ข้ามไปเนื้อหา

อุบัติการณ์มุกเดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
กรณีมุกเดน
ส่วนหนึ่งของ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง

ทหารญี่ปุ่นรุกรานจีนในกรณีมุกเดน
วันที่18 กันยายน ค.ศ. 1931-18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932
สถานที่
ผล จักรวรรดิญี่ปุ่นได้รับชัยชนะ
คู่สงคราม
สาธารณรัฐจีน
กองกำลังปฏิวัติแห่งชาติ
ญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ไต้หวัน จาง เซวเหลียง
ไต้หวัน Ma Zhanshan
ไต้หวัน เฟิง จานไห่
ชิเงะรุ ฮนโจ
จิโร มินะมิ
กำลัง
160,000 30,000 - 66,000
ความสูญเสีย
ไม่ทราบจำนวน ไม่ทราบจำนวน

ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931 ใกล้กับเมืองมุกเดน (หรือ เฉิ่นหยางในปัจจุบัน) ทางแมนจูเรียตอนใต้ ส่วนหนึ่งของรางรถไฟซึ่งกองทัพญี่ปุ่นยังคงยึดครองอยู่ในขณะนั้นเกิดการระเบิดขึ้น[1] กองทัพญี่ปุ่นจึงได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวในการรุกรานแมนจูเรีย และนำไปสู่การก่อตั้งแมนจูกัวในปีต่อมา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรบในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ถึงแม้ว่าสงครามครั้งนี้จะปะทุขึ้นมาในปี ค.ศ. 1937 ก็ตาม

เหตุการณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกกันหลายแบบ เช่น กรณีมุกเดน (อังกฤษ: Mukden Incident) ในญี่ปุ่นเรียก กรณีแมนจูเรีย (อังกฤษ: Manchurian Incident, ญี่ปุ่น: 滿洲事變 หรือ 満州事変) ส่วนในจีนเรียก เหตุการณ์ 18 กันยายน (九•一八事变/九•一八事變Jiǔyībā Shìbiàn) หรือ เหตุการณ์หลิ่วเถียวโกว (柳条沟事变/柳條溝事變Liǔtiáogōu Shìbiàn)

เบื้องหลัง

[แก้]

ความสนใจทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่นที่มีต่อแมนจูเรียนั้นเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่หลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1904-1905 ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาพอร์ตสมัธ ทำให้ญี่ปุ่นได้เช่าทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ (อังกฤษ: South Manchuria Railway) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟจีนสายตะวันออก (อังกฤษ: China Far East Railway) รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าสิทธิการครอบครองทางรถไฟดังกล่าวครอบคลุมถึงสิทธิพิเศษที่รัสเซียได้รับจากจีนในสนธิสัญญาลี-โลบานอฟ แห่งปี ค.ศ. 1896 ซึ่งถูกขยายขอบเขตโดยสัญญาเช่าเขตควันตงในปี ค.ศ. 1898 จึงทำให้ญี่ปุ่นมีอำนาจบริหารอย่างเด็ดขาดในเขตทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ กองทัพญี่ปุ่นได้มียามประจำการอยู่ในพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่รถไฟและรางรถไฟ อย่างไรก็ตาม ทหารเหล่านี้เป็นเพียงพลทหารธรรมดา และต้องฝึกซ้อมรบนอกเขตดังกล่าวบ่อยครั้ง

ทางด้านประเทศจีน ซึ่งยังคงอ่อนแออยู่ในขณะนั้นต้องเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตทางทิศเหนือ รวมทั้งอำนาจทางการเมืองและการทหารของกองทัพควันตงแห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีความพยายามที่จะผนวกเอาแมนจูเรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น

พันเอกแห่งกองทัพควันตง เซชิโร อิตะงะกิ และพันโท คันจิ อิชิวะระ ได้คิดวิธีการที่จะรุกรานแมนจูเรีย ต่อมาอิชิวะระได้นำเสนอแผนการของเขาที่กองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว และได้รับการอนุมัติ แต่มีข้อแม้คือ ต้องเป็นการกระทำเพื่อตอบโต้ความขัดแย้งที่ฝ่ายจีนเป็นผู้เริ่มก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม จิโร มินะมิ ได้ย้ายพันเอก Yoshitsugu Tatekawa ไปยังแมนจูเรียเพื่อที่จะควบคุมความประพฤติของกองทัพควันตง เซชิโร อิตะงะกิ และ คันจิ อิชิวะระ รู้ว่าการรอคอยการตอบโต้จากจีน หลังจากความพยายามยุยงหลายครั้งแล้วไม่มีประโยชน์ใด ดังนั้น พวกเขาจึงคิดหาวิธีของตัวเอง

แผนที่แสดงอาณาเขตของแมนจูเรียเมื่อปี 1931

แผนการที่ว่าคือ การก่อวินาศกรรมตามแนวรางรถไฟในเขตของจีนใกล้กับทะเลสาบ Liǔtiáo (柳條湖liǔtiáohú) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ไม่มีชื่อทางการ และไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อทั้งฝ่ายจีนและญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่ว่ามันอยู่ห่างจากค่ายทหาร Beidaying (北大營bèidàyíng) ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ "จอมพลหนุ่ม" จาง เซวเหลียง เพียงแปดร้อยเมตรเท่านั้น แผนการของญี่ปุ่นเป็นการกล่าวหาทหารจีนว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อวินาศกรรม ซึ่งญี่ปุ่นจะสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานอย่างเต็มตัว นอกจากนี้ เพื่อทำให้การก่อวินาศกรรมครั้งนี้ดูเหมือนเป็นแผนการที่จีนวางไว้เพื่อโจมตีเป้าหมายสำคัญ (และทำให้การตอบโต้ของญี่ปุ่นเป็นการป้องกันทางรถไฟอันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของตน) ญี่ปุ่นจึงตั้งชื่อให้กับบริเวณนี้ว่า "Liǔtiáo Ditch" (柳條溝liǔtiáogōu) หรือ "สะพาน Liǔtiáo" (柳條橋liǔtiáoqiáo) ทั้ง ๆ ที่พื้นที่นี้เป็นเพียงทางรถไฟเล็ก ๆ ที่อยู่บนพื้นราบเท่านั้น

ลำดับเหตุการณ์

[แก้]
รางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ใกล้กับเมืองมุกเดน ซึ่งถูกวางระเบิดโดยทหารญี่ปุ่น

การวางระเบิดทางรถไฟ

[แก้]

พันเอก เซชิโร อิตะงะกิ พันโท คันจิ อิชิวะระ พันเอก เคนจิ โดะอิฮะระ และพันตรี ทะกะโยะชิ ทะนะกะ[2] ได้สำเร็จแผนการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1931 โดยหลักของแผนคือ อุบายการสร้างสระว่ายน้ำตรงที่พักของนายทหารญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วมันคือ บังเกอร์คอนกรีตสำหรับปืนใหญ่ขนาด 9.2 นิ้ว ซึ่งจะถูกนำเข้ามาเก็บไว้อย่างลับ ๆ [3] โดยฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการเมื่อร้อยโทซุเอะโมะริ โคะโมะโตะ แห่งกองกำลังทหารประจำการอิสระ (独立守備隊) แห่งกรมทหารราบที่ 29 ซึ่งรักษาทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ ทำการวางระเบิดในระยะใกล้เคียงกับทางรถไฟ แต่ไกลพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายจริง ๆ ในเวลาประมาณ 22.20 น. ของวันที่ 18 กันยายน ทหารญี่ปุ่นจุดระเบิด แต่ระเบิดไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ขนาดที่ว่ารถไฟจากเมืองชางชุนยังสามารถวิ่งผ่านจุดนั้นและไปถึงเฉิ่นหยางเมื่อเวลา 22.30 น. ได้ตามปกติ[4]

การรุกรานแมนจูเรีย

[แก้]

เมื่อตอนเช้าของวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1931 ปืนใหญ่ได้ถูกติดตั้งไว้ที่ที่พักของนายทหารญี่ปุ่นทำการเปิดฉากระดมยิงใส่ที่ตั้งของทหารจีน เพื่อที่จะตอบโต้ทหารจีนตามข้อกล่าวหาในการรุกรานทางรถไฟ กองกำลังทางอากาศเพียงเล็กน้อยของจีนซึ่งนำโดยจาง เซวเหลียงถูกทำลาย ทหารจีนต้องถอนกำลังออกจากค่าย Beidaying ทหารญี่ปุ่นเพียงห้าร้อยนายโจมตีที่ตั้งของทหารจีนจำนวนเจ็ดพันนาย แต่เนื่องจากทหารจีนส่วนมากเป็นทหารใหม่หรือทหารเกณฑ์ จึงไม่อาจต้านทานทหารญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์เหนือกว่าได้เลย เมื่อเวลาผ่านไปถึงตอนเย็น ทหารจีนห้าร้อยนายเสียชีวิต ขณะที่ญี่ปุ่นเสียทหารไปเพียงสองนายเท่านั้น[5] ขณะเดียวกันที่เมืองต้าเหลียน ผู้บัญชาการกองทัพควันตง นายพลชิเงะรุ ฮนโจ รู้สึกใจหายที่การรุกรานเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากเขา[6] แต่ว่าเขาถูกโน้มน้าวโดยอิชิวะระและให้อนุญาตในภายหลัง เขาได้ย้ายกองบัญชาการใหญ่กองทัพควันตงไปยังมุกเดน และออกคำสั่งให้นายพลเซ็นจูโร ฮะยะชิ แห่งกองทัพที่ถูกเลือกของญี่ปุ่นในเกาหลีส่งกำลังเสริมมายังพื้นที่ เมื่อถึงเวลา 4.00 น. ของวันที่ 19 กันยายน มุกเดนถูกยึด และเครื่องบินของกองทัพที่ถูกเลือกก็สามารถลงจอดที่มุกเดนได้ จาง เซวเหลียง ซึ่งได้รับคำสั่งจากพรรคก๊กมินตั๋งให้ดำเนินนโยบายไม่ต่อต้าน ได้สั่งห้ามไม่ให้ทหารของเขาต่อสู้และวางอาวุธในกรณีที่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามา ทหารญี่ปุ่นจึงมุ่งหน้าสู่ชางชุน ตานตองและบริเวณรอบข้างอย่างง่ายดาย และแม้จะมีการต่อต้านจากกองกำลังท้องถิ่นในภายหลัง นครสำคัญในมณฑลเหลียวหนิง มณฑลจี๋หลินและมณฑลเฮย์หลงเจียงก็ถูกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดได้ในเวลาเพียงห้าเดือนหลังจากกรณีมุกเดนเริ่มต้น

ผลที่เกิดขึ้น

[แก้]
คณะรัฐมนตรีของแมนจูกัว

ความเห็นของชาวจีนจำนวนมากได้ติเตียนจาง เซวเหลียงที่ล่าถอยโดยไม่ทำการต่อต้าน แม้ว่ารัฐบาลกลางก๊กมินตั๋งมีส่วนรับผิดชอบในทางอ้อมเพราะนโยบายดังกล่าว หลายคนสงสัยว่ากองทัพจีนตั้ง 250,000 นาย กลับไม่สามารถต้านทานกองทัพควันตงเพียง 11,000 นายได้ นอกจากนั้น กองทัพของเขายังมีอาวุธที่ทันสมัยที่สุดในจีน ทั้งกำลังคนและรถถัง เครื่องบินรบ 60 ลำ ปืนกลกว่า 4,000 กระบอก และกองพันปืนใหญ่อีกจำนวนหนึ่งด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อได้เปรียบดังกล่าวขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ หนึ่งคือ กองทัพญี่ปุ่นสามารถได้รับกำลังเสริมจากเกาหลีทางรถไฟได้ ซึ่งเป็นดินแดนของญี่ปุ่นที่อยู่ประชิดกับแมนจูเรีย สองคือ กองทัพมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีนตั้งอย่ทางตอนใต้ของกำแพงเมืองจีน ในมณฑลหูเป่ย ขณะที่กองกำลังทางตอนเหนือวางกำลังอย่างกระจัดกระจายไปทั่วแมนจูเรีย และกองทัพจีนก็ไม่อาจวางกำลังพลได้รวดเร็วพอที่จะหยุดยั้งการบุกของญี่ปุ่นได้ นอกจากนี้ ทหารจีนในพื้นที่ยังเป็นพวกฝึกหัด มีขวัญกำลังใจต่ำ และมีความจงรักภักดีที่คลอนแคลน และที่สำคัญที่สุด คือ สายลับของญี่ปุ่นได้แทรกซึมการบัญชาการของจาง เซวเหลียง เนื่องจากมีประวัติว่าเขามักจะไว้ใจที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นปฏิบัติการได้อย่างง่ายดาย

ทางด้านรัฐบาลจีนต้องประสบกับปัญหาภายในหลายด้าน รวมไปถึงรัฐบาลกว่างโจวที่แยกตัวเป็นเอกราช นำโดยนาย Hu Hanmin แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเหตุการณ์อุทกภัยจากแม่น้ำแยงซี ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัยหลายหมื่นคน นอกเหนือจากนั้น นายพลจางก็ไม่ได้อยู่ในแมนจูเรียในขณะนั้น แต่ยังอยู่ในโรงพยาบาลในนครปักกิ่ง เพื่อเพิ่มเงินสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อย่างไรก็ตาม เหล่าหนังสือพิมพ์ของจีนต่าง ๆ ก็เยาะเย้ยนายพลจางว่าเป็น "นายพลผู้ให้ศัตรูเข้าบ้าน" (不抵抗將軍)

ร้านค้าในเมืองเซี่ยงไฮ้ติดป้ายประกาศต่อต้านญี่ปุ่นหลังกรณีมุกเดน
ป้ายในเมืองเซี่ยงไฮ้แสดงข้อความ (反日) ที่แปลว่า "ต้านญี่ปุ่น"

จากปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้า รัฐบาลกลางจึงตัดสินใจพึ่งองค์การเพื่อสันติภาพนานาชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้กล่าวประท้วงรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างรุนแรง และต้องการให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกไปจากแมนจูเรียทั้งหมด ได้ร้องอุทธรณ์ต่อสันนิบาตชาติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม สันนิบาตชาติได้ผ่านมติให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกไปจากดินแดนจีนทั้งหมดภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะดำเนินการตามมติดังกล่าวและยืนยันที่จะเจรจาโดยตรงต่อรัฐบาลจีนเท่านั้น

การเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศมีขึ้นเป็นพัก ๆ แต่ไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน รัฐบาลกลางของจีนได้เปิดการประชุมขึ้น แต่รัฐบาลกว่างโจวได้ออกมาเรียกร้องให้เจียงไคเช็คลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียดินแดนแมนจูเรีย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม เจียงไคเช็คได้ลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐบาลชาตินิยมและตำแหน่งอัครเสนาบดีแห่งสาธารณรัฐจีน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 1932 เลขานุการแห่งรัฐของสหรัฐอเมริกา เฮนรี่ สติมสัน ได้ประกาศลัทธิสติมสันออกมา โดยบอกว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ให้การรับรองแก่รัฐใหม่ที่ตั้งขึ้นจากผลของการรุกรานแมนจูเรียดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 มกราคม ผู้ตรวจการของสันนิบาตชาติ นำโดย Earl of Lytton ชาวอังกฤษ ได้เดินทางมายังเซี่ยงไฮ้เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ในเดือนมีนาคม ญี่ปุ่นได้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดแมนจูกัวขึ้น โดยยกให้จักรพรรดิผู่อี๋ขึ้นเป็นประมุขแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม รายงานของนาย Lytton ได้รับการตีพิมพ์และปฏิเสธคำแก้ตัวของญี่ปุ่นที่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเพื่อการป้องกันตัวเอง รายงานฉบับดังกล่าวยังได้รวบรวมข้อมูลว่าแมนจูกัวเป็นผลมาจากความรุนแรงทางด้านการทหารของญี่ปุ่นในจีน ขณะที่ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นนั้นจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เนื่องจากว่าเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่น สันนิบาตชาติปฏิเสธที่จะรับรองให้แมนจูกัวเป็นประเทศเอกราช และส่งผลให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติเมื่อเดือนมีนาคม 1933

พันเอก Doihara ได้ใช้กรณีมุกเดนเพื่อเป็นการปกปิดข้อมูล ตั้งแต่พบว่ากองทัพจีนได้ต้านทานเพียงเล็กน้อยที่เมืองมุกเดน เขาจึงทูลแก่จักรพรรดิผู่อี๋ว่า ประเทศจีนยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์อยู่ นอกจากนั้น หน่วยข่าวกรองของญี่ปุ่นยังได้ใส่ร้ายป้ายสีจาง เจาหลินและบุตรชาย จาง เซวเหลียงในฐานะที่แยกแมนจูเรียออกไป และในความเป็นจริงแล้ว แมนจูเรียภายใต้การปกครองของจาง เซวเหลียงก็มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดและการคอร์รัปชั่นอย่างหนัก[7]

การโต้แย้ง

[แก้]

จนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการโต้เถียงกันถึงผู้ที่ก่อวินาศกรรมรางรถถไฟสายแมนจูเรียดังกล่าว มีหลักฐานยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเป็นฝีมือของนายทหารหนุ่มแห่งกองทัพควันตงซึ่งได้มีการสมรู้ร่วมคิดกัน แม้ว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับคำสั่งจากโตเกียวก็ตาม ขณะที่ทหารบางนายของกองทัพญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะเป็นผู้วางระเบิด พันตรี Tadashi Hanaya ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยของ Itagaki Seishiro ในขณะนั้นได้สารภาพและยอมรับว่าเป็นผู้วางระเบิดจริง และเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นการจัดฉากของฝ่ายญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามได้มีการสืบสวนในเรื่องดังกล่าวได้พบว่าระเบิดดั้งเดิมของฝ่ายญี่ปุ่นนั้นไม่ทำงานและจำเป็นต้องวางระเบิดอีกลูกหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดผลที่ตามมา คือ กองทัพควันตงได้ประสบความสำเร็จในการวางระเบิด และรุกรานแมนจูเรีย รวมไปถึงการก่อตั้งแมนจูกัวขึ้นเป็นรัฐบาลหุ่นเชิด

"พิพิธภัณฑ์นิทรรศการเหตุการณ์ 9.18" ที่เมืองเฉิ่นหยาง โดยเป็นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้บอกว่าฝ่ายญี่ปุ่นเป็นฝ่ายวางระเบิด แต่ว่าที่พิพิธภัณฑ์ Yushukan ของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับ Yasukuni Shrine ในกรุงโตเกียวได้โทษว่าฝ่ายจีนเป็นฝ่ายวางระเบิด

หนังสือเรื่อง Japan's Imperial Conspiracy (1971) ของนายเดวิด เบอร์กามินิได้บรรยายถึงรายละเอียดของทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายญี่ปุ่นตลอดช่วงเวลาของกรณีมุกเดน เขาได้สรุปว่าการเข้าใจผิดครั้งใหญ่หลวงว่ากรณีมุกเดนเกิดขึ้นจากแผนการของนายทหารหนุ่มอารมณ์ร้อนแห่งกองทัพญี่ปุ่น โดยไม่ได้รับคำสั่งมาจากกรุงโตเกียว เขาได้บอกว่า จักรพรรดิฮิโรฮิโตเองที่ทรงอนุมัติแผนการดังกล่าวด้วยพระองค์เอง อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ เจมส์ เวลแลนด์ได้สรุปว่านายทหารอาวุโสได้ปล่อยให้มีการปฏิบัติการภาคสนามได้ด้วยกองกำลังของตนเอง และอนุมัติแผนการดังกล่าวในภายหลัง[8]

ในเดือนสิงหาคม 2006 หนังสือพิมพ์ชื่อดังของญี่ปุ่น Yomiuri Shimbun ได้ตีพืมพ์ผลงานวิจัยเป็นเวลาหนึ่งปี โดยตั้งคคำถามว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบต่อสงครามโชวะ โดยมีการพาดพึงถึงกรณีมุกเดนอยู่ด้วย ซึ่งเนื้อหาได้กล่าวโจมตีนายทหารของญี่ปุ่นและนักการเมืองในขณะนั้นที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[9][10]

เหยื่อจำนวนมากและลูกหลานได้ผลักดันให้รัฐบาลจีนประกาศให้วันที่ 18 กันยายนของทุกปีเป็น "วันเลวทรามแห่งชาติ" (อังกฤษ: National Humiliation Day) รัฐบาลจีนยังได้เปิด "พิพิธภัณฑ์นิทรรศการเหตุการณ์ 9.18" เมื่อวันที่ 18 กันยายน 1991 โดยบุคคลสำคัญที่ได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Ryutaro Hashimoto ในปี 1997

การโต้แย้งกันยังรวมไปถึงประเด็นการจัดการปัญหาดังกล่าวของสันนิบาตชาติ และรายงานของ Lytton ในภายหลัง นาย เอ.เจ.พี. เทย์เลอร์ ได้เขียนว่า "ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายอันตึงเครียดครั้งแรก" สันนิบาตก็โค้งงอและยอมจำนน ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะมีอำนาจอยู่ในภาคพื้นตะวันออกไกลอยู่ก็ตาม แต่ว่าไม่สามารถลงมือตอบโต้อะไรได้มาก เพียงแต่มีการ "ลงโทษตามศีลธรรมจรรยาเท่านั้น"[11]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Fenby, Jonathan. Chiang Kai-shek: China's Generalissimo and the Nation He Lost. Carroll & Graf Publishers. 2003. pp. 202
  2. Edward Behr, The Last Emperor, 1987, p. 180
  3. Edward Behr, ibid, p. 180
  4. CHRONOLOGY OF MAJOR INTERNATIONAL EVENTS FROM 1931 THROUGH 1943, WITH OSTENSIBLE REASONS ADVANCED FOR THE OCCURRENCE THEREOF 78th Congress, 2d Session. "การระเบิดได้เกิดขึ้นจริงบนรางรถไฟหรือบริเวณใกล้เคียงระหว่าง 22.00 ถึง 22.30 วันที่ 18 กันยายน แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรางรถไฟ ถึงมีจริงมันก็ไม่สามารถทำให้รถไฟจากชางชุนที่วิ่งลงใต้ไปถึงที่หมายช้ากว่ากำหนด และไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักฐานของการปฏิบัติการทางการทหาร การปฏิบัติการของทหารญี่ปุ่นในคืนนี้...ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการป้องกันตนเองที่สมเหตุสมผลได้เลย . . ." [Opinion of Commission of Enquiry.] Ibid., p. 71.,
  5. Edward Behr, ibid, p. 182
  6. Chen, World War II Database
  7. Edward Behr, ibid, p. 182-3
  8. James Weland, Misguided Intelligence: Japanese Military Intelligence Officers in the Manchurian Incident, September 1931 The Journal of Military History, Vol. 58, No. 3. (July 1994), pp. 445-460.
  9. "WAR RESPONSIBILITY--delving into the past (1) / Who should bear the most blame for the Showa War?". Yomiuri Shimbun. 2006-08-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-21. สืบค้นเมื่อ 2008-09-18.
  10. "WAR RESPONSIBILITY--delving into the past (1) / Manchuria start of slide into war". Yomiuri Shimbun. 2006-08-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-21. สืบค้นเมื่อ 2008-09-18.
  11. A.J.P. Taylor, The Origins of the Second World War, pp. 91-91.

อ้างอิง

[แก้]
  • Hsu Long-hsuen and Chang Ming-kai, History of The Sino-Japanese War (1937-1945) 2nd Ed. ,1971. Translated by Wen Ha-hsiung, Chung Wu Publishing; 33, 140th Lane, Tung-hwa Street, Taipei, Taiwan Republic of China.
  • Jowett, Philip (2005). Rays of the Rising Sun, Volume 1: Japan's Asian Allies 1931-45, China and Manchukuo. Helion and Company Ltd. ISBN 1-874622-21-3.
  • Matsusaka, Yoshihisa Tak (2003). The Making of Japanese Manchuria, 1904-1932. Harvard University Asia Center. ISBN 0-674-01206-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]