ข้ามไปเนื้อหา

แมว

เพิ่มหัวข้อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แมวบ้าน)

แมว
แมวสายพันธุ์ต่าง ๆ
สถานะการอนุรักษ์
สัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: สัตว์กินเนื้อ
Carnivora
อันดับย่อย: เฟลิฟอเมีย
Feliformia
วงศ์: เสือและแมว
Felidae
วงศ์ย่อย: แมว
Felinae
สกุล: สกุลแมว
Felis
ลินเนียส, 1758[2]
สปีชีส์: Felis catus[1]
ชื่อทวินาม
Felis catus[1]
ลินเนียส, 1758[2]
ชื่อพ้อง
  • Catus domesticus Erxleben, 1777[3]
  • F. angorensis Gmelin, 1788
  • F. vulgaris Fischer, 1829

แมว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Felis catus) เป็นสปีชีส์สัตว์เลี้ยงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินเนื้อขนาดเล็ก[1][2] โดยเป็นแมวสปีชีส์เดียวในวงศ์เสือและแมว ที่ถูกปรับเป็นสัตว์เลี้ยง และมักเรียกเป็น แมวบ้าน เพื่อแยกมันจากสมาชิกที่อยู่ในป่า[4] แมวเหล่านี้สามารถอาศัยเป็นแมวบ้าน, แมวฟาร์ม หรือแมวจรได้ แต่แมวประเภทหลังสุดมักอาศัยอยู่อย่างอิสระและหลีกเลี่ยงการติดต่อกับมนุษย์[5] มนุษย์ให้ค่ากับแมวบ้านในฐานะคู่หูและความสามารถในการฆ่าสัตว์ฟันแทะ สำนักจดทะเบียนแมว (cat registries) หลายแห่งยอมรับสายพันธุ์แมวประมาณ 60 สายพันธุ์[6]

แมวมีกายวิภาคคล้ายกับสปีชีส์วงศ์เสือและแมวอื่น ๆ มันมีร่างกายที่แข็งแรงยืดหยุ่น, ตอบสนองอย่างรวดเร็ว, ฟันและเล็บคมที่สามารถซ่อนได้เพื่อล่าเหยื่อขนาดเล็ก มุมมองกลางคืนกับการรับรู้กลิ่นที่ผ่านการพัฒนา และการสื่อสารของแมว เช่น การส่งเสียงอย่างเหมียว (meow), เพอร์ (purr), รัว (trill), ฟ่อ (hiss), คำราม (growl) และร้องคราง (grunt) เช่นเดียวกันกับภาษากายเฉพาะของแมว แมวเป็นนักล่าที่มักกระฉับกระเฉงที่สุดในตอนเช้าและค่ำ (crepuscular) ซึ่งแม้จะเป็นนักล่าผู้โดดเดี่ยวแต่ก็ยังเป็นสัตว์สังคม มันสามารถได้ยินเสียงความถี่ที่เบาหรือดังกว่าที่หูมนุษย์ได้ยิน เช่นเสียงที่หนูและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอื่น ๆ ทำ[7] แมวยังสามารถหลั่งและรับรู้ถึงฟีโรโมนด้วย[8]

แมวบ้านเพศเมียมักออกลูกประมาณ 2 - 5 ตัวในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงปลายฤดูใบไม้ร่วง[9] แมวบ้านสามารถเลี้ยงและจัดแสดงในงานต่าง ๆ ได้ การควบคุมประชากรแมวสามารถทำได้ผ่านการทำหมัน แต่การขยายพันธุ์และการทิ้งสัตว์เลี้ยงก่อให้เกิดแมวจรจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งมีส่วนต่อการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ของนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด[10]

แมวถูกปรับเป็นสัตว์เลี้ยงครั้งแรกในตะวันออกใกล้ช่วงประมาณ 7,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช[11] เป็นที่เชื่อกันมานานแล้วว่าการเลี้ยงแมวเริ่มขึ้นในอียิปต์โบราณตั้งแต่ประมาณ 3,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยแมวได้รับการเคารพนับถือ[12][13] ข้อมูลเมื่อ 2021 มีการประมาณการว่ามีแมวที่มีเจ้าของประมาณ 220 ล้านตัว และแมวจร 480 ล้านตัวทั่วโลก[14][15] ข้อมูลเมื่อ 2017 แมวบ้านเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอันดับสองในสหรัฐ โดยมีแมวที่มีเจ้าของ 95.6 ล้านตัว[16][17][18] และประมาณ 42 ล้านครัวเรือนมีแมวอย่างน้อยหนึ่งตัว[19] และ ข้อมูลเมื่อ 2020 ผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรร้อยละ 26 มีแมวเลี้ยง โดยมีประชากรแมวเลี้ยงประมาณ 10.9 ล้านตัว[20]

การจัดจำแนก

[แก้]

โดยทั่วไปมีการแบ่งพันธุ์แมวออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ แมวขนยาว (longhaired cat) และ แมวขนสั้น (shorthaired cats) การแบ่งพันธุ์ด้วยวิธีนี้ทำให้จำแนกแมวออกได้ตามลักษณะพันธุ์ที่จำเพาะต่าง ๆ กัน การจัดจำแนกแมวในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการกำหนดมาตรฐานของพันธุ์แมวที่เป็นที่ยอมรับกัน ทั้งนี้ลักษณะมาตรฐานของพันธุ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ การใช้ชื่อเรียกพันธุ์แมวที่แสดงถึงลักษณะของพันธุ์ที่จำเพาะมีความแตกต่างกันระหว่างในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีบางพันธุ์มีการจัดจำแนกเฉพาะต่างหากในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

แมวในโลกนี้มีมากมายหลายพันธุ์ โดยเฉพาะแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงไม่นับรวมสัตว์ตระกูลแมว พวกเสือ แมวดาว แมวป่า หรือสิงโต แมวเลี้ยงหรือที่เราเรียกว่า Domestic cat นั้นมีวิวัฒนาการมาจากแมวป่าในธรรมชาติจากหลายภูมิภาคของโลก ชื่อเรียกพันธุ์แมวที่แตกต่างกันที่เรียกกันทุกวันนี้ เช่น เปอร์เซีย แมววิเชียรมาศ แมวบาหลี แมวอะบิสซิเนีย และแมวโซมาลี นั้น แสดงถึงถิ่นกำเนิดที่แสดงถึงภูมิศาสตร์ที่เขาถือกำเนิดมา ในการจัดนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษเมื่อปีคริสศักราช 1871 ถือเป็นการเริ่มต้นในการนำเสนอพันธุ์แมวในระดับนานาชาติ ทำให้ผู้สนใจในแมวมีความตื่นตัว แต่การแสดงในครั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นแมวเปอร์เซียและแมวขนสั้นเป็นหลัก

สรีรวิทยา

[แก้]

แมวมีความคุ้นเคยและเลี้ยงได้ง่าย สรีรวิทยาของแมวได้รับการศึกษาโดยเฉพาะ โดยทั่วไปจะมีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินเนื้ออื่น ๆ แต่จากลักษณะที่ผิดแปลกออกไปหลายอย่าง อาจจะทำให้เชื่อว่าเชื้อสายแมว มาจากสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย[21] เช่นแมวสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงมาก มนุษย์โดยทั่วไปเริ่มที่จะรู้สึกอึดอัดผิวเมื่อมีอุณหภูมิประมาณ 38° ซ. (100° ฟ.) แต่แมวเริ่มแสดงความรู้สึกไม่สบายผิวของพวกมันเมื่ออุณหภูมิถึงราว 52° ซ. (126° ฟ.)[22] และสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงถึง 56° ซ. (133° ฟ.) ถ้าแมวยังคงเข้าถึงน้ำได้[23]

แมวเก็บรักษาความร้อนโดยการลดการไหลเวียนของเลือดไปยังผิวและระบายความร้อนโดยการระเหยผ่านปากของพวกมัน แมวมีความสามารถที่จะขับเหงื่อที่ต่อมอยู่ในอุ้งเท้า[24] และจะหอบเพื่อบรรเทาความร้อนที่อุณหภูมิสูงมากเท่านั้น[25] (แต่อาจหอบเมื่อเครียด) อุณหภูมิร่างกายของแมวไม่ได้แตกต่างกันตลอดทั้งวัน อาจสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะมีความกระตือรือร้น ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน[26] มูลแมวจะแห้งและปัสสาวะจะมีความเข้มข้นสูงซึ่งทั้งสองอย่างแสดงถึงการปรับตัวที่ช่วยให้แมวเก็บน้ำได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้[21] ไตของแมวมีประสิทธิภาพเพื่อให้แมวสามารถอยู่รอดได้หากกินอาหารเฉพาะประเภทเนื้อสัตว์โดยที่ไม่ต้องกินน้ำเพิ่มเติม[27] และยังสามารถได้รับน้ำจากการดื่มน้ำทะเล[26][28]

แมวเป็นสัตว์กินเนื้อ สรีรวิทยาของพวกมันมีการพัฒนาในการย่อยเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและในทางตรงกันข้ามแมวมีปัญหาในการย่อยพืช[21] ในขณะที่สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ เช่นหนูซึ่งต้องการโปรตีนในอาหารประมาณ 4% แต่แมวจะต้องการโปรตีนประมาณ 20% ในอาหาร[21] แมวจะผิดปกติถ้าขาดอาร์จินีนและการกินอาหารที่ขาดอาร์จินีนเป็นสาเหตุของอาการน้ำหนักลดและอาจถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว[29] อีกคุณสมบัติที่ผิดปกติคือการที่แมวไม่สามารถผลิตทอรีน การขาดทอรีนก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพในจอประสาทตาของแมวทำให้ตาบอดถาวร[21] แมวจะกินเหยื่อของพวกมันทั้งหมดเพราะจะได้รับแร่ธาตุโดยการย่อยกระดูกสัตว์ ดังนั้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์อย่างเดียวอาจก่อให้เกิดการขาดแคลเซียม[21]

ระบบทางเดินอาหารของแมวถูกปรับให้เข้ากับการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นระบบทางเดินอาหารของแมวสั้นกว่าของสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ และแมวมีระดับเอนไซม์ที่จำเป็นในการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตอยู่ในระดับต่ำ[30] นี่จึงจำกัดความสามารถของแมวที่จะย่อยสารอาหารจากพืชอย่างมาก เช่นเดียวกับกรดไขมันบางอย่างที่แมวมีความสามารถในการย่อยจำกัด[30] แม้สรีรวิทยาของแมวจะมุ่งเน้นไปทางอาหารที่เป็นเนื้อ แต่ก็มีอาหารแมวมังสวิรัติทำการตลาดมีการเสริมสังเคราะห์สารเคมีทอรีนและสารอาหารอื่น ๆ ในความพยายามที่จะผลิตอาหารที่สมบูรณ์แบบ แต่บางส่วนของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังคงล้มเหลวในการให้สารอาหารที่จำเป็นทั้งหมดต่อแมว[31] และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไม่มีส่วนประกอบจากสัตว์ก่อให้เกิดการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง[32]

แมวจะกินหญ้าเป็นครั้งคราว สันนิษฐานว่าใช้หญ้าเป็นแหล่งของกรดโฟลิก หรือใช้ในการเป็นแหล่งใยอาหาร[33]

ในเชิงสิ่งแวดล้อม

[แก้]

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันสมิธโซเนียนพบว่า แมวเป็นสัตว์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างยิ่ง โดยในสหรัฐอเมริกาแมวได้ฆ่านกไปถึงปีละ 2,000–4,000 ล้านตัวต่อปี ทั้งแมวที่มีเจ้าของ หรือแมวจร ส่วนในออสเตรเลียปีละ 70 ล้านตัวต่อปี และอังกฤษ 27 ล้านตัวต่อปี รวมแล้วทั่วโลกประมาณ 7,000–20,000 ล้านตัวต่อปี โดยในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา แมวได้ทำให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้ง นก, สัตว์ปีก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก, สัตว์ฟันแทะ, สัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกสูญพันธุ์ไปแล้วถึง 430 ชนิด เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณนักล่า บางทีล่าหรือฆ่าเพราะความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้นำมากินหรือเป็นอาหาร [34]

บริติช ชอตแฮร์

สายพันธุ์ของแมว

[แก้]

ปัจจุบันมีแมวพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า 30 พันธุ์ทั่วโลก แม้ว่ามนุษย์เพิ่งเริ่มผสมพันธุ์แมวเพื่อเลือกลักษณะเด่นเมื่อเพียงร้อยกว่าปีมานี้เท่านั้น แมวแต่ละพันธุ์มีลักษณะต่างกันมากทั้งสีและความยาวขน ในขณะที่แมวพันธุ์เม็กซิกันมีรูปร่างเปลือยเปล่าแทบไม่มีขน แมวเพอร์เซียกลับมีขนฟูฟ่อง

ถิ่นกำเนิด

[แก้]

เชื่อว่าแมวบ้านสืบเชื้อสายมาจากแมวป่าอาฟริกา (African Wildcat-- Felis silvestris silvestris) ส่วนแมวป่า (Felis chaus) ที่มีอยู่ในเมืองไทย หรือแมวพอลลาส (Felis manul) พบว่าไม่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับแมวบ้านแต่อย่างใด อียิปต์คือชาติแรกที่นำแมวมาเป็นสัตว์เลี้ยงเมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว แมวในยุคนั้นถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เคียงคู่กับศาสนาเลยทีเดียว เช่นเดียวกับวัวที่ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

อุปนิสัย

[แก้]

แมวบ้านเป็นสัตว์หากินกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แมวบ้านอาจดูเหมือนกับเป็นสัตว์ที่นอนตลอดทั้งวัน แต่ความเป็นจริงแมวจะหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ สลับกัน มันตื่นขึ้นมาเพื่อจะสำรวจเสียงหรือสิ่งแปลกปลอมรอบตัว หากไม่มีอะไรน่าสนใจก็จะหลับต่อ แม้ในขณะที่หลับหูของแมวก็ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่จะพลิกหันไปหันมาอยู่เสมอเพื่อดักฟังเสียงแปลกปลอมเช่นเสียงความถี่สูงซึ่งอาจจะเป็นเสียงของเหยื่อ หูของแมวสามารถฟังเสียงความถี่สูงกว่าที่มนุษย์ได้ยินมาก

ผู้ที่เลี้ยงแมวบ้านอาจเคยสังเกตว่าแมวชอบที่จะถูและกลิ้งเกลือกตัวกับสิ่งของหรือพื้นที่มีกลิ่นแรง แล้วกลิ่นนั้นก็จะติดกับตัวแมวบ้านไปด้วย พฤติกรรมเช่นนี้เชื่อว่าเป็นสัญชาติญาณที่ติดมาจากธรรมชาติ เพราะกลิ่นภายนอกจะกลบกลิ่นของตัวเอง ซึ่งทำให้เป็นประโยชน์ในการล่าเหยื่อ แม้ว่าแมวบ้านไม่จำเป็นต้องหาอาหารเองเพราะมีคนให้อาหาร แต่ไม่ได้หมายความว่าแมวจะล่าเหยื่อเองไม่ได้ แมวยังล่าสัตว์รอบ ๆ บ้านหลายชนิด เช่น หนู กระรอก ตุ่น หนูผี กระต่าย ค้างคาว รวมถึงนกอีกหลายชนิดเช่น นกกระจอก นกกิ้งโครง นกกางเขน นกพิราบ ไก่ นกกระทา หรืออาจจะกินแมลง และ ปลา ด้วยก็ได้ บางครั้งแมวอาจกินหญ้าหรือพืชใบเขียวบางชนิด พฤติกรรมที่แมวกินพืชเชื่อว่าอาจเป็นความต้องการแร่ธาตุหรือวิตามินบางชนิดที่ไม่มีอยู่ในอาหารปกติของมัน

แมวอาจกลืนขนจากลำตัวของมันเองเข้าไปในกระเพาะจนขนรวมกันเป็นก้อนอยู่ในกระเพาะ สิ่งนี้อาจเป็นเจตนาของมันเองเพื่อให้ก้อนขนเข้าไปบุหรือป้องกันกระเพาะจากเศษกระดูกอันแหลมคมจากสารพัดเหยื่อที่มันกินเข้าไป

แมวบ้านเป็นสัตว์ที่อยู่โดยลำพังเป็นส่วนใหญ่ แต่แมวก็มีสังคมในหมู่แมวที่อยู่ในท้องที่เดียวกัน แมวแต่ละตัวมีการจัดลำดับชนชั้นในสังคมแมว ในสถานที่ ๆ มีอาหารหรือเหยื่อให้กินมาก แมวอาจรวมตัวกันเป็นชุมชนแมวขนาดใหญ่และมีสัมพันธ์ที่ดีถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน แมวในสังคมหนึ่งจะรู้จักมักคุ้นกันโดยมักอาศัยการจำแนกกลิ่น เช่นกลิ่นของปัสสาวะ หรือกลิ่นจากต่อมกลิ่นที่แมวถูกเข้ากับสิ่งของต่าง ๆ

ชีววิทยา

[แก้]

เมื่อตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์ มันจะปล่อยกลิ่นและส่งเสียงร้องบ่งบอกถึงภาวะเป็นสัดของมัน ในช่วงนี้มันจะยอมให้ตัวผู้เข้าใกล้เพื่อผสมพันธุ์ได้ แมวตัวผู้ที่คุ้นเคยจะเข้ามาผสมพันธุ์ได้ทันที แต่สำหรับแมวตัวผู้ต่างถิ่นตอนแรกจะถูกขับไล่ออกไม่ให้เข้าใกล้ได้ง่ายดายนัก มันจะต้องตาม "ตื๊อ" อยู่สักพักตัวเมียจึงยอมให้เข้าใกล้ได้

แมวตัวเมียจะเป็นสัดปีละประมาณ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งจะยาวนานประมาณ 3 วัน แต่ถ้าในช่วงวันแรก ๆ ที่ติดสัดไม่ได้ผสมพันธุ์ ระยะเวลาการติดสัดก็อาจจะยาวนานกว่านี้ ตัวเมียตั้งท้องนานประมาณ 63-66 วัน ออกลูกปีละประมาณ 2 ครอก มีลูกรวมกัน 1-8 ตัว แต่ส่วนใหญ่จะประมาณ 3-5 ตัว แม่แมวจะออกลูกตามโพรงไม้ โคนต้นไม้ กองหลืบหิน พุ่มทึบ ลัง หรือแม้แต่กล่องกระดาษ โดยแมวชอบออกลูกในสถานที่เงียบๆปลอดภัย และไม่ถูกรบกวน

ลูกแมวแรกเกิดหนักประมาณ 85-110 กรัม ตาจะเปิดได้ภายในเวลา 7-20 วัน และเริ่มเดินได้เมื่ออายุ 9 ถึง 15 วัน ลูกแมวเริ่มกินอาหารแข็งได้เมื่ออายุ 4 สัปดาห์และหย่านมเมื่ออายุ 8-10 สัปดาห์ พออายุได้ 6 เดือนก็สามารถแยกจากแม่และหากินเองได้แล้ว เมื่อแมวหนุ่มสาวมีอายุได้ 10-12 เดือน ก็จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ พร้อมที่จะผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกรุ่นต่อไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Linnaeus, C. (1758). "Felis Catus". Systema naturae per regna tria naturae: secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis (ภาษาละติน). Vol. 1 (Tenth reformed ed.). Holmiae: Laurentii Salvii. p. 42.
  2. 2.0 2.1 Wozencraft, W. C. (2005). "Species Felis catus". ใน Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 534–535. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
  3. Erxleben, J. C. P. (1777). "Felis Catus domesticus". Systema regni animalis per classes, ordines, genera, species, varietates cvm synonymia et historia animalivm. Classis I. Mammalia. Lipsiae: Weygandt. pp. 520–521.
  4. Clutton-Brock, J. (1999) [1987]. "Cats". A Natural History of Domesticated Mammals (Second ed.). Cambridge, England: Cambridge University Press. pp. 133–140. ISBN 978-0-521-63495-3. OCLC 39786571. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 25 October 2020.
  5. Liberg, O.; Sandell, M.; Pontier, D. & Natoli, E. (2000). "Density, spatial organisation and reproductive tactics in the domestic cat and other felids". ใน Turner, D. C. & Bateson, P. (บ.ก.). The domestic cat: the biology of its behaviour (Second ed.). Cambridge: Cambridge University Press. pp. 119–147. ISBN 9780521636483. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 March 2021. สืบค้นเมื่อ 25 October 2020.
  6. Driscoll, C. A.; Clutton-Brock, J.; Kitchener, A. C. & O'Brien, S. J. (2009). "The taming of the cat". Scientific American. 300 (6): 68–75. Bibcode:2009SciAm.300f..68D. doi:10.1038/scientificamerican0609-68. ISSN 0036-8733. PMC 5790555. PMID 19485091.
  7. Moelk, M. (1944). "Vocalizing in the House-cat; A Phonetic and Functional Study". The American Journal of Psychology. 57 (2): 184–205. doi:10.2307/1416947. JSTOR 1416947.
  8. Bland, K. P. (1979). "Tom-cat odour and other pheromones in feline reproduction" (PDF). Veterinary Science Communications. 3 (1): 125–136. doi:10.1007/BF02268958. S2CID 22484090. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 30 January 2019. สืบค้นเมื่อ 15 May 2019.
  9. Nutter, F. B.; Levine, J. F. & Stoskopf, M. K. (2004). "Reproductive capacity of free-roaming domestic cats and kitten survival rate". Journal of the American Veterinary Medical Association. 225 (9): 1399–1402. CiteSeerX 10.1.1.204.1281. doi:10.2460/javma.2004.225.1399. PMID 15552315. S2CID 1903272.
  10. Rochlitz, I. (2007). The Welfare of Cats. "Animal Welfare" series. Berlin: Springer Science+Business Media. pp. 141–175. ISBN 978-1-4020-6143-1. OCLC 262679891.
  11. Driscoll, C. A.; Menotti-Raymond, M.; Roca, A. L.; Hupe, K.; Johnson, W. E.; Geffen, E.; Harley, E. H.; Delibes, M.; Pontier, D.; Kitchener, A. C.; Yamaguchi, N.; O'Brien, S. J. & Macdonald, D. W. (2007). "The Near Eastern Origin of Cat Domestication". Science. 317 (5837): 519–523. Bibcode:2007Sci...317..519D. doi:10.1126/science.1139518. ISSN 0036-8075. PMC 5612713. PMID 17600185.
  12. Langton, N. & Langton, M. B. (1940). The Cat in ancient Egypt, illustrated from the collection of cat and other Egyptian figures formed. Cambridge University Press.
  13. Malek, J. (1997). The Cat in Ancient Egypt (Revised ed.). Philadelphia: University of Pennsylvania Press.
  14. "Statistics on cats". carocat.eu. 15 February 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 February 2021. สืบค้นเมื่อ 15 February 2021.
  15. Rostami, Ali (2020). "30". ใน Bowman, Dwight D. (บ.ก.). Toxocara and Toxocariasis. Elsevier Science. p. 616. ISBN 9780128209585.
  16. "Pet Industry Market Size & Ownership Statistics". American Pet Products Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 February 2019. สืบค้นเมื่อ 25 February 2019.
  17. "The 5 Most Expensive Cat Breeds in America". moneytalksnews.com. 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 February 2019. สืบค้นเมื่อ 25 February 2019.
  18. "Number of cats in the United States from 2000 to 2017/2018". www.statista.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 March 2019. สืบค้นเมื่อ 3 March 2019.
  19. "61 Fun Cat Statistics That Are the Cat's Meow! (2022 UPDATE)" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 12 December 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 February 2022. สืบค้นเมื่อ 18 February 2022.
  20. "How many pets are there in the UK?". www.pdsa.org.uk (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2021. สืบค้นเมื่อ 29 March 2021.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 MacDonald, M. L.; Rogers, Q. R.; Morris, J. G. (1984). "Nutrition of the domestic cat, a mammalian carnivore". Annual Review of Nutrition. 4: 521–562. doi:10.1146/annurev.nu.04.070184.002513. PMID 6380542.
  22. Case, Linda P. (2003). The Cat: Its Behavior, Nutrition, and Health. Ames, IA: Iowa State University Press. ISBN 0-8138-0331-4.
  23. Subcommittee on Dog and Cat Nutrition (2006). Nutrient Requirements of Dogs and Cats. Washington, DC: National Academies Press. p. 292. ISBN 0-309-08628-0.
  24. "How do cats sweat?". Cat Health,com. สืบค้นเมื่อ 24 February 2014.
  25. Adams, T.; Morgan, M. L.; Hunter, W. S.; Holmes, K. R. (1970). "Temperature Regulation of the Unanesthetized Cat During Mild Cold and Severe Heat Stress". Journal of Applied Physiology. 29 (6): 852–858. PMID 5485356.
  26. 26.0 26.1 Committee on Animal Nutrition (1986). Nutrient Requirements of Cats (2nd ed.). National Academy Pr.
  27. Prentiss, Phoebe G. (1959). "Hydropenia in Cat and Dog: Ability of the Cat to Meet its Water Requirements Solely from a Diet of Fish or Meat". American Journal of Physiology. 196 (3): 625–632. PMID 13627237.
  28. Wolf, A. V. (1959). "Potability of Sea Water with Special Reference to the Cat". American Journal of Physiology. 196 (3): 633–641. PMID 13627238.
  29. Morris, J. G.; Rogers, Q. R. (1 December 1978). "Arginine: An Essential Amino Acid for the Cat". Journal of Nutrition. 108 (12): 1944–1953. PMID 722344.
  30. 30.0 30.1 Zoran, D. L. (2002). "The Carnivore Connection to Nutrition in Cats" (PDF). Journal of the American Veterinary Medical Association. 221 (11): 1559–1567. doi:10.2460/javma.2002.221.1559. PMID 12479324. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-05-26. สืบค้นเมื่อ 2015-06-07.
  31. Gray, C. M.; Sellon, R. K.; Freeman, L. M. (2004). "Nutritional Adequacy of Two Vegan Diets for Cats". Journal of the American Veterinary Medical Association. 225 (11): 1670–1675. doi:10.2460/javma.2004.225.1670. PMID 15626215.
  32. Zaghini, G.; Biagi, G. (2005). "Nutritional Peculiarities and Diet Palatability in the Cat". Vet. Res. Commun. 29 (Supplement 2): 39–44. doi:10.1007/s11259-005-0009-1. PMID 16244923.
  33. "Cat Health 101: Why Do Cats Eat Grass?". AnimalPlanet.com. 16 November 2011. สืบค้นเมื่อ 13 August 2012.
  34. จุดประกาย 4 กรีนไลฟ์, โลกสองด้านของน้องแมว. "กรุงเทพธุรกิจ โลกในมือคุณ" โดย วันชัย ตัน. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 31 ฉบับที่ 10654: วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]