออกเป็นสี่ภาคด้วยกันคือ[3]
- ไทย พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์
- เกาะสุมาตรา เกาะชวา อินโดนีเซีย
- เกาะซูลาเวซี กาลีมันตัน บรูไน ฟิลิปปินส์
- หมู่เกาะปาปัว นิวกินี ออสเตรเลีย
ในแต่ละภูมิภาค มีหน่วยงานหลักห้าฝ่ายคือ
- ฝ่ายจาริกเชิญชวน มีหน้าที่หาสมาชิก
- ฝ่ายฝึกอาวุธ
- ฝ่ายเศรษฐกิจ ทำหน้าที่เรี่ยไรและรับบริจาคเงิน
- ฝ่ายองค์กรบังหน้า ปรากฏตัวในรูปมูลนิธิ โรงเรียนสอนศาสนา และพยายามแทรกซึมเข้าไปในองค์กรต่าง ๆ
- ฝ่ายต่างประเทศ เชื่อมโยงกับขบวนการในภูมิภาคอื่นที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
ปฏิบัติการ
[แก้]กลุ่มเจไอออกมาประกาศความรับผิดชอบการลอบวางระเบิดโรงแรมเจ ดับเบิลยู แมริออต ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2543 และคาดว่าอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดในสถานบันเทิงที่เกาะบาหลีเมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมตัวนายฮัมบาลีที่เป็นแกนนำของกลุ่มเจไอ และคาดว่ามีส่วนพัวพันการลอบวางระเบิดในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์หลายครั้ง[4]
พื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มเจไอ อยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และอาจจะเคลื่อนไหวอยู่ในฟิลิปปินส์ และไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อำนาจของรัฐบาลเข้าไปไม่ถึง, พื้นที่ที่ขาดแคลนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่ และพื้นที่ติดทะเลที่มีเขตน่านน้ำที่เปิดกว้างของหลายประเทศ ทำให้กลุ่มเจไออาศัยข้อจำกัดเหล่านี้ เป็นช่องทางในการปฏิบัติการในหลายประเทศได้โดยสะดวก
ญะมาอะห์ อิสลามียะห์ ในความเป็นกลุ่ม หรือสมาชิกเพียงบางคน น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้ายหลายครั้ง ประกอบด้วย:
- การโจมตีโรงแรม เจ ดับเบิลยู มาริอ็อต กลางกรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 โดยใช้รถยนต์บรรทุกระเบิด (Car bomb) เป็นอาวุธ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน
- การลอบวางระเบิดไนท์คลับ ที่เกาะบาหลี เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ โดย นายอัมโรซี บิน เนอร์ฮาสยิม ช่างเทคนิค จากทางตะวันออกของเกาะชวา วัย 41 ปี ถูกพิพากษาลงโทษ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ในฐานะที่เป็นบุคคลที่ซื้อรถยนต์คันที่ใช้บรรทุกระเบิด และเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อและลำเลียงสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของระเบิดส่วนใหญ่ นายอัมโรซี เป็นผู้ต้องสงสัยคนแรกที่ถูกตัดสินลงโทษ จากจำนวนผู้ต้องสงสัย 33 คน ที่ถูกจับกุมในกรณีการก่อการร้ายที่เกาะบาหลี
- กรณีการโจมตีโบสถ์คริสต์หลายแห่ง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 18 คน หน่วยข่าวกรองของประเทศอาเซียนและสหรัฐ เชื่อว่า นายฮัมบาลี มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อการร้ายระลอกนี้[5] และทางการอินโดนีเซียก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการควบคุมตัวนายอาบู บาการ์ บาชีร์ ไปสอบปากคำ
- การลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นหลายระลอกที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า นายฮัมบาลี ช่วยเหลือในเรื่องการวางแผน ซึ่ง นายเฟอร์ตู เราะห์มาน อัลกอซี ลูกศิษย์คนใกล้ชิดของ นายอาบู บาการ์ บาชีร์ ยอมสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิด และเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 ก็ถูกตัดสินลงโทษในข้อหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีการก่อการร้าย
- กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า นายฮัมบาลี ช่วยเหลือในเรืองการวางแผนก่อการร้ายที่จะระเบิดเครื่องบินโดยสารของสายการบินสหรัฐฯ จำนวน 11 ลำ ในปฏิบัติการ Oplan Bojinka เมื่อปี พ.ศ. 2538
- นอกเหนือจากนี้ ญะมาอะห์ อิสลามียะห์ ยังเกี่ยวข้องกับแผนโจมตีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ในประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2544 ซึ่งแผนดังกล่าวถูกสกัดกั้นได้ก่อนที่จะมีการลงมือ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Al-Qaeda map: Isis, Boko Haram and other affiliates' strongholds across Africa and Asia". The Telegraph. 12 June 2014. สืบค้นเมื่อ 29 August 2014.
- ↑ ศราวุฒิ อารีย์ (2007). การก่อการร้าย มุมมองของโลกอิสลาม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 139–140. ISBN 9789749897072.
- ↑ 3.0 3.1 อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว (2005). สงครามเงา: วิกฤตการณ์ก่อการร้ายโลกและปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ: นาครมีเดีย. pp. 124–129, 133–135. ISBN 9789747032581.
- ↑ ดลยา เทียนทอง (2007). ปฐมบทการก่อการร้าย: รากเหง้า ความเป็นไป และพลวัต. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 59. ISBN 9789749897089.
- ↑ "Statement by the Treasury Department Regarding Today's Designation of Two Leaders of Jemaah Islamiyah" (Press release). United States Department of the Treasury. 24 มกราคม 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กันยายน 2006. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2006.
อ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Atran, Scott (2010). Talking to the Enemy: Faith, Brotherhood, and the (Un)Making of Terrorists. New York: Ecco Press / HarperCollins. ISBN 978-0-06-134490-9.
- Barton, Greg (2005). Jemaah Islamiyah: radical Islam in Indonesia. Singapore: Singapore University Press. ISBN 9971-69-323-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เจมาห์ อิสลามิยาห์ คืออะไร ?[ลิงก์เสีย] จาก กรมข่าวทหารอากาศ
- คำจำกัดความของการก่อการร้าย ? เก็บถาวร 2009-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก กรมข่าวทหารอากาศ