พระราหู
พระราหู | |
---|---|
เทพแห่งความมัวเมา ความมืดมิด อุกกาบาต สุริยุปราคา จันทรุปราคา | |
ชื่อในอักษรเทวนาครี | राहु |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทวดานพเคราะห์ และอสูร |
ดาวพระเคราะห์ | ราหูโลก หรือ ดาวมฤตยู (ดาวยูเรนัส) |
อาวุธ | กระบอง,ค้อน,ดาบ,โล่,หอก,ตรีศูล,คทา,กริช ฯลฯ |
พาหนะ | ราชสีห์สีน้ำเงิน,เสือ,ราชรถเทียมเสือ,ราชรถสีดำเทียมม้าสีดำ ๘ ตัว |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | พระนางสิงหิไกกะษี |
บุตร - ธิดา | พระนางอมาวสี,นิลปานัน(วานรสิบแปดมงกุฎในรามเกียรติ์) |
บิดา-มารดา |
|
พระราหู (สันสกฤต: राहु ราหู) เป็นอสูรและเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่งตามคติของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ
กำเนิด
การกำเนิดของพระราหูมี 4 ตำนานคือ
๑. ในฤคเวท พระราหู เป็นทานพนามว่า สวรรภานุ เกิดรู้สึกอิจฉาพระอาทิตย์ จึงจับพระอาทิตย์กลืนไว้ พระอินทร์จึงใช้จักรตัดหัวสวรรภานุและปลดปล่อยพระอาทิตย์ออกมา
๒. ในพุทธศาสนา พระราหู มีนามว่า พระอสุรินทราหู เป็นอุปราชท้าวพรหมทัตตาสูร เป็นโอรสท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้ปกครองอสูรทางทิศเหนือ มีพละกำลังกล้าแกร่งมากกว่าอสูรทั้งหมด เป็นเทวดาตระกูลเนวาสิก ที่มีท้าวเวปจิตติเป็นใหญ่ ต่อมาท้าวสักกะได้ยึดอำนาจและขับไล่พวกเทวดาตระกูลเนวาสิก ลงมาจากเขาพระสุเมรุในขณะที่กำลังเมาสุรา ทำให้พวกเทวดาเหล่านี้ประกาศตนใหม่ว่าเป็นพวกอสุรา หรือ อสูร และสร้างเมืองอสูรขึ้นในหุบเขาตรีกูฏ ใต้เขาพระสุเมรุ นอกจากและยังเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอีกด้วย
๓. ในคติไทย พระศิวะสร้างพระราหูขึ้นมาจากการที่ทรงนำหัวผีโขมด ๑๒ หัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง (บางตำราก็ว่า ห่อผ้าสีทองสัมฤทธิ์) แล้วประพรมด้วยน้ำอมฤต เสกได้เป็นพระราหู มีสีวรกายสีนิลออกไปทางทองสัมฤทธิ์ มีวิมานสีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) และแสดงถึงอักษรวรรค ย (ย ร ล ว) เรียกว่า คชนาม
๔. ในคติฮินดู พระราหูเป็นโอรสของท้าววิประจิตติ ราชาแห่งเหล่าทานพ และนางสิงหิกา น้องสาวของราชาแทตย์หิรัณยกศิปุ เมื่อเกิดมามีกายเป็นอสูรและมีหางเป็นนาค
ตามนิทานพื้นบ้าน ในอดีตชาติ พระราหูได้เกิดมาเป็นน้องร่วมท้องเดียวกันกับเทวดานพเคราะห์อีกสององค์ คือ พระอาทิตย์และพระจันทร์ โดยพระราหูเกิดเป็นน้องสุดท้อง ครั้งหนึ่ง พระราหูได้ร่วมทำบุญถวายพระที่มารับบิณฑบาตร่วมกับพี่ทั้งสองคน พระอาทิตย์ตักบาตรในครั้งนั้นด้วยภาชนะทอง พระจันทร์ตักบาตรด้วยภาชนะเงิน ส่วนพระราหูตักบาตรด้วยภาชนะที่ทำมาจากกะลามะพร้าว เมื่อทั้ง ๓ พี่น้องได้มาเกิดเป็นเทวดานพเคราะห์ พระอาทิตย์จึงมีรัศมีและวรรณะเปล่งปลั่งดุจทองคำ พระจันทร์มีรัศมีและวรรณะเป็นสีขาวสว่างดุจเงิน และพระราหูมีรัศมีและวรรณะเป็นสีนิลออกไปทางทองสัมฤทธิ์ (แต่ในบางตำราก็ว่ากายของพระราหูนั้นมีสีดำบ้าง สีเขียวบ้าง สีทองบ้าง แตกต่างกันไป)
พระราหูเป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางลุ่มหลงมัวเมา ฝักใฝ่ในทางด้านมืด พระราหูเป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับพระพุธอันมีเหตุตามนิทานชาติเวร เล่าว่า พระราหูเกิดเป็นคฤหบดี พระเสาร์เกิดเป็นพ่อค้า พระจันทร์เกิดเป็นคนจนผู้ยากไร้ พระพุธเกิดเป็นสุนัขในบ้านคฤหบดี คนจนได้ไปยืมเงินของคฤหบดี แต่ไม่มีเงินใช้หนี้จึงต้องหนีไป วันหนึ่งพ่อค้าผู้เป็นเพื่อนของคฤหบดี ได้มาพบคนจนเข้าจึงนำเรื่องไปแจ้งกับคฤหบดี สุนัขที่เฝ้าบ้านได้ฟังแล้วเกิดสงสารคนจนจึงเข้าขบกัดคฤหบดีจนไม่สามารถไปตามจับคนจนได้ ตั้งแต่นั้น พระราหูจึงเป็นมิตรกับพระเสาร์ ส่วนพระพุธเป็นศัตรูกับพระราหู และพระพุธเป็นมิตรกับพระจันทร์ จากตำนานนี้ผู้ใดที่เกิดวันพุธกลางคืนแล้วพระเสาร์โคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะมีมิตรสหายเกื้อหนุน ได้ลาภยศทรัพย์สินเงินทอง ได้ยศศักดิ์แลเชื่อเสียง หากพระพุธโคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะถูกลอบทำร้าย มีเหตุให้เสียทรัพย์
สาเหตุที่พระราหูมีกายเพียงครึ่งท่อน
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่เหล่าเทวดาได้ทำพิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอมฤตนั้นมีทั้งเทวดาและอสูรทั้งหลายเข้าร่วมทำพิธี พระราหูได้แอบอยู่ในกลีบเมฆ เมื่อทำพิธีสำเร็จ เหล่าเทพและอสูรได้ยื้อแย่งน้ำอมฤตกัน พระวิษณุทรงแปลงกายเป็นนางโมหิณี เพื่อแบ่งน้ำอมฤต พระราหูจึงรีบแปลงกายเป็นเทวดา แล้วลอบดื่มน้ำอมฤตที่เกิดขึ้นนั้น พระอาทิตย์และพระจันทร์ได้เห็นเข้าจึงรีบเอาความนั้นไปทูลบอกพระวิษณุ พระวิษณุทรงทราบจึงขว้างจักรสุทรรศนะตัดไปถูกกลางตัวพระราหูขาดกลายเป็นสองท่อน แต่ด้วยว่าน้ำอมฤตที่พระราหูได้ดื่มนั้นไหลไปจนถึงกลางตัวพระราหูแล้วพอดี ครึ่งบนของพระราหูที่ถูกตัดออกจึงกลายเป็นอมตะ ส่วนครึ่งล่างนั้นได้กลายมาเป็นพระเคราะห์องค์ที่ ๙ แห่งเหล่าเทวดานพเคราะห์ ก็คือ พระเกตุ แต่ถ้าในทางคติฮินดู จักรนั้นตัดที่คอของราหู ส่วนหัวคือพระราหู ส่วนตัวคือพระเกตุ บ้างก็ว่าพระศุกร์ได้นำนาคมาผ่าเป็น ๒ ส่วน เพื่อมาต่อให้ราหูและเกตุ พระราหูมีหัวเป็นอสูรตัวเป็นเทพนาค พระเกตุมีหัวเป็นเทพนาคตัวเป็นอสูร จากนั้นเมื่อครั้งใดที่พระราหูได้พบเจอพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ พระราหูก็จะจับมากลืนกินด้วยความโกรธแค้นที่เทวดาทั้งสององค์นำเรื่องไปทูลพระนารายณ์ แต่อมไว้ในปากได้ไม่นานก็ต้องคายออกมาเพราะทนความร้อนและรัศมีของเทวดานพเคราะห์ทั้งสองไม่ได้ เกิดเป็นเหตุของปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคาตามคติความเชื่อของคนโบราณ
ลักษณะกายของพระราหู
ลักษณะของพระราหู ในคติไทย เป็นเทพอสูรมีกายสีนิลออกไปทางทองสัมฤทธิ์ มีกายครึ่งท่อน บ้างก็เต็มองค์ บ้างก็เป็นครึ่งอสูรครึ่งนาค ปากขบ ตาโพลง มี ๒ กร ทรงกระบองเป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า สวมอาภรณ์สีทองและสีม่วง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำ ทองสัมฤทธิ์ และแก้วนิลรัตน์ ทรงครุฑเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพอสูรมีกายสีนีล กายใหญ่ มีเศียรใหญ่ มี ๔ กร ทรงคทา ตรีศูล คทา ดาบ โล่ ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ สวมอาภรณ์สีน้ำเงิน ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำ ทองสัมฤทธิ์และแก้วนิลรัตน์ ทรงเสือหรือราชสีห์เป็นพาหนะ บ้างก็วาดพระราหูให้มีแต่หัว สถิตบนดอกบัวบนราชรถเทียมด้วยเสือ บ้างก็วาดพระราหูมีหัวแล้วมีหางนาค ในพระพุทธศาสนา พระอสุรินทราหูองค์นี้ เป็นองค์อุปราชของท้าวพรหมทัตตาสูร ได้ปกครองด้านทิศเหนือของอสูรพิภพ มีพละกำลังกล้าแข็ง และมีใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งกว่าบรรดาอสูรทั่วๆ ไป ร่างกายของอสุรินทราหูนี้ มีอัตภาพใหญ่โตมากกว่าเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ โดยมีกายสูงถึง ๔,๘๐๐ โยชน์ รอบกายหนา ๖๐๐ โยชน์ ศีรษะใหญ่ ๙๐๐ โยชน์ รอบศีรษะกว้าง ๑,๒๐๐ โยชน์ บริเวณหน้าผากกว้าง ๓๐๐ โยชน์ คิ้วกว้าง ๒๐๐ โยชน์ ระหว่างคิ้วยาวห่างกัน ๕๐ โยชน์ ตาใหญ่ ๒๐๐ โยชน์ จมูกกว้างยาวได้ ๓๐๐ โยชน์ ปากกว้าง ๓๐๐ โยชน์ แก้มสองข้างใหญ่ข้างละ ๑๘๐ โยชน์ ระหว่างแขนทั้งสองยาว ๑,๒๐๐ โยชน์ คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหนา ๓๐๐ โยชน์ ข้อนิ้วยาว ๑๕ โยชน์ นิ้วยาว ๕๐ โยชน์ เมื่ออสุรินทราหูยืนในมหาสมุทร นํ้าในมหาสมุทรท่วมเพียงแค่หัวเข่าเท่านั้นเอง เมื่อพระอสุรินทราหูมีใจริษยาพระอาทิตย์ พระจันทร์ ก็จะขึ้นไปยังเขายุคนธรเพื่อบดบังดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โดยการอมไว้บ้าง ซ่อนไว้ใต้คางบ้าง เอามือบังบ้าง เหน็บไว้ใต้รักแร้บ้าง พระอสุรินทราหูหากใช้มือตักน้ำจากมหาสมุทร แล้วโยนขึ้นสู่ท้องฟ้า จะก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พระราหู ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระสวรรภานุ,พระอรรธกาย,พระอรรธศีรษะ,พระนีลโลหิต,พระมหาวีรยะ,พระสุรศัตรู,พระตมัส,พระเมฆวรรณ,พระกฤษณสรรปราช,พระตโมรูป,พระนีลวัสนะ,พระศูระ,พระอัษฏมเคราะห์,พระศเนรมิตร ฯลฯ
ในโหราศาสตร์ไทย พระราหูถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ ๘ (เลขแปดไทย) และด้วยเหตุที่สร้างขึ้นมาจากหัวผีโขมด ๑๒ หัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๒ เป็นเทวดาของผู้ที่เกิดวันพุธในเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังใช้แทนดาวมฤตยู (ดาวยูเรนัส) และเทียบได้กับยูเรนัส หรือ ไทฟอน ตามเทพปกรณัมกรีก
ส่วนราหูทางสากลและอินเดียคือจุดตัดของวงโคจรโลกรอบดวงอาทิตย์ตัดกับวงโคจรดวงจันทร์โคจรรอบโลก คือช่วงที่เป็นจุดตัดที่มีทิศทางการโคจรของดวงจันทร์จากที่อยู่ทิศเหนือของเส้นวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์กำลังเดินลงไปทางทิศใต้ของเส้นวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์
ในพุทธศาสนา
คัมภีร์อนาคตวงศ์ ระบุว่าพระโคตมพุทธเจ้าตรัสกับพระสารีบุตรว่า พระอสุรินทราหูจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระนารทสัมพุทธเจ้า" สูง ๒๐ ศอก พระชนมายุ ๑๐,๐๐๐ ปี มีไม้จันทน์เป็นที่ตรัสรู้ ได้บำเพ็ญปรมัตถบารมี ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นกษัตริย์มีพระนามว่า พระยาสิริคุตตมหาราช ครองเมือง มัลลนคร มีพระราชอัครมเหสี นามว่า ลัมภุราชเทวี มีพระราชโอรสและพระราชธิดา นามว่า นิโครธกุมารและโคตมีกุมารีตามลำดับ วันหนึ่งมี พราหมณ์ ๘ ท่าน มาทูลขอราชสมบัติและพระนคร พระองค์ก็พระราชทานด้วยจิตใจที่ปลาบปลื้มยินดี และพาครอบครัวออกบวช ไปอาศัยอยู่ที่อาศรมในป่า ในครั้งนั้นมียักษ์ชื่อว่า ยันตะ ร่างกายสูงถึง ๑๒๐ ศอก มาขอพระราชโอรสและธิดาทั้งสอง พระองค์ เพื่อเป็นอาหาร และ ยันตะยักษ์ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าได้ถวายพระราชโอรสและพระราชธิดาแล้ว อนาคตจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน เมื่อพระยาสิริคุตตมหาราชได้ฟังเช่นนั้นเกิดความปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก จึงตอบว่า ไม่ใช่ไม่รักลูกทั้งสองแต่ท่านเป็นผู้ที่รักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าสิ่งใด จึงตัดใจสละพระกุมารีทั้ง ๒ ให้ยักษ์และหลั่งน้ำเหนือมือของยักษ์ พร้อมทั้งประกาศแก่เทวดาและพระแม่ธรณีให้เป็นสักขีพยาน แห่งมหาทานนี้ เมื่อยักษ์ได้รับมอบพระกุมารีทั้งสองไปแล้ว ก็เคี้ยวกินต่อหน้าต่อตาพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เห็นเลือดที่ไหลจากปากของยักษ์ ก็มิได้หวาดกลัวเลยด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยยินดี และนับเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตพระองค์ที่ ๕ (นับพระศรีอริยเมตไตรยเป็นพระองค์ที่ ๑)[1]
อ้างอิง
- อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ.พรหมชาติ ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
- อ.เทพย์ สาริกบุตร และคณะ.พรหมชาติ ฉบับราษฎร์. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
- ↑ "หมอดูเตือน 'ราหู' ย้ายใหญ่ ! ย้ำ 4 ราศี ไหว้รับมือความแรง!". ไทยรัฐ. 29 June 2014. สืบค้นเมื่อ 29 June 2014.