ซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน
ซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน เอ็มเอช-53อี ซีดรากอน | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
บทบาท | เฮลิคอปเตอร์บรรทุกขนาดหนัก |
บริษัทผู้ผลิต | ซิคอร์สกี้ แอร์คราฟท์ |
สถานะ | ประจำการ |
จำนวนที่ผลิต | 115 ลำ |
ประวัติ | |
เริ่มใช้งาน | พ.ศ. 2524 |
เที่ยวบินแรก | 1 มีนาคม พ.ศ. 2517 |
พัฒนาจาก | ซีเอช-53 ซีสตัลเลียน |
สายการผลิต | ซิคอร์สกี้ ซีเอช-53เค |
ซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน (อังกฤษ: CH-53E Super Stallion) เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและหนักที่สุดของกองทัพสหรัฐ มันถูกพัฒนามาจากซีเอช-53 ซีสตัลเลียน โดยเพิ่มเครื่องยนต์ที่สามเข้าไป กะลาสีและนาวิกโยธินมักเรียกมันว่า"ตัวสร้างเฮอร์ริเคน" เพราะว่ามันมักทำให้เกิดกำแพงลมขณะบินขึ้น มันถูกสร้างขึ้นโดยซิคอร์สกี้ แอร์คราฟท์ให้กับนาวิกโยธินสหรัฐ อีกรุ่นหนึ่งคือเอ็มเอช-53อี ซีดรากอน (อังกฤษ: MH-53E Sea Dragon) ซึ่งเป็นของกองทัพเรือสหรัฐเพื่อใช้ในการกวาดทุ่นระเบิดและบรรทุกของหนัก ซีเอช-53อี/เอ็มเอช-53อีถูกเรียกว่า"เอส-80"โดยซิคอร์สกี้
ปัจจุบันกำลังพัฒนาซีเอช-53เค ซึ่งจะติดตั้งเครื่องยนต์ใหม่ ใบพัดที่ใช้วัสดุผสม และภายในที่กว้างขึ้น
การพัฒนา
[แก้]ภูมิหลัง
[แก้]ซีเอช-53 เป็นผลผลิตจากการเฟ้นหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดหนักของนาวิกโยธินสหรัฐซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2505 เอส-65 ของซิคอร์สกี้ถูกเลือกให้ได้ทำสัญญา โดยเอาชนะซีเอช-47 ชีนุกรุ่นดัดแปลงของโบอิง ต้นแบบคือวายซีเอช-53เอได้ทำการบินครั้งแรกในัวนที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2507[1] มันถูกเรียกว่า"ซีเอช-53เอ ซีสตัลเลียน"และเริ่มส่งมอบในปีพ.ศ. 2509[2] ซีเอช-53เอลำแรกใช้เครื่องยนต์เจเนรัล อิเลกทริก ที64-จีอี-6 สองเครื่องยนต์ โดยให้กำลัง 2,850 แรงม้า น้ำหนักสูงสุด 20,865 กิโลกรัม รวมทั้งของบรรทุกอีก 20,00 กิโลกรัม[3]
ซีเอช-53เอมีหลายรุ่น เช่น อาร์เอช-53เอ/ดี เอชเอช-53บี/ซี ซีเอช-53ดี ซีเอช-53จี และเอ็มเอช-53เอช/เจ/เอ็ม อาร์เอช-53เอและอาร์เอช-53ดีถูกใช้โดยกองทัพเรือสหรัฐในการกวาดทุ่นระเบิด ซีเอช-53ดีมีเครื่องยนต์ที64 ที่ทรงพลังกว่า โดยถูกใช้ในรุ่นเอช-53 ทั้งหมด และมีถังเชื้อเพลิงด้านนอก ซีเอช-53จีนั้นถูกสร้างให้กับเยอรมนี[1]
เอชเอช-53บี/ซี ซูเปอร์จอลลีไจแอนท์ของกองทัพอากาศสหรัฐเป็นรุ่นสำหรับปฏิบัติการพิเศษและถูกใช้ครั้งแรกในสงครามเวียดนาม เอ็มเอช-53เอช/เจ/เอ็ม เพฟโลว์ของกองทัพอากาศเป็นเอช-53 รุ่นสุดท้ายที่มีสองเครื่องยนต์และมีระบบอิเลกทรอนิกอากาศพิเศษ
เอช-53อี
[แก้]ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2510 นาวิกโยธินสหรัฐต้องการเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถบรรทุกได้มากกว่าซีเอช-53ดี 1.8 เท่า ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ยานจู่โจมสะเทินสะเทินบก กองทัพเรือและกองทัพบกสหรัฐก็มองหาเฮลิคอปเตอร์ที่คล้ายกันในเวลานั้น ก่อนหน้านั้นซิคอร์สกี้ได้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาซีเอช-53ดี โดยใช้ชื่อว่า"เอส-80" โดยมีจุดเด่นที่เครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์เครื่องที่สามและระบบใบพัดที่ทรงพลังกว่าเดิม ซิคอร์สกี้ยื่นแบบเอส-80 ให้กับนาวิกโนธินในปีพ.ศ. 2511 พวกเขาชอบมันตรงที่มันขนส่งได้อย่างรวดเร็ว และเริ่มลงทุนเพื่อพัฒนามันต่อ[4]
ในปีพ.ศ. 2513 ด้วยแรงกดดันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ต้องการให้มีการสร้างโบอิง เวอร์ทอล เอ็กซ์ซีเอช-62 ให้กับกองทัพบก กองทัพเรือและนาวิกโยธินสามารถแสดงให้เห็นว่าเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกนั้นใหญ่เกินไปที่จะลงจอดบนเรือและช้าเกินไปที่จะไล่ตามเฮลิอปคอปเตอร์ของพวกเขา[4] การทดสอบต้นแบบได้มีการตรวจสอบเครื่องยนต์ที่สามและระบบใบพัดที่ใหญ่ขึ้นด้วยการเพิ่มใบพัดใบที่ 7 เข้าไปเมื่อต้นทษวรรษที่ 2513 ในปีพ.ศ. 2517 วายซีเอช-53อีก็ขึ้นบินเป็นครั้งแรก[5]
การเปลี่ยนแปลงของซีเอช-53อีนั้นมีทั้ง ระบบส่งกำลังที่ทรงพลังและลำตัวที่ขยายออกอีก 1.88 เมตร ใบพัดหลักถูกเปลี่ยนเป็นไทเทเนียมผสมกับไฟเบอร์กลาส[4] ส่วนหางก็ถูกเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แพนหางแนวนอนส่วนล่างถูกแทนที่ด้วยหางแนวตั้งที่ใหญ่กว่า นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมการบินอัตโนมัติแบบใหม่ถูกใส่เข้าไปด้วย[5] ระบบควบคุมการบินดิจิทัลทำให้นักบินไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป[4]
การทดสอบวายซีเอช-53อีแสดงให้เห็นว่ามันสามารถยกของได้ถึง 17.8 ตัน (ห่างจากพื้นถึงล้อ 15 เมตร) และสามารถทำความเร็ว 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยน้ำหนัก 56,000 ปอนด์ได้โดยไม่มีการบรรทุกภายนอก สิ่งนี้นำไปสู่เฮลิคอปเตอร์สองลำที่สร้างก่อนการผลิตและบทความจากการทดสอบ ในเวลานี้เองที่ส่วนหางถูกปรับเปลี่ยนให้มีตำแหน่งสูงขึ้น แพนหางแนวนอนหันหน้าเข้าใบพัด โดยทำมุม 20 องศา[5]
การผลิตถูกทำสัญญาในปีพ.ศ. 2521 และนำเข้าประจำการหลังเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524[4] ซีเอช-53อีลำแรกที่ผลิตทำการบินในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2523[5] กองทัพเรือสหรัฐได้รับซีเอช-53อีในจำนวนที่น้อย นาวิกโยธินได้รับไปทั้งสิ้น 177 ลำ[4]
กองทัพเรือต้องการซีเอช-53อีสำหรับการกวาดทุ่นระเบิด โดยใช้ชื่อว่า"เอ็มเอช-53อี ซีดรากอน" ส่วนที่ยื่นออกมาด้านข้างถูกขยายเพื่อให้มันบรรทุกเชื้อเพลิงได้มากขึ้นและทนทานขึ้น มันยังมีระบบเติมเชื้อเพลิงทางอากาศและสามารถติดตั้งถังเชื้อเพลิงขนาด 300 แกลลอนไว้ภายในได้ เอ็มเอช-53อีมีระบบควบคุมการบินแบบดิจิทัลที่มีจุดเด่นในการใช้เครื่องมือกวาดทุ่นระเบิด[4] เอ็มเอช-53อีลำต้นแบบทำการบินครั้งแรกในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2544 เอ็มเอช-53อีถูกใช้โดยกองทัพเรือเมื่อเริ่มปีพ.ศ. 2529 เอ็มเอช-53อีสามารถเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศและลอยตัวอยู่[5] กองทัพเรือได้รับซีดรากอนทั้งสิ้น 46 ลำ และดัดแปลงอาร์เอช-53ดีลำที่เหลือให้กลับไปทำหน้าที่ขนส่งดังเดิม[4]
นอกจากนี้เอ็มเอช-53อีจำนวนมากถูกส่งออกให้กับญี่ปุ่นโดยใช้ชื่อว่าเอส-80-เอ็ม-1 เพื่อใช้ในกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น
ซีเอช-53อีนั้นทำหน้าที่ทั้งในกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐในบทบาทขนส่งขนาดหนัก มันสามารถยกอุปกรณ์หนักๆ เช่น ยานหุ้มเกราะขนาดเบาแอลเอวี-25 ปืนฮาวไอเซอร์เอ็ม198 ขนาด 155 ม.ม.พร้อมทั้งพลปืนและกระสุน และสามารถยกอากาศยานทั้งหมดของนาวิกโยธินได้ยกเว้นเคซี-130
ซีเอช-53เค
[แก้]นาวิกโยธินสหรัฐได้วางแผนทำการพัฒนาซีเอช-53 ส่วนใหญ่ของพวกเขาเพื่อยืดอายุการใช้งาน แต่แผนก็ต้องพบกับอุปสรรค จากนั้นซิคอร์สกี้ก็ได้ยื่นข้อสเนอเป็น"ซีเอช-53เอ็กซ์" และในที่สุดเมื่อถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 นาวิกโยธินก็ทำสัญญาเพื่อซื้อ"ซีเอช-53เค" 156 ลำ[6][7] นาวิกโยธินกำลังวางแผนที่จะเริ่มปลดประจำการซีเอช-53 ในปีพ.ศ. 2552 และต้องการเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่อย่างเร็วที่สุด[8]
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 นาวิกโยธินสหรัฐได้เพิ่มจำนวนซีเอช-53เคเป็น 227 ลำในรายการสั่งซื้อ[9] มันถูกคาดว่าจะทำการบินครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 และเริ่มทำให้มันเข้าประจำการได้ในปีพ.ศ. 2558[10] การส่งมอบจะเริ่มขึ้นในปลายปีพ.ศ. 2565[8]
การออกแบบ
[แก้]แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงด้านโครงสร้าง แต่ซีเอช-53อีนั้นมีเครื่องยนต์ 3 เครื่องที่ทรงพลังกว่าซีเอช-53เอ ซีสตัลเลียนที่มีสองเครื่องยนต์ รุ่นอีนั้นยังมีใบพัดที่ใหญ่กว่าจำนวนเจ็ดใบ
ซีเอช-53อีสามารถบรรทุกทหารได้ 55 นายหรือสินค้าหนัก 13,610 กิโลกรัม และยังสามารถขนส่งภายนอกโดยใช้ตะขอที่รับน้ำหนักได้ 16,330 กิโลกรัม[4] ซูเปอร์สตัลเลียนมีความเร็วประหยัดที่ 278 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและพิสัย 1,000 กิโลเมตร[11] มันมีท่อสำหรับเติมเชื้อเพลิงที่ด้านหน้า มันมีปืนกลสามกระบอก หนึ่งกระบอกที่ด้านข้างของประตูทางเข้าสำหรับลูกเรือ หนึ่งกระบอกที่หน้าต่างด้านหลังนักบินผู้ช่วย และอีกหนึ่งกระบอกที่ด้านท้าย[ต้องการอ้างอิง] ซีเอช-53อียังมีเครื่องปล่อยพลุและเป้าล่ออีกด้วย[4]
เอ็มเอช-53อีมีจุดเด่นที่ส่วนเสริมด้านข้างสำหรับเชื้อเพลิงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถใช้เครื่องกวาดทุ่นระเบิดได้ มันมีระบบต่อต้านทุ่นระเบิดและปืนกลอีกสองกระบอก ระบบควบคุมการบินแบบดิจอตอลของมันถูกออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องกวาดทุ่นระเบิดโดยเฉพาะ[4]
การพัฒนาซีเอช-53อีมีทั้งการใช้ระบบมองกลางคืน ปืนกลจีเอยู-21/เอและเอ็ม3พีขนาด 12.7 ม.ม. และอินฟราเรดส่วนหน้ารุ่นเอเอคิว-29เอ[4]
ซีเอช-53อีและเอ็มเอช-53อีเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตก ในขณะที่ซีเอช-53เคซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาขึ้นนั้นจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า พวกมันเป็นอันดับสามรองจากมิล เอ็มไอ-26 และมิล เอ็มไอ-12 ของรัสเซีย ซึ่งสามารถบรรทุกของได้กว่า 22 ตันและ 44 ตันตามลำดับ
ประวัติการใช้งาน
[แก้]ทศวรรษที่ 2523
[แก้]ซูเปอร์สตัลเลียนเข้าประจำการครั้งแรกในฝูงบินของสหรัฐในนอร์ทแคโรไลน่า อีกหลายปีต่อมาอีกสองฝูงบินถูกตั้งขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้แล้วยังมีหน่วยรักษาชายฝั่งอีกหนึ่งหน่วยที่ใช้ซูเปอร์สตัลเลียนซึ่งตึ้งอยู่ในรัฐเพนซิลวาเนีย ตั้งแต่นั้นฝูงบินที่ใช้ซีเอช-53เอก็เปลี่ยนมาใช้รุ่นอีแทน
ซีเอช-53อีของนาวิกโยธินสหรัฐถูกใช้บนเรือครั้งแรกในปีพ.ศ. 2526 เมื่อซีเอช-53อีสี่ลำถูกลำเลียงลงบนเรือยูเอสเอสอิโวจิมา[ต้องการอ้างอิง] ในช่วงนี้นาวิกโยธินถูกส่งขึ้นฝั่งที่เบรุตในเลาบานอนเพื่อรักษาความสงบและสร้างปริมณฑลใกล้กับสนามบินแห่งชาติเบรุต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ผู้ก่อการร้ายใช้คาร์บอมทำลายค่ายทหารในเบรุต สังหารทหารเกือบ 240 นายที่กำลังนอนหลับอยู่ ซีเอช-53อีได้เข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนการรบในปฏิบัติการนี้
ทศวรรษที่ 2533
[แก้]ในปีพ.ศ. 2534 ซีเอช-53อีหลายลำพร้อมกับซีเอช-46 ซีไนท์ถูกส่งเข้าไปในโมกาดิชูประเทศโซมาเลีย เพื่อลำเลียงพลเมืองสหรัฐและชาวต่างชาติจากสถานทูตสหรัฐในช่วงสงครามกลางเมืองโซมาเลีย
ในปฏิบัติการพายุทะเลทราย เอ็มเอช-53อีถูกใช้เพื่อทำหน้าที่กวาดทุ่นระเบิดในอ่าวเปอร์เซียนอกชายฝั่งคูเวต
ในวันที่ 8 มิถุนาย พ.ศ. 2538 ผู้กองสก็อตต์ โอ'เกรดี้ นักบินเอฟ-16 ที่ถูกยิงตกในบอสเนีย ได้รับการช่วยเหลือจากซีเอช-53อีสองลำ[12]
ทศวรรษที่ 2543
[แก้]ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ซีเอช-53อีสามลำบนเรือยูเอสเอสเพเลลุยและอีกสามลำบนเรือยูเอสเอสบาทาน ได้บินเป็นระยะทาง 890 กิโลเมตรเพื่อรักษาที่ลงจอดแห่งแรกในอัฟกานิสถาน ด้วยทหาร 1,100 นายที่ยอดเขา[13] การบุกที่เด็ดเดี่ยวนี้เป็นการบุกที่ยาวนานที่สุด พิสัยที่ไกลของพวกมันทำให้นาวิกโยธินสามารถตั้งฐานในทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานได้ [ต้องการอ้างอิง]
ซูเปอร์สตัลเลียนได้ทำหน้าที่สำคัญอีกครั้งในการบุกอิรักเมื่อปีพ.ศ. 2546 พวกมันถูกใช้เพื่อขนส่งเสบียงและอาวุธเข้าไปในแนวหน้า และยังช่วยขนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากแนวหน้าเช่นกัน ซีเอช-53อีและซีเอช-46อีได้ขนส่งหน่วยทหารพรานและหน่วยรบพิเศษของสหรัฐเข้าทำภารกิจเพื่อช่วยเหลือพลทหารเจสซิก้า ลินช์ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2546[14]
ปัจจุบันมีซีเอช-53อีประมาณ 100 ลำของนาวิกโยธินสหรัฐและเอ็มเอช-53อี 30 ลำของกองทัพเรือสหรัฐที่ยังอยู่ในประจำการ
ประเทศผู้ใช้งาน
[แก้]อุบัติเหตุ
[แก้]เอ็มเอช-53อี ซีดรากอนเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐ ด้วยการตาย 27 รายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527-2551 มันถูกจัดเป็นระดับเอในเรื่องอุบัติเหตุ (สร้างความเสียหาย 1 ล้านดอลลาร์สหรัญหรือส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต) โดยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุ 5.96 ต่อ 100,000 ชั่วโมงบิน ซึ่งมากกว่าเฮลิคอปเตอร์แบบอื่นของกองทัพเรือที่มีเพียง 2.26 เท่านั้น[15]
ในปีพ.ศ. 2539 ซีเอช-53อีเกิดตกในโรงงานซิคอร์สกี้ในแสตนฟอร์ด คนงาน 4 คนเสียชีวิต ส่งผลให้กองทัพเรือหยุดการใช้ซีเอช-53อีและเอ็มเอช-53อีทั้งหมด[16]
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ซีดรากอนตกลงในอ่าวเม็กซิโกสังหารลูกเรือไป 4 นาย มันถูกส่งกลับเข้าประจำการและทำการปรับปรุง[17]
ในปี 2548 คดีกล่าวหาก็เริ่มขึ้น โดยชี้ว่าตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 มีอุบัติเหตุจากการเกิดเพลิงไหม้หรือความร้อนอย่างน้อย 16 ครั้ง โดยเกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ที่สองของเฮลิคอปเตอร์ นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่ามันไม่ได้รับการแก้ไขและลูกเรือก็ไม่ถูกฝึกมาเพื่อการนี้เช่นกัน[16][18]
ในช่วงเช้าของวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2548 ซีเอช-53อีลำหนึ่งพร้อมยาวิกโยธินสหรัฐอีก 30 นายและทหารแพทย์อีกหนึ่งนาย ตกลงในรุทบาห์ประเทศอิรัก ทำให้ทั้งหมด 31 นายเสียชีวิต[19][20] กล่าวกันว่าสาเหตุมาจากพายุทะเลทราย การตกครั้งนี้เป็นเหตุการร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในหนึ่งวันในสงครามอิรัก (สำหรับอเมริกา)[21]
ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551 เอ็มเอช-53อีของกองทัพเรือตกขณะทำภารกิจซ้อมรบห่างไปประมาณ 4 ไมล์จากรัฐเท็กซัส ลูกเรือสามคนเสียชีวิตและอีหนึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาล[22]
รายละเอียดของซีเอช-53อี=
[แก้]- ลูกเรือ: นักบิน 2 นาย หัวหน้าลูกเรือหรือพลปืนขวา 1 นาย พลปืนซ้าย 1 นาย และพลปืนท้าย 1 นาย
- ความจุ: ทหาร 37 นาย (55 นายหากใช้เก้าอี้แถวกลาง)
- น้ำหนักบรรทุก: 13,600 กิโลกรัม (ภายใน) 14,500 กิโลกรัม (ภายนอก)
- ความยาว: 30.2 เมตร
- เส้นผ่าศูนย์กลางใบพัด: 24 เมตร
- ความสูง: 8.46 เมตร
- พื้นที่หมุนของใบพัด: 460 ตารางเมตร
- น้ำหนักเปล่า: 15,071 กิโลกรัม
- น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด: 33,300 กิโลกรัม
- ขุมกำลัง: เครื่องยนต์เทอโบชาฟท์ เจเนรัลอิเลคทริก ที64-จีอี-416 สามเครื่อง ให้กำลังเครื่องละ4,380 แรงม้า
- ระบบใบพัด: ใบพัดหลัก 7 ใบ ใบพัดหาง 4 ใบ
- ความเร็วสูงสุด: 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ความเร็วประหยัด: 278 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- พิสัย: 1,000 กิโลเมตร
- ระยะขนส่ง: 1,833 กิโลเมตร
- เพดานบินทำการ: 18,500 ฟุต
- อัตราการไต่ระดับ: 2,500 ฟุตต่อนาที
- อาวุธ
- ปืน
- ปืนกลติดหน้าต่างเอ็กซ์เอ็ม218 .50 บีเอ็มจี 2 กระบอก
- ปืนกลติดท้ายลำจีเอยู-21 .50 บีเอ็มจี 1 กระบอก
- เครื่องปล่อยพลุและเป้าล่อ
- ปืน
ดูเพิ่ม
[แก้]- การพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
- อากาศยานที่เทียบเท่า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Sikorsky Giant Helicopters: S-64, S-65, & S-80, Vectorsite.net, 1 December 2009.
- ↑ 2.0 2.1 Frawley, Gerard. The International Directory of Military Aircraft, p. 148. Aerospace Publications Pty Ltd, 2002. ISBN 1-875671-55-2.
- ↑ Sikorsky S-65 page. AviaStar.org.
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 S-80 Origins / US Marine & Navy Service / Japanese Service, Vectorsite.net, 1 December 2009.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 CH-53A/D/E Sea Stallion AND MH-53E Sea Dragon เก็บถาวร 1997-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, US Navy, 15 November 2000.
- ↑ "Sikorsky Awarded $3.0B Development Contract For Marine Corps CH-53K Heavy-Lift Helicopter" เก็บถาวร 2008-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sikorsky Aircraft, 5 April 2006.
- ↑ "Sikorsky Aircraft Marks Start of CH-53K Development and Demonstration Phase" เก็บถาวร 2008-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sikorsky Aircraft, 17 April 2006.
- ↑ 8.0 8.1 S-80 Upgrades / CH-53K. Vectorsite.net, 1 December 2009.
- ↑ "Marines Up Order for New Heavy Lifter", "Rotor & Wing", 1 August 2007.
- ↑ "US Marines in desperate need of new CH-53K", Flight Daily News, 21 June 2007.
- ↑ CH-53D/E page เก็บถาวร 2006-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. USMC. Accessed 3 November 2007.
- ↑ CH-53E Super Stallion article. Globalsecurity.org
- ↑ Statement of Admiral Vern Clark, before the Senate Armed Services Committee, 25th February 2003 เก็บถาวร 2007-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Navy.mil
- ↑ Stout, Jay A. Hammer from Above, Marine Air Combat Over Iraq. Ballantine Books, 2005. ISBN 978-0-89141-871-9.
- ↑ "MH-53 twice as crash-prone as other copters". Navy Times. Associated Press. 21 January 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-05. สืบค้นเมื่อ 2010-02-24.
- ↑ 16.0 16.1 "Suit blames Sikorsky, GE in air crash" เก็บถาวร 2010-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. koskoff.com, 16 July 2005.
- ↑ Sherman, Christopher. "Copter in crash has spotty record" เก็บถาวร 2008-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Associated Press via theeagle.com, 19 January 2008
- ↑ "Sikorsky, We Have A Problem" เก็บถาวร 2013-11-29 ที่ archive.today. ctnewsjunkie.com, 2 August 2005.
- ↑ "Worst US air losses in Iraq" เก็บถาวร 2008-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Telegraph, 22 August 2007.
- ↑ "Iraq air crash kills 31 US troops". BBC, 26 January 2005.
- ↑ "Deadliest day for U.S. in Iraq war". CNN, 27 January 2005.
- ↑ "MH-53E Sea Dragon Crashes South of Corpus Christi" เก็บถาวร 2008-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. US Navy, 17 January 2008.
- ↑ CH-53A/D/E Sea Stallion and MH-53E Sea Dragon เก็บถาวร 1997-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, US Navy.
- ↑ Donald, David ed. "Sikorsky S-65", The Complete Encyclopedia of World Aircraft. Barnes & Nobel Books, 1997. ISBN 0-7607-0592-5.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติของซีเอช-53อี/เอ็มเอช-53อี เก็บถาวร 1997-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนและข้อมูลของซีเอช-53อีใน Navy.mil เก็บถาวร 2004-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; ซีเอช-53อี เก็บถาวร 2007-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนและซีเอช-53ดี/อีใน USMC.mil เก็บถาวร 2006-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ซีเอช-53อี/เอส-80อี เก็บถาวร 2008-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนและเอ็มเอช-53อีใน Sikorsky.com เก็บถาวร 2008-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The History of Heavy Lift: Can the 1947 Vision of an All Heavy Helicopter Force Achieve Fruition in 2002? เก็บถาวร 2012-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ซีเอช-53อีและเอ็มเอช-53อีใน GlobalSecurity.org
- Vertical Envelopment and the Future Transport Rotorcraft, RAND