ข้ามไปเนื้อหา

สงครามเวียดนาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามเวียดนาม
ส่วนหนึ่งของ สงครามอินโดจีน และสงครามเย็น
วันที่1 พฤศจิกายน 2498 – 30 เมษายน 2518
(19 ปี, 5 เดือน, 4 สัปดาห์ และ 1 วัน)
สถานที่
ผล

เวียดนามเหนือและเวียดกง/PRG ชนะ

ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมกันเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
กำลัง
  • ~1,830,000 (2511)
  • เวียดนามใต้ เวียดนามใต้: 850,000
    1,500,000 (2517–8)[2]
  • สหรัฐอเมริกา สหรัฐ: 536,100
  • กำลังทหารโลกเสรี: 65,000[3][4] แบ่งเป็น
  • เกาหลีใต้ เกาหลีใต้: 50,000[5]
  • ออสเตรเลีย ออสเตรเลีย: 7,672
  • ไทย ไทย : 10,450
  • ฟิลิปปินส์ : ฟิลิปปินส์ : 2,061
  • นิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์: 552
  • ~461,000
  • เวียดนามเหนือ เวียดนามเหนือ: 287,465 (มกราคม 2511)[6]
  • จีน จีน: 170,000 (2508–12)[7][8]
    [9]
  • สหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียต 3,000
  • เกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือ: 300–600
ความสูญเสีย
  • เวียดนามใต้ เวียดนามใต้
  • พลเรือนตาย 195,000–430,000 คน[10][11]
  • ทหารตาย 220,357[12] – 313,000 นาย (ประเมินสูงสุด);[13] บาดเจ็บ 1,170,000 นาย
  • สหรัฐอเมริกา สหรัฐ
  • ตาย 58,220 นาย;[A 1] บาดเจ็บ 303,644 นาย[A 1]
  • เกาหลีใต้ เกาหลีใต้
  • ตาย 5,099 นาย; บาดเจ็บ 10,962 นาย; สูญหาย 4 นาย
  • ออสเตรเลีย ออสเตรเลีย
  • ตาย 500 นาย; บาดเจ็บ 3,129 นาย[14]
  • นิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์
  • ตาย 37 นาย; บาดเจ็บ 187 นาย[15]
  • ไทย ไทย
  • ตาย 351 นาย; บาดเจ็บ 1,358 นาย[16]
  • ลาว ราชอาณาจักรลาว
  • ตาย 30,000 คน, บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน[17]
  • รวมยอดผู้ตาย: 480,538–807,564
    รวมยอดผู้บาดเจ็บ: ~1,490,000+
  • เวียดนามเหนือรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราวสาธารณรัฐเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือ, เวียดกง
  • พลเรือนตาย 50,000[18]-65,000 คน[10]
  • ทหารตายหรือสูญหาย 400,000[10] – 1,100,000 นาย; บาดเจ็บ 600,000+ นาย[19]
  • จีน จีน
  • ตาย 1,100 นาย; บาดเจ็บ 4,200 นาย[9]
  • สหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียต
  • ตาย 16 นาย[20]
  • รวมยอดผู้ตาย: 455,462–1,170,462
    รวมยอดผู้บาดเจ็บ: ~604,200+
  • พลเรือนเวียดนามตาย: 405,000–2,000,000[21]: 450–3 [22][23]
  • เวียดนามเสียชีวิตทั้งหมด: 966,000[24]–3,010,000[23]
  • พลเรือนกัมพูชาตาย: 275,000–310,000[25][26][27]
  • พลเรือนลาวตาย: 20,000–62,000[23]
  • รวมยอดพลเรือนตาย: 65,494
  • รวมยอดทั้งหมด: 1,326,494–3,447,494
  • * กำกับตัวเลขโดยประมาณ
  • ** ตัวเลขนี้รวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดในสงครามกลางเมืองลาวและกัมพูชาด้วย

สงครามเวียดนาม (เวียดนาม: Chiến tranh Việt Nam) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า สงครามอินโดจีนครั้งที่สอง[28] และในเวียดนามเรียกว่า สงครามต่อต้านอเมริกา (เวียดนาม: Kháng chiến chống Mỹ) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สงครามอเมริกา เป็นความขัดแย้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2498[A 2] จนกรุงไซ่ง่อนถูกยึด เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518[29] เป็นสงครามอินโดจีนครั้งที่สองและเป็นการต่อสู้ระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้อย่างเป็นทางการ เวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และจีน[7] และประเทศพันธมิตรฝ่ายลัทธิคอมมิวนิสต์อื่น เวียดนามใต้ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ไทย และประเทศพันธมิตรฝ่ายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อื่น[30][31] บางคนถือสงครามนี้เป็นสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็น[32] ซึ่งกินระยะเวลาถึง 19 ปี โดยการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงของสหรัฐสิ้นสุดลงในปี 2516 และรวมไปถึงสงครามกลางเมืองลาว และสงครามกลางเมืองกัมพูชาซึ่งจบลงด้วยทั้งสามประเทศได้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2518

ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ต่อคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหวียตมิญ[33][A 3] ภายหลังฝรั่งเศสถอนตัวออกจากอินโดจีนในปี พ.ศ. 2497 สหรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินและการทหารสำหรับรัฐเวียดนามใต้ต่อเวียดกง แนวร่วมประชาชนเวียดนามใต้ที่รับคำสั่งจากเวียดนามเหนือ ริเริ่มทำสงครามกองโจรในเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือยังบุกครองลาวในช่วงกลางปี 2493 เพื่อสนับสนุนกบฏ มีการสร้างเส้นทางสายโฮจิมินห์เพื่อส่งกำลังบำรุงและเสริมกำลังให้แก่เวียดกง[34]: 16  การมีส่วนร่วมของสหรัฐเพิ่มมากขึ้นในสมัยประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ผ่านโครงการกลุ่มที่ปรึกษาความช่วยเหลือทางทหาร (MAAG) จากที่ปรึกษาการทหารไม่ถึง 1,000 นายในปี พ.ศ. 2502 เพิ่มเป็น 16,000 นายในปี พ.ศ. 2506[35][36]: 131  ในปี พ.ศ. 2506 เวียดนามเหนือส่งทหาร 40,000 นายไปรบในเวียดนามใต้[37]: 16  เวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน[38]: 371–4 [39]

ในเดือนสิงหาคม 2507 เกิดอุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ยซึ่งอ้างว่าเรือพิฆาตของสหรัฐปะทะกับเรือจู่โจมเร็วของเวียดนามเหนือ รัฐสภาสหรัฐตอบโต้โดยผ่านข้อมติอ่าวตังเกี๋ย มอบอำนาจให้ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันอย่างกว้างขวางในการเพิ่มทหารสหรัฐ เขาออกคำสั่งให้วางกำลังหน่วยรบเป็นครั้งแรก และเพิ่มจำนวนกำลังพลเป็น 184,000 นาย[40] เมื่อผ่านมาถึงจุดนี้ กองทัพประชาชนเวียดนาม มีส่วนร่วมในการสงครามตามแบบกับกองทัพสหรัฐและเวียดนามใต้ ทุกปีนับจากนั้น มีการเสริมสร้างทหารสหรัฐอย่างมาก แม้มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย กองทัพสหรัฐและเวียดนามใต้อาศัยความเป็นเจ้าเวหาและอำนาจการยิงที่เหนือกว่าดำเนินการค้นหาและทำลาย สหรัฐยังดำเนินการรณรงค์ทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขนานใหญ่ต่อเวียดนามเหนือและลาว

การรุกตรุษญวนในปี 2511 แสดงถึงการขาดความคืบหน้าด้วยหลักนิยมนี้ โดยเวียดกงและกองทัพประชาชนเวียดนาม ลงมือรุกในเมืองขนานใหญ่ตลอดปีนั้น การสนับสนุนสงครามในประเทศของสหรัฐเริ่มลดลงกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม ขยายขนาดหลังปล่อยปะละเลยก่อนหน้านี้ภายหลังจากตรุษญวนและยึดแบบตามหลักนิยมสหรัฐ ในปีนั้นเวียดกงเสียรี้พลไป 50,000 นาย[41]: 481  โครงการฟีนิกซ์ของสำนักข่าวกรองกลาง ยิ่งลดระดับสมาชิกภาพและขีดความสามารถของเวียดกงเมื่อถึงสิ้นปี เวียดกงลดปฏิบัติการกองโจรอย่างมาก และเพิ่มความจำเป็นสำหรับการใช้ทหารตามแบบ กองทัพประชาชนเวียดนามจากเวียดนามเหนือ[42]: 247–9  ในปี 2512 เวียดนามเหนือประกาศตั้งรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราวในเวียดนามใต้ในความพยายามให้เวียดกงมีฐานะระหว่างประเทศมากขึ้น แต่กองทัพประชาชนเวียดนามเริ่มการสงครามผสมเหล่ามากขึ้น เมื่อถึงปี 2513 เวียดกงไม่หลงเหลืออีกต่อไป ปฏิบัติการนี้ข้ามเขตแดนของประเทศ โดยลาวถูกเวียดนามเหนือบุกครองตั้งแต่แรก ส่วนกัมพูชาเวียดนามเหนือใช้เป็นเส้นทางเสบียงเริ่มตั้งแต่ปี 2510 เส้นทางผ่านกัมพูชาเริ่มถูกสหรัฐทิ้งระเบิดในปี 2512 ส่วนเส้นทางลาวถูกทิ้งระเบิดหนักตั้งแต่ปั 2517 การโค่นสมเด็จพระนโรดม สีหนุโดยสมัชชาแห่งชาติกัมพูชาส่งผลทำให้ กองทัพประชาชนเวียดนามเข้ารุกรานประเทศตามคำขอของเขมรแดง ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชาบานปลาย และการบุกครองตอบโต้ของสหรัฐและกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม

ในปี 2512 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน มีการเริ่มนโยบายการแผลงเป็นเวียดนาม (Vietnamization) ซึ่งแสดงถึงความขัดแย้งที่มีกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม ซึ่งขยายขนาดเป็นคู่ขัดแย้งมากขึ้น ส่วนกำลังสหรัฐลดบทบาทลดงและยิ่งเสียขวัญมากขึ้นจากการต่อต้านในประเทศและการเกณฑ์คนได้ลดลง กำลังภาคพื้นดินของสหรัฐส่วนใหญ่ถอนออกไปเมื่อถึงต้นปี 2515 และการสนับสนุนจำกัดอยู่ที่การสนับสนุนทางอากาศ การสนับสนุนด้วยปืนใหญ่ ที่ปรึกษาและการส่งยุทธภัณฑ์กองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐยุติการรุกของกองทัพประชาชนเวียดนาม ด้วยยานยนต์ใหญ่สุดและครั้งแรกระหว่างการรุกอีสเตอร์ปี 2515 แต่กองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม เองก็ไม่สามารถยึดคืนดินแดนทั้งหมดกลับมาได้ ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ทางทหารที่ลำบาก ข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสเดือนมกราคม 2516 เป็นการถอนกำลังสหรัฐทั้งหมด และการผ่านคำแปรญัตติเคส–เชิร์ชของรัฐสภาสหรัฐในวันที่ 15 สิงหาคม 2516 ยุติการมีส่วนเกี่ยวข้องทางหทารโดยตรงของสหรัฐอย่างเป็นทางการ ข้อตกลงสันติภาพล่มแทบทันที และการต่อสู้กินเวลาต่อไปอีก 2 ปี กรุงพนมเปญเสียให้แก่เขมรแดงในวันที่ 17 เมษายน 2518 และระหว่างการรุกฤดูใบไม้ผลิ กองทัพประชาชนเวียดนามยึดกรุงไซ่ง่อนได้ในวันที่ 30 เมษายน เป็นการยุติสงคราม ประเทศเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมเข้าด้วยกันในปีถัดมา

การสู้รบมีขนาดใหญ่มาก ในปี 2513 กองทัพสาธารณรัฐเวียดนามเป็นกองทัพใหญ่สุดอันดับ 4 ของโลก กับกองทัพประชาชนเวียดนาม นั้นมีขนาดใกล้เคียงกันโดยมีทหารประจำการประมาณ 1,000,000 นาย[43][44]: 770  สงครามได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาลในแง่ของการเสียชีวิต การประมาณจำนวนทหารและพลเรือนเวียดนามที่เสียชีวิตมีตั้งแต่ 966,000 คน[45] ถึง 3.8 ล้านคน[23] ชาวเขมรประมาณ 275,000–310,000 คน[25][26][27] ชาวลาว 20,000–62,000 คน[46] และทหารสหรัฐ 58,220 นายเสียชีวิต และอีก 1,626 นายยังสูญหายในหน้าที่[A 1]

ความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียตเกิดขึ้นอีกครั้งหลังสงบไปในช่วงสงครามเวียดนาม ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามเหนือและพันธมิตรเขมรในราชรัฏฐาภิบาลรวบรวมชาติกัมพูชา และกัมพูชาประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่เริ่มต้นเกือบทันทีด้วยการตีโฉบฉวยชายแดนโดยเขมรแดง จนสุดท้ายบานปลายเป็นสงครามกัมพูชา–เวียดนาม กองทัพจีนบุกครองเวียดนามโดยตรงในสงครามจีน-เวียดนาม ซึ่งความขัดแย้งตามชายแดนที่เกิดตามมายืดเยื้อจนถึงปี 2534 เวียดนามต่อสู้การก่อการกำเริบในสามประเทศ การสิ้นสุดของสงครามและการเริ่มต้นใหม่ของสงครามอินโดจีนครั้งที่สามเร่งให้เกิดชาวเรือเวีดนามและวิกฤตผู้ลี้ภัยอินโดจีนที่ใหญ่กว่า ซึ่งมีจำนวนผู้ลี้ภัยหลายล้านคนออกจากอินโดจีน (ส่วนใหญ่มาจากเวียดนามใต้) โดยมีประมาณการ 250,000 คนเสียชีวิตในทะเล ภายในสหรัฐ สงครามได้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า กลุ่มอาการเวียดนาม ซึ่งเป็นความเกลียดของสาธารณชนต่อการมีส่วนร่วมทางทหารในต่างประเทศของสหรัฐ[47] ซึ่งเมื่อรวมกับคดีวอเตอร์เกต ส่งเสริมวิกฤตความเชื่อมั่นที่ส่งผลต่อสหรัฐในคริสต์ทศวรรษ 1970[48]

เบื้องหลังถึงปี 2492

[แก้]

ฝรั่งเศสเริ่มการพิชิตอินโดจีนในปลายคริสต์ทศวรรษ 1850 และปราบปรามอย่างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2436[49][50][51] สนธิสัญญาเว้ ค.ศ. 1884 เป็นพื้นฐานการปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนามเป็นเวลาอีกเจ็ดทศวรรษ แม้จะมีการต้านทานทางทหาร ที่โดดเด่นที่สุด คือ เกิ่นเวืองแห่งฟาน ดิญ ฝุง ในปี 2431 พื้นที่ซึ่งเป็นประเทศกัมพูชาและเวียดนามปัจจุบันกลายสภาพเป็นอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส และลาวถูกเพิ่มเข้าสู่อาณานิคมภายหลัง[52] มีขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสหลายกลุ่มในช่วงนี้ เช่น พรรคชาตินิยมเวียดนามที่ก่อการกำเริบเอียนบ๊ายที่ล้มเหลวในปี 2473 แต่ท้ายที่สุด ไม่มีกลุ่มใดประสบความสำเร็จมากเท่ากับแนวร่วมเวียดมินห์ ซึ่งก่อตั้งในปี 2484 ซึ่งอยู่ในการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และได้รับเงินทุนจากสหรัฐและพรรคชาตินิยมจีนในการต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่น[53][A 4]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสปราชัยต่อเยอรมนีในปี 2483 สำหรับอินโดจีนของฝรั่งเศส หมายความว่า เจ้าหน้าที่อาณานิคมกลายเป็นฝรั่งเศสเขตวีชี พันธมิตรของอักษะเยอรมนี-อิตาลี สรุปคือ ฝรั่งเศสร่วมมือกับกำลังญี่ปุ่นหลังการบุกครองอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี 2483 ฝรั่งเศสยังดำเนินกิจการในอาณานิคมต่อไป ทว่าอำนาจสูงสุดเป็นของญี่ปุ่น[53]

นายทหารเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนดาบต่อร้อยโทชาวบริติชในไซ่ง่อน วันที่ 13 กันยายน 2488

เวียดมินห์ก่อตั้งขึ้นเป็นสันนิบาตเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส แต่ก็ต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นในปี 2488 ด้วยสาเหตุเดียวกัน สหรัฐและพรรคชาตินิยมจีนสนับสนุนเวียดมินห์ในการต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่น[55] ทว่า ทีแรกเวียดมินห์ยังไม่มีกำลังพอต่อสู้ในยุทธการแท้จริง ผู้นำเวียดมินห์ โฮจิมินห์ ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกพรรคชาตินิยมจีนจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี[56]

การยึดครองซ้อนโดยฝรั่งเศสและญี่ปุ่นดำเนินมากระทั่งกำลังเยอรมนีถูกขับออกจากฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่อาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศสเริ่มต้นเจรจาทางลับกับฝรั่งเศสเสรี ด้วยเกรงว่าพวกตนไม่อาจเชื่อใจเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้อีกต่อไป กองทัพญี่ปุ่นจึงกักตัวเจ้าหน้าที่และทหารฝรั่งเศสในวันที่ 9 มีนาคม 2488[57] และสถาปนารัฐหุ่นเชิดจักรวรรดิเวียดนาม ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ยแทน

ระหว่างปี 2487–2488 เกิดทุพภิกขภัยรุนแรงทางเหนือของเวียดนามเนื่องจากสภาพอากาศเลวและการแสวงหาประโยชน์ของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นประกอบกัน เพราะอินโดจีนฝรั่งเศสต้องจัดส่งธัญพืชแก่ญี่ปุ่น[58] มีผู้เสียชีวิตเพราะการอดอยากระหว่าง 400,000 ถึง 2 ล้านคน[24] จากประชากรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 ล้านคน[59] ในเดือนมีนาคม 2488 เวียดมินห์อาศัยช่องว่างทางการปกครอง[60]ซึ่งเกิดจากการกักตัวเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสหนุนให้ประชาชนปล้นคลังข้าวและปฏิเสธไม่จ่ายภาษี[61] มีคลังสินค้าถูกปล้นระหว่าง 75 ถึง 100 แห่ง[62] การกบฏต่อผลกระทบแห่งทุพภิกขภัยและเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบต่อภัยดังกล่าวบางส่วนเสริมความนิยมของเวียดมินห์ และเวียดมินห์สามารถระดมสมาชิกได้เป็นจำนวนมากในช่วงนี้[60]

ระหว่างเดือนสิงหาคม 2488 กองทัพญี่ปุ่นยังไม่มีความเคลื่อนไหว ขณะที่เวียดมินห์และกลุ่มชาตินิยมอื่นยึดสถานที่ราชการและอาวุธ ซึ่งเริ่มการปฏิวัติเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่โอเอสเอสเข้าพบโฮจิมินห์และนายทหารเวียดมินห์อื่นหลายครั้งในช่วงนี้[63] และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2488 โฮจิมินห์ประกาศอิสรภาพสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามต่อหน้าฝูงชน 500,000 คนในฮานอย[62] เขาเริ่มสุนทรพจน์โดยถอดความคำประกาศอิสรภาพสหรัฐว่า "มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข"[62]

เวียดมินห์ยึดอำนาจในเวียดนามในการปฏิวัติเดือนสิงหาคม[62] ตาม Gabriel Kolko เวียดมินห์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง[64] ทว่า อาเธอร์ เจ. ดอมเมน เตือน "มุมมองที่ถูกทำให้เย้ายวน" ของความสำเร็จนี้: "การใช้ความสะพรึงกลัวของเวียดมินห์นั้นเป็นระบบ....พรรคดึงรายชื่อผู้ต้องฆ่าทิ้งอย่างไม่รีรอ"[65] หลังพ่ายในสงคราม กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นมอบอาวุธให้ชาวเวียดนาม และยังคุมขังเจ้าหน้าที่และนายทหารวีชีฝรั่งเศสเป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังยอมจำนน เวียดมินห์ระดมทหารญี่ปุ่นกว่า 600 นายและมอบบทบาทให้พวกเขาฝึกหรือบังคับบัญชาทหารเวียดนาม[66][67]

อย่างไรก็ดี ฝ่ายสัมพันธมิตรหลักผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักร สหรัฐและสหภาพโซเวียตล้วนตกลงกันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของฝรั่งเศส[62] เนื่องจากฝรั่งเศสไม่มีหนทางยึดเวียดนามคืนได้ทันที มหาอำนาจจึงบรรลุความตกลงกันว่าทหารอังกฤษจะยึดครองเวียดนามใต้ ขณะที่กำลังจีนชาตินิยมจะเคลื่อนเข้ามาจากทางเหนือ[68] กำลังชาตินิยมจีนเข้าประเทศเวียดนามเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 16 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2488 เมื่ออังกฤษยกพลขึ้นบกทางใต้ ก็ติดอาวุธให้กำลังฝรั่งเศสที่ถูกกักตัว ตลอดจนกำลังญี่ปุ่นที่ยอมจำนนบางส่วนเพื่อช่วยฝรั่งเศสยึดเวียดนามใต้คน เพราะไม่มีพลเพียงพอกระทำการตามลำพัง[62]

ด้วยการกระตุ้นของสหภาพโซเวียต ทีแรกโฮจิมินห์พยายามเจรจากับฝรั่งเศส ซึ่งกำลังสถาปนาการควบคุมทั้งพื้นที่อย่างช้า ๆ[69] ในเดือนมกราคม 2489 เวียดมินห์ชนะการเลือกตั้งทั่วเวียดนามเหนือและกลาง[70] เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2489 โฮลงนามความตกลงอนุญาตให้กำลังฝรั่งเศสแทนกำลังจีนชาตินิยม แลกกับการรับรองสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามของฝรั่งเศสว่าเป็นสาธารณรัฐ "อิสระ" ในสหภาพฝรั่งเศส โดยเกณฑ์การรับรองนี้จะกำหนดโดยการเจรจาในอนาคต[71][72][73] ฝรั่งเศสขึ้นบกในฮานอยเมื่อเดือนมีนาคม 2489 และขับเวียดมินห์ออกจากนครในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น[69] กำลังอังกฤษออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2489 ทิ้งเวียดนามให้อยู่ในการดูแลของฝรั่งเศส[74] ไม่นานให้หลัง เวียดมินห์เริ่มต้นสงครามกองโจรต่อกำลังสหภาพฝรั่งเศส เริ่มต้นสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง

สงครามลุกลามไปยังประเทศลาวและกัมพูชา ที่ซึ่งนักคอมมิวนิสต์จัดระเบียบขบวนการปะเทดลาวและเขมรเสรี ซึ่งทั้งสองถอดแบบมาจากเวียดมินห์[75] ด้านสถานการณ์โลก สงครามเย็นเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งหมายความว่าการกระชับความสัมพันธ์ซึ่งมีระหว่างฝ่ายตะวันตกและสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้พังทลายลง การขาดอาวุธเป็นอุปสรรคของเวียดมินห์ แต่สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อปี 2492 คอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมืองจีนได้ส่วนใหญ่แล้ว และสามารถจัดหาอาวุธให้แก่พันธมิตรเวียดนามได้[75]

ฝรั่งเศสถอย 2493–2497

[แก้]
ทหารฝรั่งเศสต่อสู้กับการซุ่มโจมตีของเวียดมินห์ในปี 2495

ในเดือนมกราคม 2493 สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตรับรองว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามของเวียดมินห์ซึ่งมีฐานในฮานอยเป็นรัฐบาลเวียดนามที่ชอบธรรม เดือนต่อมา สหรัฐและบริเตนใหญ่รับรองว่ารัฐเวียดนามในไซ่ง่อนที่ฝรั่งเศสหนุนหลัง นำโดยอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย เป็นรัฐบาลเวียดนามที่ชอบธรรม การปะทุของสงครามเกาหลีในเดือนมิถุนายนปีนั้น ชวนให้ผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าสงครามในอินโดจีนเป็นตัวอย่างลัทธิการขยายอิทธิพล (expansionism) คอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตชี้นำ

ที่ปรึกษาทางทหารจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มให้การสนับสนุนเวียดมินห์ในเดือนกรกฎาคม 2493 อาวุธ ความรู้ความชำนาญและจับกังของจีนเปลี่ยนเวียดมินห์จากกำลังกองโจรเป็นกองทัพตามแบบ ในเดือนกันยายนปีนั้น สหรัฐตั้งคณะที่ปรึกษาช่วยเหลือทางทหาร เพื่อคัดกรองคำขอความช่วยเหลือ คำแนะนำทางยุทธศาสตร์และการฝึกทหารเวียดนามของฝรั่งเศส จนถึงปี 2497 สหรัฐจัดหาอาวุธเบา 300,000 ชิ้นและใช้เงิน 1,000,000,000 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐสนับสนุนความพยายามทางทหารของฝรั่งเศส คิดเป็น 80% ของมูลค่าสงคราม

นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐซึ่งพิจารณาความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีสามลูก ทว่า รายงานความจริงจังของการพิจารณานี้และผู้พิจารณายังคลุมเครือและขัดแย้งกันแม้จนปัจจุบัน แผนฉบับหนึ่งสำหรับปฏิบัติการแร้ง ที่เสนอไว้กล่าวถึงการส่งเครื่องบินบี-29 จากฐานทัพสหรัฐในภูมิภาค 60 ลำ โดยมีเครื่องบินขับไล่ที่อาจมากถึง 150 ลำที่ปล่อยจากเรือบรรทุกเครื่องบินกองเรือสหรัฐที่เจ็ดสนับสนุน ทิ้งระเบิดที่ตั้งของหวอ เงวียน ซ้าป ผู้บัญชาการเวียดมินห์ แผนดังกล่าวรวมทางเลือกการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากถึงสามลูกต่อที่ตั้งของเวียดมินห์ พล.ร.อ. อาเธอร์ ดับเบิลยู. แรดฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการทหารสหรัฐ สนับสนุนทางเลือกนิวเคลียร์นี้ เครื่องบินบี-29 บี-36 และบี-47 สามารถโจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้ เช่นเดียวกับอากาศยานประจำเรือจากกองเรือที่เจ็ด

ทหารเวียดมินห์ประกาศชัยในยุทธการที่เดียนเบียนฟู

เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐแล่นไปยังอ่าวตังเกี๋ย และมีเที่ยวบินลาดตระเวนเหนือเดียนเบียนหูระหว่างการเจรจา ตามรองประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน แผนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคณะเสนาธิการทหารที่ร่างแผนใช้อาวุธนิวเคลียร์ยุทธวิธีขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนฝรั่งเศส นิกสันเสนอว่าสหรัฐอาจต้อง "ส่งทหารอเมริกาเข้าไป" ประธานาธิบดีสหรัฐ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ตั้งเงื่อนไขการมีส่วนเกี่ยวข้องของสหรัฐกับการสนับสนุนของอังกฤษ แต่คัดค้านการเสี่ยงขนาดนั้น ในท้ายที่สุด ไอเซนฮาวร์ตัดสินใจไม่แทรกแซง เพราะเชื่อว่าความเสี่ยงทางการเมืองมีมากกว่าประโยชน์ที่เป็นไปได้ ไอเซนฮาวร์เป็นพลเอกห้าดาว เขารอบคอบกับการดึงสหรัฐเข้าไปมีส่วนในสงครามภาคพื้นดินในทวีปเอเชีย

เวียดมินห์ได้รับการสนับสนุนสำคัญจากสหภาพโซเวียตและจีน การสนับสนุนของจีนในสงครามชายแดน พ.ศ. 2493 ทำให้การส่งกำลังจากจีนเข้ามายังเวียดนามได้ ตลอดความขัดแย้ง การประมาณของข่าวกรองสหรัฐยังข้องใจกับโอกาสสำเร็จของฝรั่งเศส

ยุทธการที่เดียนเบียนฟูเป็นการสิ้นสุดการมีส่วนเกี่ยวข้องของฝรั่งเศสในอินโดจีน กำลังเวียดมินห์ของซ้าปมอบความปราชัยทางทหารอันน่าพิศวงแก่ฝรั่งเศส และในวันที่ 7 พฤษภาคม 2497 ทหารที่ตั้งของสหภาพฝรั่งเศสยอมจำนน ในจำนวนเชลยศึกชาวฝรั่งเศส 12,000 คนที่เวียดมินห์จับได้ มีผู้รอดชีวิตเพียง 3,000 คนเท่านั้น ที่การประชุมเจนีวา ฝรั่งเศสเจรจาความตกลงหยุดยิงกับเวียดมินห์ และฝรั่งเศสให้เอกราชแก่กัมพูชา ลาวและเวียดนาม

ยุคเปลี่ยนผ่าน

[แก้]
การประชุมเจนีวาปี 2497

ประเทศเวียดนามถูกแบ่งชั่วคราวที่เส้นขนานที่ 17 และภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงเจนีวา พลเรือนได้รับโอกาสให้เคลื่อนย้ายอย่างเสรีระหว่างสองรัฐชั่วคราวเป็นเวลา 300 วัน มีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 2499 เพื่อตั้งรัฐบาลรวม ชาวเวียดนามเหนือประมาณหนึ่งล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกชนกลุ่มน้อย หนีลงใต้ ด้วยกลัวถูกคอมมิวนิสต์เบียดเบียน หลังการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของอเมริกาที่ใช้คำขวัญอย่าง "พระนางมารีย์พรหมจารีมุ่งหน้าลงใต้" และได้รับการช่วยเหลือโดยโครงการย้ายที่อยู่ที่สหรัฐจัดหาทุน 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมการใช้กองเรือที่เจ็ดขนผู้ลี้ภัยข้ามฟาก อาจมีมากถึงสองล้านคนหากไม่ถูกเวียดมินห์หยุดไว้ก่อน ตั้งใจว่าผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามเหนือจะให้ระบอบโง ดิ่ญ เสี่ยมมีเขตเลือกตั้งต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็ง เสี่ยมต่อมาตั้งคาทอลิกเวียดนามเหนือและกลางดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลเขา

นอกเหนือจากคาทอลิกหลั่งไหลลงใต้ ยังมี "ผู้กลับรวมกลุ่มปฏิวัติ" มากถึง 130,000 คนเดินทางขึ้นเหนือเพื่อ "รวมกลุ่มใหม่" โดยคาดหมายว่าจะกลับใต้ภายในสองปี เวียดมินห์เหลือกลุ่มแกนนำ 5,000 ถึง 10,000 คนในทางใต้เป็น "โครงสร้างย่อยทางการเมือง-ทหารภายในวัตถุประสงค์อุดมการณ์เรียกร้องดินแดนของชนชาติเดียวกัน" ทหารฝรั่งเศสคนสุดท้ายมีกำหนดออกจากเวียดนามในเดือนเมษายน 2499 สาธารณรัฐประชาชนจีนเสร็จสิ้นการถอนทหารจากเวียดนามเหนือในเวลาใกล้เคียงกัน พลเรือนเวียดนามประมาณ 52,000 คนย้ายจากใต้ขึ้นเหนือ

ระหว่างปี 2496 ถึง 2499 รัฐบาลเวียดนามเหนือตั้งการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรต่าง ๆ ซึ่งรวม "การลดการเช่า" และ "การปฏิรูปที่ดิน" ซึ่งทำให้เกิดการกดขี่ทางการเมืองอย่างสำคัญ ระหว่างการปฏิรูปที่ดิน คำให้การจากพยานเวียดนามเหนือแนะว่ามีสัดส่วนการประหารชีวิตหนึ่งครั้งต่อชาวบ้านทุก 160 คน ซึ่งเมื่อประมาณทั่วประเทศแล้วจะชี้ว่ามีการประหารชีวิตเกือบ 100,000 ครั้ง เนื่องจากการรณรงค์ดังกล่าวกระจุกส่วนใหญ่ในพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำแดง นักวิชาการในขณะนั้นจึงยอมรับตัวเลขประเมินที่ต่ำลง คือ 50,000 ครั้งอย่างกว้างขวาง ทว่า เอกสารที่ถูกปลดชั้นความลับจากจดหมายเหตุเวียดนามและฮังการีบ่งว่าจำนวนการประหารชีวิตต่ำกว่าที่รายงานในขณะนั้นมาก แม้เป็นไปได้ว่ามากกว่า 13,500 ครั้ง ในปี 2499 ผู้นำในกรุงฮานอยยอมรับว่า "เลยเถิด" ในการนำโครงการนี้ไปปฏิบัติและคืนที่ดินปริมาณมากให้เจ้าของเดิม

ขณะเดียวกัน ฝ่ายเวียดนามใต้ก่อตั้งรัฐเวียดนาม โดยมีบ๋าว ดั่ยเป็นจักรพรรดิและโง ดิ่ญ เสี่ยมเป็นนายกรัฐมนตรี (ได้รับแต่งตั้งในเดือนกรกฎาคม 2487) รัฐบาลสหรัฐและรัฐเวียดนามของโง ดิ่ญ เสี่ยมไม่ได้ลงนามใด ๆ ในการประชุมเจนีวาปี 2497 ในปัญหาการสร้างเอกภาพอีกครั้ง ผู้แทนเวียดนามที่มิใช่คอมมิวนิสต์คัดค้านการแบ่งประเทศเวียดนามอย่างขันแข็ง แต่แพ้เมื่อฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของฝั่ม วัน ด่ง ผู้แทนเวียดมินห์ ผู้เสนอว่าสุดท้ายเวียดนามจะรวมกันโดยการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของ "คณะกรรมการท้องถิ่น" สหรัฐโต้ด้วยสิ่งที่เรียก "แผนอเมริกา" โดยการสนับสนุนเวียดนามใต้และสหราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดให้การเลือกตั้งสร้างเอกภาพภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ แต่ถูกผู้แทนโซเวียตปฏิเสธ สหรัฐกล่าวว่า "ตามแถลงการณ์ของผู้แทนรัฐเวียดนาม สหรัฐกล่าวย้ำท่าที่เดิมว่าประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตของตนเองและจะไม่เข้าร่วมกับการจัดการใด ๆ ที่จะขัดขวางสิทธินี้"

ประธานาธิบดีสหรัฐ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เขียนในปี 2496 ว่า "ผมไม่เคยพูดหรือแลกเปลีย่นกับผู้ที่มีความรู้เรื่องกิจการอินโดจีนที่ไม่เห็นชอบว่าหากมีการจัดการเลือกตั้งขณะที่มีการรบกันนั้น เป็นไปได้ว่าประชากรร้อยละแปดสิบจะออกเสียงลงคะแนนให้คอมมิวนิสต์โฮจิมินห์เป็นผู้นำแทนประมุขแห่งรัฐบ๋าว ดั่ย จริงที่เดียว การขาดความเป็นผู้นำและแรงขับในสว่นของบ๋าว ดั่ยเป็นปัจจัยหนึ่งในความรู้สึกที่แพร่หลายในหมู่ชาวเวียดนามว่าพวกเขาไม่มีสิ่งต้องต่อสู้ให้" ทว่า ตาม เพนตากอนเพเพอส์ ตั้งแต่ปี 2496 ถึง 2499 "โง ดิ่ญ เสี่ยมสร้างปาฏิหารย์อย่างแท้จริง" ในเวียดนามใต้ "เกือบแน่นอนว่าในปี 2499 สัดส่วนซึ่งอาจออกเสียงลงคะแนนให้โฮ ในการเลือกตั้งอย่างเสรีกับเสี่ยม จะน้อยกว่าร้อยละแปดสิบมาก" ในปี 2500 ผู้สังเกตการณ์อิสระจากประเทศอินเดีย โปแลนด์และแคนาดาเป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมระหว่างประเทศ (ICC) แถลงว่าการเลือกตั้งเสรีและปลอดอคตินั้นเป็นไปไม่ได้ โดย ICC รายงานว่าเวียดนามใต้และเหนือไม่ปฏิบัติตามความตกลงสงบศึก


ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2498 เสี่ยมกำจัดการคัดค้านทางการเมืองทั้งหมดในเวียดนามใต้โดยเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มศาสนาสองกลุ่ม คือ กาวด๋าย (Cao Đài) และฮหว่าหาว การรณรงค์ยังให้ความสนใจกับกลุ่มองค์การอาชญากรรมบิ่ญเซวียน (Bình Xuyên) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสมาชิกตำรวจลับพรรคคอมมิวนิสต์และมีบางส่วนเป็นทหาร เมื่อการคัดค้านฐานกว้างต่อยุทธวิธีโหดร้ายเพิ่มขึ้น เสี่ยมยิ่งมุ่งโทษคอมมิวนิสต์

ในการลงประชามติเรื่องอนาคตของรัฐเวียดนามเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2498 เสี่ยมโกงการสำรวจความเห็นที่มีโง ดิ่ญ ญู (Ngô Đình Nhu) น้องชายเขาเป็นผู้กำกับดูแล และได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 98.2 รวมถึงร้อยละ 133 ในไซ่ง่อน ที่ปรึกษาอเมริกันของเขาแนะนำให้ส่วนต่างชนะพอประมาณ "ร้อยละ 60 ถึง 70" แต่เสี่ยมมองการเลือกตั้งว่าเป็นการทดสอบอำนาจ สามวันให้หลัง เขาประกาศให้เวียดนามใต้เป็นรัฐเอกราชชื่อสาธารณรัฐเวียดนาม (ROV) โดยมีตัวเขาเป็นประธานาธิบดี เช่นเดียวกัน โฮจิมินห์และข้าราชการคอมมิวนิสต์อื่นชนะการเลือกตั้งในเวียดนามเหนืออย่างน้อยร้อยละ 99 ทุกครั้ง

ทฤษฎีโดมิโนซึ่งแย้งว่าหากประเทศหนึ่งเสียแก่คอมมิวนิสต์ แล้วประเทศแวดล้อมทั้งหมดจะตามกันไปด้วย ถูกเสนอเป็นนโยบายครั้งแรกโดยรัฐบาลไอเซนฮาวร์ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวในสุนทรพจน์ต่อสหายเวียดนามชาวอเมริกันว่า "พม่า ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์และที่ชัดเจนลาวและกัมพูชาเป็นประเทศที่ความมั่นคงจะถูกคุกคามเมื่อคลื่นแดงคอมมิวนิสต์ล้นเข้าเวียดนาม"

ยุคเสี่ยม 2498–2506

[แก้]

การปกครอง

[แก้]
ประธานาธิบดีสหรัฐ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส ต้อนรับประธานาธิบดีโง ดิญ เสี่ยมแห่งเวียดนามใต้ในกรุงวอชิงตัน, 8 พฤษภาคม 2500

เสี่ยมเป็นโรมันคาทอลิกเคร่ง เป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ ชาตินิยม และอนุรักษนิยมสังคมอย่างแรงกล้า นักประวัติศาสตร์ ลืว ดวาน ฮวีญ (Luu Doan Huynh) บันทึกว่า "เสี่ยมเป็นตัวแทนของชาตินิยมแคบและสุดโต่งกอปรกับอัตตาธิปไตยและคติเห็นแก่ญาติ" ชาวเวียดนามส่วนใหญ่เป็นพุทธ และกังวลกับการกระทำอย่างการอุทิศประเทศให้พระนางมารีย์พรหมจารีของเสี่ยม

เสี่ยมเปิดฉากการรณรงค์ "ประณามคอมมิวนิสต์" เริ่มตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2498 ระหว่างนั้นคอมมิวนิสต์และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่นถูกจับ จำคุก ทรมานหรือประหารชีวิต เขาตั้งโทษประหารชีวิตต่อกิจกรรมใด ๆ ที่ถือว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในเดือนสิงหาคม 2499 เกเบรียล คอลโค (Gabriel Kolko) ว่าคู่แข่งต้องสงสัยของเสี่ยมถูกฆ่าประมาณ 20,000 คนระหว่างปี 2498 ถึง 2500 และเมื่อปลายปี 2501 มีนักโทษการเมืองถูกจำคุกประเมินไว้ 40,000 คน ทว่า กึนเทอร์ เลวี (Guenter Lewy) แย้งว่าตัวเลขดังกล่าวเกินจริงและว่าไม่เคยมีนักโทษทุกประเภทเกิน 35,000 คนในทั้งประเทศ

ในเดือนพฤษภาคม 2500 เสี่ยมเยือนรัฐสหรัฐสิบวัน ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์กล่าวสนับสนุนต่อไป และมีการจัดการเดินขบวนเป็นเกียรติแก่เสี่ยมในนครนิวยอร์ก แม้ว่าเสี่ยมจะได้รับยกย่องอย่างเปิดเผย แต่ในทางลับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส (John Foster Dulles) ยอมรับว่าเลือกเสี่ยมเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โรเบิร์ต แม็กนามารา เขียนในการถกเถียงมิรู้จบ (2542) ว่า ผู้อุปภัมถ์สาธารณรัฐเวียดนามอเมริกันใหม่เขลาเรื่องวัฒนธรรมเวียดนามแทบสิ้นเชิง พวกเขาทราบภาษาหรือประวัติศาสตร์ยาวนานของประเทศเพียงเล็กน้อย มีแนวโน้มกำหนดแรงจูงใจแบบอเมริกาต่อการกระทำของเวียดนาม แม้เสี่ยมถูกเตือนแล้วว่า การเชื่อว่าการลอกวิธีการแบบตะวันตกอย่างมืดบอดจะแก้ไขปัญหาของเวียดนามได้เป็นภาพลวง

การก่อการกำเริบทางใต้ 2497–2503

[แก้]
แผนที่การก่อการกำเริบและ "การรบกวน" ปี 2500 ถึง 2503

ระหว่างปี 2497 และ 2500 มีความขัดแย้งขนาดใหญ่แต่ไร้ระเบียบในชนบทซึ่งรัฐบาลเสี่ยมสามารถกำราบได้ ต้นปี 2500 เวียดนามใต้มีสันติภาพเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ทว่า เมื่อกลางปี 2500 ถึง 2502 อุบัติการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นแต่รัฐบาล ""มิได้วิเคราะห์มันว่าเป็นการณรงค์ โดยถือเป็นความไม่สงบที่เจือจางเกินกว่าจะทุ่มทรัพยากรสำคัญของรัฐบาลเวียดนาม" ทว่า เมื่อต้นปี 2502 เสี่ยมถือความไม่สงบดังกล่าวเป็นการณรงค์มีระเบียบและออกกฎหมาย 10/59 ซึ่งทำให้ความรุนแรงทางการเมืองมีโทษประหารชีวิตและริบทรัพย์ มีความแตกแยกในหมู่อดีตเวียดมินห์ซึ่งเป้าหมายหลักคือการจัดการเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้ในข้อตกลงเจนีวา นำไปสู่กิจกรรมพลการแยกจากนักคอมมิวนิสต์และนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลเวียดนามอื่น

ในเดือนธันวาคม 2503 มีการก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยชาติ (หรือเวียดกง) อย่างเป็นทางการโดยมุ่งหมายสร้างเอกภาพนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลเวียดนามทั้งหมดซึ่งรวมถึงที่มิใช่คอมมิวนิสต์ด้วย ตามเอกสารเพนตากอน เวียดกง "เน้นความสำคัญต่อการถอนที่ปรึกษาและอิทธิพลของอเมริกา การปฏิรูปที่ดินและการเปิดเสรีรัฐบาลเวียดนาม รัฐบาลผสมและการประกาศความเป็นกลางของเวียดนาม" บ่อยครั้งผู้นำองค์การถูกปิดเป็นความลับ

เหตุผลสำหรับการคงอยู่ต่อเนื่องของแนวร่วมปลดปล่อยชาติคือความสัมพันธ์เชิงชนชั้นในชนบท ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในชนบทซึ่งปัญหาสำคัญคือการปฏิรูปที่ดิน เวียดมินห์มีค่าเช่าและหนี้สินน้อยกว่า และให้เช่าที่ดินคอมมูน ซึ่งส่วนมากแก่ชาวนาที่ยากจนที่สุด เสี่ยมนำเจ้าของที่ดินคืนสู่หมู่บ้าน ผู้ที่เคยทำเกษตรบนที่ดินที่ตนถือครองมาหลายปีปัจจุบันต้องคืนแก่เจ้าของที่ดินและจ่ายค่าเช่าคืนหลายปี การเก็บค่าเช่านี้กองทัพเวียดนามใต้เป็นผู้บังคับ ความแตกแยกในหมู่บ้านนี้สะท้อนสถานการณ์ที่มีอยู่ต่อฝรั่งเศส: "ร้อยละ 75 สนับสนุนเวียดกง ร้อยละ 20 พยายามเป็นกลางและร้อยละ 5 นิยมรัฐบาลอย่างแน่วแน่"

การเข้ามีส่วนของเวียดนามเหนือ

[แก้]

แหล่งข้อมูลเห็นไม่ตรงกันว่าเวียดนามเหนือมีบทบาทโดยตรงในการช่วยเหลือและจัดระเบียบกบฏเวียดนามใต้ก่อนปี 2503 หรือไม่ คาฮินและลิวอิสประเมินว่า

ขัดกับสมมติฐานนโยบายของสหรัฐ หลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่แสดงว่าการรื้อฟื้นสงครามกลางเมืองในรัฐใต้ในปี 2501 ดำเนินการโดยชาวใต้เอง มิใช่การริเริ่มของฮานอย... กิจกรรมการก่อการกำเริบต่อรัฐบาลไซ่ง่อนเริ่มในรัฐใต้ภายใต้ผู้นำใต้ ไม่ใช่เป็นผลลัพธ์ของการชี้นำใด ๆ จากฮานอย ซึ่งขัดกับคำสั่งห้ามของฮานอย[76]

ดุจกัน นักประวัติศาสตร์ อาเธอร์ ชเลซิงเกอร์ จูเนียร์ กล่าวว่า "จนหลังเดือนกันยายน 2503 กว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือจะอนุมัติอย่างเป็นทางการและเรียกร้องให้ปลดปล่อยภาคใต้จากจักรวรรดินิยมอเมริกา"

ในทางตรงข้าม เจมส์ โอลสันและแรนดี รอเบิตส์ประเมินว่าเวียดนามเหนืออนุญาตให้มีการก่อการกำเริบระดับต่ำในเดือนธันวาคม 2509 เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าเวียดนามเหนือกำลังละเมิดข้อตกลงเจนีวา เอกราชของเวียดกงจึงมีการเน้นในโฆษณาชวนเชื่อคอมมิวนิสต์

ในเดือนมีนาคม 2509 ผู้นำคอมมิวนิสต์ใต้ เล สวน เสนอแผนฟื้นฟูการก่อการกำเริบชื่อ "ถนนสู่รัฐใต้" แก่สมาชิกอื่นของคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงฮานอย แต่เนื่องด้วยทั้งจีนและโซเวียตคัดค้านการเผชิญหน้าในขณะนั้น แผนของเล สวนจึงถูกปฏิเสธ ทว่า ผู้นำเวียดนามเหนืออนุมัติมาตรการเบื้องต้นในการฟื้นฟูการก่อการกำเริบทางใต้ในเดือนธันวาคม 2509 กำลังคอมมิวนิสต์อยู่ภายใต้โครงสร้างบังคับบัญชาเดียวที่จัดตั้งในปี 2511 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนืออนุมัติ "สงครามประชาชน" แก่รัฐใต้ในสมัยประชุมเดือนมกราคม 2512 ในเดือนพฤษภาคม มีการสถาปนากลุ่ม 559 เพื่อทำนุบำรุงและปรังปรุงเส้นทางสายโฮจิมินห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเส้นทางภูเขาหกเดือนผ่านประเทศลาว "ผู้รวมกลุ่มใหม่" ปี 2507 ประมาณ 500 คนถูกส่งลงใต้ตามเส้นทางระหว่างปฏิบัติการปีแรก การส่งมอบอาวุธครั้งแรกผ่านเส้นทางสำเร็จในเดือนสิงหาคม 2512 ทหารคอมมิวนิสต์ประมาณ 40,000 นายแทรกซึมเข้ารัฐใต้ระหว่างปี 2514–16

แผนที่เส้นทางสายโฮจิมินห์ (สีส้มและแดง)
พลรบใช้เวลาสี่เดือนในการเดินทางข้ามภูมิประเทศที่ขรุขระจากเวียดนามเหนือไปสมรภูมิเวียดนามใต้
เส้นทางสายโฮจิมินห์ตัดผ่านประเทศลาว เป็นการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ที่ซับซ้อนซึ่งทำให้เวียดนามเหนือยังธำรงความพยายามของสงครามไว้ได้แม้ท่ามกลางการรณรงค์ทิ้งระเบิดทางอากาศใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

การขยายขอบเขตของเคนเนดี 2504–06

[แก้]
การแถลงข่าวของประธานาธิบดีเคนเนดี, 23 มีนาคม 2504

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2503 สมาชิกวุฒิสภาจอห์น เอฟ. เคนเนดี ชนะรองประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แม้ไอเซนฮาวร์เคยเตือนเคนเนดีเกี่ยวกับประเทศลาวและเวียดนาม ทวีปยุโรปและละตินอเมริกา "น่ากลัวกว่าทวีปเอเชียในวิสัยทัศน์ของเขา" ในสุนทรพจน์รับตำแหน่งของเขา เคนเนดีปฏิญาณทะเยอทะยานว่า "จะจ่ายทุกราคา แบกรับทุกภาระ เผชิญทุกความยากลำบาก สนับสนุนมิตรทุกคน ต่อกรศัตรูทั้งปวง เพื่อรับประกันความอยู่รอดและความสำเร็จของเสรีภาพ" ในเดือนมิถุนายน 2504 เขาเห็นแย้งอย่างขมขื่นกับนายกรัฐมนตรีโซเวียต นีกีตา ครุชชอฟ เมื่อทั้งสองประชุมในกรุงเวียนนาเพื่อปรึกษาประเด็นสหรัฐ–โซเวียตที่สำคัญ เพียง 16 เดือนให้หลัง วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (16–28 ตุลาคม 2505) มีการแพร่สัญญาณโทรทัศน์วโลก เป็นช่วงที่สงครามเย็นใกล้บานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์เต็มขั้นที่สุด และสหรัฐเร่งระดับความพร้อมของกองบัญชาการอากาศยุทธศาสตร์ (SAC) เป็นเดฟคอน 2

รัฐบาลเคนเนดียังยึดมั่นกับนโยบายต่างประเทศสงครามเย็นซึ่งรับช่วงจากรัฐบาลทรูแมนและไอเซนฮาวร์ ในปี 2504 สหรัฐมีทหาร 50,000 นายประจำอยู่ในเกาหลี แลัเคนเนดีเผชิญกับวิกฤตการณ์สามส่วน ได้แก่ ความล้มเหลวของการบุกครองอ่าวหมู การก่อสร้างกำแพงเบอร์ลิน และการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลลาวที่นิยมตะวันตกับขบวนการคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว วิกฤตการณ์เหล่านี้ทำให้เคนเนดีเชื่อว่าความล้มเหลวอีกครั้งของสหรัฐในการเข้าควบคุมและหยุดการขยายตัวของคอมมิวนิสต์จะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐกับพันธมิตรและชื่อเสียงของเขาเอง ฉะนั้นเคนเนดีจึงมุ่งมั่น "ขีดเส้นในทราย" และป้องกันชัยของคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม เขาบอกเจมส์ เรสตันแห่งเดอะนิวยอร์กไทมส์ ทันทีหลังการประชุมกับครุชชอฟในกรุงเวียนนาว่า "บัดนี้เรามีปัญหาในการทำให้อำนาจของเราน่าเชื่อถือและเวียดนามดูเป็นที่แห่งนั้น"

ในเดือนพฤษภาคม 2504 รองประธานาธิบดีสหรัฐ ลินดอน บี. จอห์นสันเยือนกรุงไซ่ง่อนและประกาศอย่างกระตือรือร้นว่าเสี่ยมเป็น "วินสตัน เชอร์ชิลล์แห่งทวีปเอเชีย" เมื่อถามว่าเหตุใดเขาจึงเห็นเช่นนั้น จอห์นสันตอบว่า "เสี่ยมเป็นเด็กคนเดียวของเราข้างนอกนั้น" จอห์นสันประกันการช่วยเหลือเพิ่มเติมในการก่อร่างกำลังรบซึ่งสามารถต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้แก่เสี่ยม

นโยบายของเคนเนดีต่อเวียดนามใต้อาศัยสมมติฐานว่าเสี่ยมและกำลังของเขาจำต้องพิชิตกองโจรได้ด้วยตนเอง เขาต่อต้านการวางกำลังรบอเมริกันและสังเกตว่า "การนำกำลังสหรัฐขนานใหญ่ที่นั่นในตอนนี้ แม้อาจมีผลกระทบทางทหารน่าพอใจในทีแรก แทบแน่นอนว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเมืองที่เลว และในระยะยาวรวมถึงผลลัพธ์ทางทหารที่เลวด้วย" ทว่า คุณภาพของกองทัพเวียดนามใต้ยังเลวอยู่ ความเป็นผู้นำที่เลว การฉ้อราษฎร์บังหลวง และการเลื่อนยศทางการเมืองล้วนมีส่วนในการทำให้กองทัพเวียดนามใต้อ่อนแอ การโจมตีของกองโจรมีความถี่เพิ่มขึ้นเมื่อการก่อการกำเริบเริ่มได้ที่ แม้การสนับสนุนเวียดกงของรัฐบาลเวียดนามเหนือจะมีส่วนบ้าง แต่ความไร้สามารถของรัฐบาลเวียดนามใต้เป็นศูนย์กลางของวิกฤต

ประเด็นหลักหนึ่งที่เคนเนดียกขึ้นมาคือโครงการอวกาศและขีปนาวุธของโซเวียตล้ำหน้าโครงการของสหรัฐหรือไม่ แม้เคนเนดีเน้นภาวะเสมอภาคขีปนาวุธพิสัยไกลกับโซเวียต แต่เขายังสนใจในการใช้กำลังพิเศษสำหรับการสงครามต่อต้านการก่อการกำเริบในประเศโลกที่สามที่ถูกการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์คุกคาม แม้เดิมตั้งใจใช้หลังแนวหน้าหลังการบุกครองทวีปยุโรปของโซเวียตตามแบบ แต่เคนเนดีเชื่อว่ากลยุทธ์กองโจรที่กำลังพิเศษใช้อย่างกรีนเบอเรต์จะมีประสิทธิภาพในสงคราม "ไฟไม้พุ่ม" ในเวียดนาม

ที่ปรึกษาของเคนเนดี แม็กซ์เวลล์ เทย์เลอร์และวอลต์ รอสตอว์ แนะนำให้ส่งกำลังสหรัฐไปเวียดนามใต้โดยปลอมตัวเป็นคนงานช่วยเหลืออุทกภัย เคนเนดีปฏิเสธความคิดดังกล่าวแต่เพิ่มการสนับสนุนทางทหารอีก ในเดือนเมษายน 2505 จอห์น เคนเนธ กัลไบรธเตือนเคนเนดีถึง "อันตรายที่เราเป็นกำลังอาณานิคมในบริเวณแทนฝรั่งเศส และหลั่งเลือดเช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสเคยมาแล้ว" เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2506 มีทหารอเมริกัน 16,000 นายในเวียดนามใต้ เพิ่มขึ้นจากที่ปรึกษา 900 คนในสมัยไอเซนฮาวร์

มีการริเริ่มแฮมเล็ตยุทธศาสตร์ในปลายปี 2504 โครงการร่วมสหรัฐ–เวียดนามใต้นี้พยายามตั้งถิ่นฐานประชากรชนบเข้าค่ายมีป้อมสนาม มีการนำไปปฏิบัติในต้นปี 2505 และมีการบังคับย้ายถิ่นฐาน การกักกันหมู่บ้าน และการแยกออกซึ่งชาวเวียดนามใต้ชนบทบ้างเป็นชุมชนใหม่ซึ่งจะเป็นการแยกชาวนาจากผู้ก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ มีความหวังว่าชุมชนใหม่นี้จะให้ความปลอดภัยแก่ชาวนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวนากับรัฐบาลกลาง ทว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2506 โครงการเริ่มเสื่อม และยุติอย่างเป็นทางการในปี 2507

วันที่ 23 กรกฎาคม 2505 สิบสี่ประเทศ รวมทั้งจีน เวียดนามใต้ สหภาพโซเวีตย เวียดนามเหนือและสหรัฐลงนามความตกลงให้คำมั่นเคารพความเป็นกลางของประเทศลาว

การขับและลอบฆ่าโง ดิ่ญ เสี่ยม

[แก้]

สมรรถนะอ่อนด้อยของกองทัพเวียดนามใต้มีตัวอย่างจากการปฏิบัติที่ล้มเหลวอย่างยุทธการที่อั๋บบั๊ก (Ap Bac) เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2506 ซึ่งเวียดกงกองเล็ก ๆ ชนะการยุทธ์ต่อกำลังเวียดนามใต้ที่ใหญ่กว่าและมียุทโธปกรณ์ดีกว่ามาก นายทหารหลายนายดูไม่เต็มใจเข้าร่วมรบ

ฮวี่ญ วัน กาว (Huỳnh Văn Cao) ผู้บังคับบัญชาเหล่าที่ 4 นายพลที่เสี่ยมเชื่อใจที่สุด นำกองทัพบกสาธารณรัฐเวียดนามในยุทธการนั้น กาวเป็นคาทอลิกซึ่งได้รับการเลื่อนยศเนื่องจากศาสนาและความซื่อสัตย์มากกว่าทักษะ และงานหลักของเขาคือการสงวนกำลังของเขาเพื่อยับยั้งรัฐประหาร ก่อนหน้านี้เขาอาเจียนระหว่างการโจมตีของคอมมิวนิสต์ ผู้กำหนดนโยบายบางคนในรัฐบาลาสหรัฐเริ่มสรุปว่าเสี่ยมไร้สามารถพิชิตคอมมิวนิสต์และอาจตกลงกับโฮจิมินห์ เขาดูกังวลเฉพาะกับการปัดป้องรัฐประหาร และมีความหวาดระแวงมากขึ้นหลังความพยายามในปี 2503 และ 2505 ซึ่งเขาเชื่อว่าสหรัฐส่งเสริมด้วยบางส่วน รอเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีหมายเหตุว่า "เสี่ยมจะไม่ยอมผ่อนปรนให้แม้แต่น้อย เขาใช้เหตุผลคุยด้วยยาก ..."

ความไม่พอใจกับนโยบายของเสี่ยมปะทุให้หลังการยิงเหวฺฟัตด๋าน (Huế Phật Đản) เก้าคนซึ่งส่วนใหญ่พุทธศาสนิกชนที่กำลังประท้วงต่อการห้ามธงศาสนาพุทธในวันวิสาขบูชา ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ต่อต้านนโยบายการเลือกปฏิบัติที่ให้เอกสิทธิ์ต่อคริสตจักรคาทอลิกและสาวก พี่ชายของเสี่ยม โง ดิ่ญ ถุ่ก (Ngô Đình Thục) เป็นอาร์คบิชอปแห่งเว้และลบการแยกระหว่างคริสตจักรกับอาณาจักรอย่างก้าวร้าว การเฉลิมฉลองวันครบรอบปีของถุ่กได้รับเงินทุนจากรัฐบาล และมีการแสดงธงวาติกันอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ยังมีการรื้อถอนเจดีย์โดยกำลังกึ่งทหารคาทอลิกตลอดการปกครองของเสี่ยม เสี่ยมปฏิเสธผ่อนปรนให้ฝ่ายข้างมากพุทธหรือรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตนี้ วันที่ 21 สิงหาคม 2506 กำลังพิเศษ ARVN ของพันเอก เล กวาง ทุง (Lê Quang Tung) ซึ่งภักดีต่อน้องชายของเสี่ยม โง ดิ่ญ ญู (Ngô Đình Nhu) ทำลายเจดีย์ทั่วประเทศเวียดนาม ทำให้เกิดความเสียหายและการทำลายล้างอย่างกว้างขวางและมียอดผู้เสียชีวิตหลักร้อยคน

โง ดิญ เสี่ยมหลังถูกยิงเสียชีวิตในรัฐประหาร, 2 พฤศจิกายน 2506

ข้าราชการสหรัฐเริ่มอภิปรายถึงความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนรัฐบาลระหว่างกลางปี 2506 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐโดยทั่วไปเห็นชอบกับการส่งเสริมรัฐประหาร ส่วนกระทรวงกลาโหมยังนิยมเสี่ยมอยู่ การเปลี่ยนแปลงที่มีการเสนอที่สำคัญ ได้แก่ การถอดถอนน้องชายของเสี่ยมคือญู ผู้ควบคุมตำรวจลับและกำลังพิเศษ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามชาวพุทธและในภาพรวมเป็นสถาปนิกการปกครองของตระกูลโง ข้อเสนอดังกล่าวมีการถ่ายทอดไปยังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงไซ่ง่อนในโทรเลขภายใน 243

สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ติดต่อกับนายพลที่กำลังวางแผนโค่นเสี่ยม พวกเขาได้รับคำบอกว่าสหรัฐจะไม่ขัดขวางการกระทำดังกล่าวหรือลงโทษนายทหารด้วยการตัดการสนับสนุน ประธานาธิบดีเสี่ยมถูกโค่นและประหารชีวิต ร่วมกับน้องชายของเขา ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2506 เมื่อเคนเนดีได้รับแจ้งข่าว แม็กซ์เวล เทย์เลอร์จำได้ว่าเขา "รีบรุดออกจากห้องพร้อมกับมีหน้าตาตื่นตระหนกและหวาดกลัว" เคนเนดีไม่คาดหมายการฆ่าเสี่ยม เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเวียดนามใต้ เฮนรี คาบ็อต ลอดจ์ เชิญผู้นำคณะรัฐประหารไปยังสถานเอกอัครราชทูตและแสดงความยินดี เอกอัครราชทูตลอดจ์แจ้งเคนเนดีว่า "แผนขณะนี้มีสำหรับสงครามระยะสั้นลง" เคนเนดีเขียนจดหมายแสดงความยินดีกับลอดจ์สำหรับ "งานดี"

เกิดความโกลาหลหลังรัฐประหาร รัฐบาลเวียดนามเหนือฉวยโอกาสจากสถานการณ์และเพิ่มการสนับสนุนกองโจร เวียดนามใต้เข้าสู่ระยะความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างสูง เมื่อรัฐบาลทหารหนึ่งโค่นอีกรัฐบาลหนึ่งติด ๆ กัน นักคอมมิวนิสต์มองว่ารัฐบาลใหม่แต่ละรัฐบาลเป็นหุ่นเชิดของอเมริกา ไม่ว่าเสี่ยมจะล้มเหลวอย่าไร แต่ข้อยืนยันว่าเขาเป็นนักชาตินิยมนั้นไม่มีข้อโต้แย้ง

มีการส่งที่ปรึกษาทางทหารสหรัฐไปประจำยังกองทัพเวียดนามใต้ทุกระดับ อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าละเลยสภาพการเมืองของการก่อการกำเริบ รัฐบาลเคนเนดีมุ่งเปลี่ยนการพุ่งความสนใจความพยายามของสหรัฐไปยังการทำให้เกิดสันติและ "การเอาชนะจิตใจ" ของประชากร แต่ผู้นำกองทัพในรัฐบาลอเมริกันเป็นปรปักษ์ต่อบทบาทของที่ปรึกษาสหรัฐนอกเหนือไปจากการฝึกกำลังพลตามแบบ พลเอก พอล ฮาร์คินส์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐในเวียดนามใต้ ทำนายอย่างมั่นใจว่าจะชนะภายในคริสต์มาสปี 2506 ฝ่าย CIA ไม่ได้มองโลกในแง่ดีเท่านั้น โดยเตือนว่า "เวียดกงยังคงควบคุมชนบทส่วนใหญ่โดยพฤตินัย และเพิ่มความเข้มข้นโดยรวมของความพยายามนั้นอย่างเสมอต้นเสมอปลาย"

เจ้าหน้าที่กึ่งทหารของกรมกิจกรรมพิเศษของ CIA ฝึกอบรมและนำชาวเผ่าม้งในลาวและเข้าสู่เวียดนาม กำลังพื้นเมืองมีจำนวนหลักหมื่นคนและดำเนินภารกิจการปฏิบัติโดยตรง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กึ่งทหารเป็นผู้นำ ต่อกำลังปะเทดลาวคอมมิวนิสต์และผู้สนับสนุนชาวเวียดนามเหนือ CIA ยังดำเนินการโครงการฟีนิกซ์และเข้าร่วมในกองบัญชาการการสนับสนุนทางทหารในเวียดนาม – กลุ่มศึกษาและสังเกต (Military Assistance Command, Vietnam – Studies and Observations Group, ย่อ: MAC-V SOG) ซึ่งเดิมชื่อกลุ่มปฏิบัติการพิเศษ แต่มีการเปลี่ยนชื่อเพื่อวัตถุประสงค์ในการอำพราง

การขยายขอบเขตของจอห์นสัน 2506–12

[แก้]

ประธานาธิบดีเคนเนดีถูกลอบฆ่าในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2506 รองประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมากนักกับนโยบายต่อเวียดนาม แต่เมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว จอห์นสันให้ความสนใจกับสงครามทันที วันที่ 24 พฤศจิกายน 2506 เขากล่าวว่า "การยุทธ์ต่อคอมมิวนิสต์ ... จะต้องร่วมกับ ... ความเข้มแข็งและความเด็ดเดี่ยว" จอห์นสันทราบว่าเขารับช่วงสถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในเวียดนามใต้ แต่เขายึดติดกับการให้เหตุผลทฤษฎีโดมิโนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการพิทักษ์เวียดนามใต้ คือ หากเวียดนามใต้ถอยหรือจำยอมสละ ไม่ว่าอย่างไรจะทำให้ชาติอื่นนอกเหนือจากความขัดแย้งนี้ตกอยู่ในอันตรายไปด้วย

สภาปฏิวัติกองทัพ ซึ่งประชุมแทนผู้นำเวียดนามใต้ที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยสมาชิก 12 นาย สภามีพลเอก เซือง วัน มิญ เป็นผู้นำ ผู้ซึ่งสแตนลีย์ คาร์โนว์ นักหนังสือพิมพ์ภาคสนาม ต่อมาเรียกว่า "แบบอย่างของความเซื่องซึม" ลอดจ์ ซึ่งรู้สึกคับข้องใจเมื่อถึงปลายปี ส่งโทรเลขกลับประเทศเกี่ยวกับมิญว่า "เขาจะเข้มแข็งพอเอาชนะสิ่งต่าง ๆ หรือเปล่า" ระบอบของมิญถูกโค่นในเดือนมกราคม 2507 โดยพลเอก งฺเหวียน คั้ญ (Nguyễn Khánh) ทว่ายังมีความไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่องในกองทัพ ซึ่งเกิดรัฐประหารหลายครั้งในชั่วเวลาสั้น ๆ แม้ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสียทุกครั้ง

ในถ้อยแถลงที่คล้ายกับที่กระทำต่อฝรั่งเศสเกือบสองทศวรรษก่อนหน้านี้ โฮจิมินห์เตือนว่าหากอเมริกัน "ต้องการสงครามเป็นเวลายี่สิบปีแล้วเราจะทำสงครามยี่สิบปี หากพวกเขาต้องการสร้างสันติ เราจะสร้างสันติและเชิญพวกเขามาดื่มน้ำชายามบ่าย" บ้างแย้งว่านโยบายของเวียดนามเหนือคือไม่โค่นรัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ย

[แก้]
เครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐขณะหย่อนระเบิดใส่เวียดนามเหนือระหว่างปฏิบัติการโรลลิงธันเดอร์

วันที่ 2 สิงหาคม 2507 ยูเอสเอส แม็ดด็อกซ์ ซึ่งอยู่ระหว่างภารกิจข่าวกรองตามชายฝั่งเวียดนามเหนือ อ้างว่าถูกยิงใส่และได้สร้างความเสียหายแก่เรือตอร์ปิโดหลายลำที่ติดตามเรือในอ่าวตังเกี๋ย มีรายงานการโจมตีครั้งที่สองอีกสองวันให้หลังต่อยูเอสเอส เทอร์เนอร์ จอย และแม็ดด็อกซ์ ในบริเวณเดียวกัน พฤติการณ์ของการโจมตีนั้นมืดมัว ลินดอน จอห์นสันออกความเห็นต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จอร์จ บอลว่า "กะลาสีพวกนั้นข้างนอกนั่นอาจยิงปลาบินได้" สิ่งพิมพ์เผยแพร่ของเอ็นเอสเอที่ไม่ลงวันที่ซึ่งปลดชั้นความลับในปี 2548 เปิดเผยว่าไม่มีการโจมตีในวันที่ 4 สิงหาคม

"การโจมตี" ครั้งที่สองนี้เองนำไปสู่การโจมตีทางอากาศเพื่อตอบโต้ และกระตุ้นให้รัฐสภาอนุมัติข้อมติอ่าวตังเกี๋ยในวันที่ 7 สิงหาคม 2507 ข้อมติดังกล่าวให้อำนาจประธานาธิบดี "ดำเนินมาตรการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อขับไล่การโจมตีด้วยอาวุธใด ๆ ต่อกำลังของสหรัฐและเพื่อป้องกันการรุกรานเพิ่ม" และจอห์นสันอาศัยข้อมติดังกล่าวว่าให้อำนาจเขาขยายขอบเขตสคราม ในเดือนเดียวกัน จอห์นสันปฏิญาณว่าเขาจะ "ไม่ผูกมัดเด็กหนุ่มอเมริกันให้สู้รบในสงครามที่ผมคิดว่าควรให้เด็กหนุ่มเอเชียต่อสู้เพื่อช่วยพิทักษ์แผ่นดินของตนเอง"

สภาความมั่นคงแห่งชาติแนะนำการขยายขอบเขตการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือสามขั้น คล้อยหลังการโจมตีฐานทัพสหรัฐในเปล็ยกูในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2508 เริ่มมีการโจมตีทางอากาศเป็นชุด (ปฏิบัติการลูกดอกเพลิง) ส่วนนายกรัฐมนตรีโซเวียต อเล็กเซ โคซีกินกำลังอยู่ระหว่างเดินทางเยือนเวียดนามเหนือ ปฏิบัติการโรลลิงธันเดอร์และปฏิบัติการอาร์กไลต์ขยายการทิ้งระเบิดทางอากาศและปฏิบัติการสนับสนุนภาคพื้นดิน การทัพทิ้งระเบิดซึ่งสุดท้ายกินเวลานานสามปีตั้งใจบังคับให้เวียดนามเหนือยุติการสนับสนุนเวียดกงโดยคุกคามทำลายการป้องกันภัยทางอากาศและโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมของเวียดนามเหนือ นอกจากนี้ยังมุ่งเพิ่มขวัญกำลังใจของเวียดนามใต้ด้วย ระหว่างเดือนมีนาคม 2508 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2511 โรลลิงธันเดอร์ทิ้งขีปนาวุธ จรวดและระเบิดหนักหลายล้านตันถล่มเวียดนามเหนือ

การทิ้งระเบิดลาว

[แก้]

การทิ้งระเบิดไม่จำกัดอยู่เพียงเวียดนามเหนือ การทัพทางอากาศอย่างอื่น เช่น ปฏิบัติการบาร์เรลโรลมุ่งเป้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐานเวียดกงและ PAVN ซึ่งรวมเส้นทางส่งกำลังบำรุงสายโฮจิมินห์ ซึ่งตัดผ่านประเทศลาวและกัมพูชา ประเทศลาวที่ภายนอกเป็นกลางได้กลายเป็นฉากสงครามกลางเมือง โดยรัฐบาลลาวที่สหรัฐสนับสนุนต่อสู้กับปะเทดลาวและพันธมิตรเวียดนามเหนือ

สหรัฐดำเนินการทิ้งระเบิดทางอากาศขนานใหญ่ต่อปะเทดลาวและกำลัง PAVN เพื่อป้องกันการล่มสลายของรัฐบาลราชาธิปไตยลาว และเพื่อขัดขวางการใช้เส้นทางสายโฮจิมินห์ ระหว่างปี 2507 ถึง 2516 สหรัฐทิ้งระเบิดใส่ลาว 2 ล้านตัน เกือบเท่ากับการทิ้งระเบิดของสหรัฐในทวีปยุโรปและเอเชีย 2.1 ล้านตันตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ลาวเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดหนักที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับขนาดประชากร

กระนั้น วัตถุประสงค์การหยุดเวียดนามเหนือและเวียดกงไม่ประสบความสำเร็จ เสนาธิการกองทัพอากาศสหรัฐ เคอร์ติส เลอเมย์ เป็นผู้สนับสนุนการทิ้งระเบิดเข้มข้นมาช้านานในเวียดนาม และเขียนถึงคอมมิวนิสต์ว่า "เราจะทิ้งระเบิดพวกนั้นให้กลับไปยุคหินทีเดียว"

การรุกปี 2507

[แก้]
กำลัง ARVN และที่ปรึกษาสหรัฐตรวจสอบเฮลิคอปเตอร์ที่ตก ยุทธการที่ด่งสว่าย เดือนมิถุนายน 2508

หลังข้อมติอ่าวตังเกี๋ย รัฐบาลเวียดนามเหนือคาดหมายการมาถึงของทหารสหรัฐและเริ่มขยายเวียดกง ตลอดจนรการส่งกำลังพลเวียดนามเหนือลงเวียดนามใต้เพิ่มขึ้น ในช่วงนี้ เวียดนามเหนือจัดเตรียมอุปกรณ์ให้กำลังเวียดกงและปรับยุทธภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานด้วยปืนเล็กยาวเอเค-47 และอย่างอื่น ตลอดจนการตั้งกองพลที่ 9 "จากกำลังประมาณ 5,000 คนเมื่อเริ่มต้นปี 2502 ขนาดของเวียดกงเติบโตเป็นประมาณ 100,000 คนเมื่อปลายปี 2507 ... ระหว่างปี 2504 ถึง 2507 ขนาดของกองทัพเพิ่มขึ้นจากประมาณ 850,000 นายเป็นเกือบหนึ่งล้านนาย" จำนวนทหารสหรัฐที่วางกำลังไปยังเวียดนามในช่วงเดียวกันมีน้อยกว่ามาก จาก 2,000 นายในปี 2504 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 16,500 นายในปี 2507 ในช่วงนี้ การใช้ยุทธภัณฑ์ที่ยึดได้ลดลง ขณะที่ต้องใช้จำนวนเครื่องกระสุนและเสบียงจำนวนสูงกว่ามากในการคงหน่วยตามแบบ กลุ่ม 559 ได้รับมอบหมายภารกิจให้ขยายเส้นทางสายโฮจิมินห์ ท่ามกลางการทิ้งระเบิดเกือบตลอดเวลาจากเครื่องบินรบสหรัฐ สงครามเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่ระยะการสงครามตามแบบขั้นสุดท้ายของแบบจำลองการสงครามยืดเยื้อสามระยะของรัฐบาลเวียดนามเหนือ บัดนี้เวียดกงได้รับมอบหมายให้ทำลาย ARVN และยึดและถือครองพื้นที่ อย่างไก็ดี เวียดกงยังไม่แข็งกล้าพอที่จะโจมตีเมืองและนครใหญ่

ในเดือนธันวาคม 2507 กำลัง ARVN ประสบความสูญเสียใหญ่หลวงในยุทธการที่ Bình Giã ซึ่งทั้งสองฝ่ายมองว่าเป็นสันปันน้ำ ก่อนหน้านี้ VC ใช้ยุทธวิธีกองโจรตีแล้วหนี อย่างไรก็ดี ที่ Binh Gia พวกเขาเอาชนะกำลัง ARVN ที่เข้มแข็งในการรบตามแบบและอยู่ในสมรภูมินานสี่วัน กำลังเวียดนามใต้แพ้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2508 ที่ยุทธการที่ด่งสว่าย (Đồng Xoài)

สงครามภาคพื้นดินของสหรัฐ

[แก้]
นาวิกโยธินจากกองพันที่ 1 กรมนาวิกโยธินที่ 3 ของสหรัฐเคลื่อนย้ายผู้ต้องสงสัยเวียดกงระหว่างปฏิบัติการค้นหาและกวาดล้างในดานัง ปี 2508

วันที่ 8 มีนาคม 2508 นาวิกโยธินสหรัฐ 3,500 ขึ้นฝั่งใกล้กับดานัง ประเทศเวียดนามใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามภาคพื้นดินของสหรัฐ ความเห็นสาธารณะของสหรัฐสนับสนุนการวางกำลังนี้อย่างล้นหลาม ภารกิจทีแรกของนาวิกโยธินได้แก่การป้อมกันฐานทัพอากาศดานัง จำนวนพลเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 200,000 นายในเดือนธันวาคมปีนั้น ทหารสหรัฐได้รับการฝึกอบรมในการสงครามเชิงรุกมาช้านาน ไม่ว่านโยบายการเมืองเป็นอย่างไร แต่ผู้บังคับบัญชาสหรัฐไม่เหมาะสมทั้งในเชิงสถาบันและจิตวิทยาในภารกิจตั้งรับ

พลเอก วิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ แจ้งพลเรือเอก ยู. เอส. แกรนต์ ชาร์พ จูเนียร์ ผู้บังคับบัญชากองทัพแปซิฟิกของสหรัฐ ว่าสถานการณ์วิกฤต เขาว่า "ผมถูกโน้มน้าวให้เชื่อว่าทหารสหรัฐด้วยพลังงาน การเคลื่อนที่และอำนาจการยิงของพวกเขาสามารถประเคนศึกให้แก่ NLF (เวียดกง) ได้" ด้วยคำแนะนำนี้ เวสต์มอร์แลนด์กำลังสนับสนุนการแยกแบบก้าวร้าวจากท่าทีตั้งรับของสหรัฐและลดบทบาทของเวียดนามใต้ ด้วยการเพิกเฉยต่อหน่วย ARVN การผูกมัดของสหรัฐกลายเป็นปลายเปิด เวสต์มอร์แลนด์ร่างแผนสามจุดในการชนะสงคราม

  • ระยะที่ 1 การผูกมัดกำลังสหรัฐ (และโลกเสรีอื่น) ที่จำเป็นต้องการหยุดยั้งแนวโน้มแพ้เรียบเมื่อปลายปี 2508
  • ระยะที่ 2 กำลังสหรัฐและพันธมิตรดำเนินการปฏิบัติบุกครั้งใหญ่เพื่อฉวยการริเริ่มเพื่อทำลายกองโจรและกำลังข้าศึกที่จัดระเบียบ ระยะนี้ยุติลงเมื่อข้าศึกอ่อนล้า เปลี่ยนเป็นฝ่ายตั้งรับและถูกขับออกจากพื้นที่ที่มีประชากรมาก
  • ระยะที่ 3 หากข้าศึกยังต่อสู้ จะต้องมีระยะเวลา 12 ถึง 18 เดือนหลังระยะที่ 2 ในการทำลายกำลังข้าศึกขั้นสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในพื้นที่ฐานทุรกันดาร

จอห์นสันอนุมัติแผนดังกล่าว และเป็นการเบี่ยงเบนอย่างลึกซึ้งจากการยืนยันของรัฐบาลก่อนว่ารัฐบาลเวียดนามใต้รับผิดชอบต่อการพิชิตกองโจร เวสต์มอร์แลนด์ทำนายชัยภายในสิ้นปี 2510 ทว่า จอห์นสันไม่สื่อสารการเปลี่ยนยุทธศาสตร์นี้กับสื่อ เขากลับเน้นย้ำความต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐขึ้นอยู่กับการประชันกับเวียดนามเหนือและเวียดกงในการแข่งการบั่นทอนกำลังและขวัญกำลังใจ คู่แข่งจะตัดอยู่ในวงจรการขยายขอบเขต ความคิดว่ารัฐบาลเวียดนามใต้สามารถจัดการกิจการของตนเองถูกพับไว้ เวสต์มอร์แลนด์และแม็กนามาราได้รับโน้มน้าวว่าระบบนับศพสำหรับวัดชัย ซึ่งเป็นตัววัดที่ภายหลังพิสูจน์แล้วว่ามีข้อบกพร่อง

การเสริมสร้างของสหรัฐเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของเวียดนามใต้และมีผลใหญ่หลวงต่อสงัคม เวียดนามใต้ท่วมท้นด้วยสินค้าบริโภค มีการเพิ่มการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนานใหญ่เช่นกัน ขณะที่ทัวร์หน้าที่หนึ่งปีของทหารอเมริกันทำให้หน่วยขาดผู้นำที่มีประสบการณ์ ผู้สังเกตคนหนึ่งว่า "เราไม่ได้อยู่ในเวียดนาม 10 ปี แต่อยู่ 1 ปี 10 เที่ยว" ผลทำให้โครงการฝึกทหารย่นเวลาลง

รัฐบาลสหรัฐส่งเสริมพันธมิตรซีโต้ให้สนับสนุนกำลังพล ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทยและฟิลิปปินส์ล้วนตกลงส่งทหาร ต่อมาเกาหลีใต้ขอเข้าร่วมโครงการเมนีแฟล็กเพื่อแลกกับการชดเชยทางเศรษฐกิจ ทว่าพันธมิตรสำคัญ โดยเฉพาะเนโท อย่างแคนาดาและสหราชอาณาจักร ปฏิเสธคำขอทหารของรัฐบาลสหรัฐ

สหรัฐและพันธมิตรดำเนินปฏิบติการ้นหาและทำลายที่ซับซ้อน ซึ่งออกแบบมาเพื่อค้นหากำลังข้าศึก ทำลายแล้วถอนกำลัง ตรงแบบใช้เฮลิคอปเตอร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2508 สหรัฐสับประยุทธ์ในการศึกใหญ่ครั้งแรกกับ PAVN ในยุทธการที่เอียดรัง (Ia Drang) ปฏิบัติการนี้เป็นการโจมตีทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ขนานใหญ่ครั้งแรกโดยสหรีฐ และเป็นครั้งแรกที่ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์โบอิง บี-52 สตราโตฟอร์เทรสในบทบาทสนับสนุนทางยุทธวิธี ยุทธวิธีเหล่านี้ดำเนินต่อในปี 2509–2510 ด้วยปฏิบัติการอย่าง Masher, Thayer, Attleboro, Cedar Falls และ Junction City อย่างไรก็ดี PAVN/VC ยังหลบเลี่ยงได้และแสดงความยืดหยุ่นทางยุทธวิธีอย่างดี เมื่อถึงปี 2510 ปฏิบัติการเหล่านี้ก่อให้เกิดผู้ลี้ภัยภายในขนานใหญ่ มีจำนวนเกือบ 2.1 ล้านคนในเวียดนามใต้ โดยมีการอพยพประชากร 125,000 คนและทำให้ไร้บ้านระหว่างปฏิบัติการมาเชอร์ครั้งเดียว ซึ่งเป็นปฏิบัติการค้นหาและทำลายใหญ่สุดในสงครามจนถึงเวลานั้น ปฏิบัติการมาเชอร์จะมีผลลัพธ์เพียงเล็กน้อย เนื่องจาก PAVN/VC กลับสู่จังหวัดนั้นเพียงสี่เดือนหลังสิ้นสุดปฏิบัติการ แม้มีการดำเนินปฏิบัติการใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเวียดกงและ PAVN ตรงแบบจะหลบเลี่ยง สงครามมีลักษณะการปะทะหรือยุทธนาการของหน่วยขนาดเล็ก จนสงครามยุติ เวียดกงและ PAVN จะริเริ่มการยิงปะทะขนาดใหญ่ 90% ซึ่ง 80% เป็นปฏิบัติการที่ชัดเจนและวางแผนอย่างดี ฉะนั้น PAVN/เวียดกงจะยังคงการริเริ่มทางยุทธศาสตร์แม้สหรัฐวางกำลังและมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่ามาก PAVN/เวียดกงยังพัฒนายุทธศาสตร์ที่สามารถตอบโต้หลักนิยมและยุทธวิธีของกองทัพสหรัฐ

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองในเวียดนามใต้เริ่มมีเสถียรภาพด้วยการเถลิงอำนาจของนายกรัฐมนตรี เหงียน กาว กี่ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ และประมุขแห่งรัฐเชิงพิธีการ พลเอก เหงียน วัน เถี่ยว ในกลางปี 2508 เป็นหัวหน้าคณะทหารผู้ยึดอำนาจปกครอง เป็นการยุติรัฐประหารหลายครั้งที่เกิดขึ้นในรอบปี ในปี 2510 เถี่ยวเป็นประธานาธิบดีโดยมีกี่เป็นรองประธานาธิบดีหลังการจัดการเลือกตั้งที่มีการเตรียมผลไว้ล่วงหน้า แม้เป็นรัฐบาลพลเรือนในนาม แต่กี่ยังคงอำนาจแท้จริงผ่านองค์กรทหารหลังฉาก อย่างไรก็ดี เถี่ยวเอาชนะกี่ด้วยเล่ห์กลและบดบังเขาโดยการเลื่อนยศนายพลจากกลุ่มของเขา เถี่ยวยังถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้ภักดีต่อกี่ผ่านอุบัติเหตุทางทหารที่วางแผนไว้ เถี่ยวยังเป็นประธานาธิบดีจนถึงปี 2518 โดยชนะการเลือกตั้งที่มีผู้ลงสมัครคนเดียวในปี 2514

รัฐบาลจอห์นสันใช้ "นโยบายความโปร่งใสน้อยที่สุด" ในการจัดการกับสื่อ นายทหารสารนิเทศทหารมุ่งจัดการการรายงานของสื่อโดยเน้นนิยายที่บอกเล่าความคืบหน้าในสงคราม เมื่อเวลาผ่านไปนโยบายนี้ทำให้ความเชื่อมั่นของสาธารณะลดลงในประกาศราชการ เมื่อการรายงานในสื่อและกระทรวงกลาโหมแตกต่างกันมากขึ้น ทำให้เกิดสิ่งที่เรียก ช่องว่างความเชื่อมั่น แม้จอห์นสันและเวสต์มอร์แลนด์ประกาศว่ากำลังชนะ แต่รายงานภายในในเอกสารเพนตากอนบ่งชี้ว่ากำลังเวียดกงยังมีข้อริเริ่มทางยุทธศาสตร์ และสามารถควบคุมการสูญเสียได้อย่างกว้างขวาง โดยร้อยละ 30 ของยุทธนาการทั้งหมด เป็นการโจมตีของเวียดกงต่อที่ตั้งสหรัฐที่อยู่กับที่ 23% เป็นการซุ่มโจมตีและการโอบล้อมของ VC/PAVN และเพียง 5% เป็นการเข้าตีที่ตั้งของเวียดกงของสหรัฐ และ 9% เป็นการซุ่มโจมตีของสหรัฐต่อกำลังเวียดกง/PAVN

ประเภทของยุทธนาการ, ข้อมูลจากการศึกษาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ปี 2510[77]
ชนิดของยุทธนาการในการบรรยายการรบ ร้อยละของยุทธนาการทั้งหมด หมายเหตุ
การลงจอดรุนแรง การเข้าตีของ VC/PAVN ขณะวางกำลัง 12.5% การเข้าตีของ VC/PAVN ที่มีการวางแผน

คิดเป็นร้อยละ 66.2 ของยุทธนาการทั้งหมด

การเข้าตีของ VC/PAVN ต่อวงรอบตั้งรับของสหรัฐ 30.4%
การซุ่มโจมตีหรือโอบล้อมหน่วยสหรัฐที่กำลังเคลื่อนที่ของ VC/PAVN 23.3%
การเข้าตีของสหรัฐที่ไม่วางแผนต่อวงรอบตั้งรับของ VC/PAVN

ยุทธนาการที่เป็นการจู่โจมต่อผู้บังคับบัญชาสหรัฐ

12.5% ที่ตั้งรับซึ่งปกปิดอย่างดี

หรือ VC/PAVN ที่ถูกเตือนหรือคาดหมาย

การเข้าตีของสหรัฐที่มีการวางแผนต่อ

วงรอบตั้งรับของ VC/PAVN

5.4% การเข้าตีของสหรัฐที่มีการวางแผนต่อ

VC/PAVN คิดเป็นร้อยละ 14.3 ของยุทธนาการทั้งหมด

กำลังสหรัฐซุ่มโจมตีหน่วย VC/PAVN ที่กำลังเคลื่อนที่ 8.9%
ยุทธนาการโดยบังเอิญ ไม่มีการวางแผนทั้งสองฝ่าย 7.1%

การรุกตรุษญวน

[แก้]

ปลายปี 2510 PAVN ลวงกำลังอเมริกันให้เข้าสู่แดนหลังเทือกเขาที่ Đắk Tô และฐานทัพเคซานของนาวิกโยธินในจังหวัดกว๋างจิ ที่ซึ่งสหรัฐประจันบานในชุดการรบชื่อ การต่อสู้บนเขา (The Hill Fights) การปฏิบัติเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เบี่ยงเบนความสนใจซึ่งตั้งใจดึงกำลังสหรัฐให้เข้าสู่เขตที่สูงภาคกลาง มีการเตรียมการรุกตรุษญวนโดยเจตนาของ Văn Tiến Dũng สำหรับกำลังให้เปิดฉาก "การโจมตีโดยตรงต่อศูนย์กลางประสาทของอเมริกาและหุ่นเชิด ไซ่ง่อน เว้ ดานัง ทุกนคร เมืองและฐานหลัก ..." เล ดวนมุ่งปลอบนักวิจารณ์ภาวะกินไม่ลงที่กำลังดำเนินอยู่โดยวางแผนคว้าชัยอย่างเด็ดขาด เขาให้เหตุผลว่าสามารถบรรลุได้ผ่านการจุดประกายการก่อการกำเริบใหญ่ในเมืองและนคร ร่วมกับการแปรพักตร์หมู่ในหน่วย ARVN ซึ่งกำลังพักวันหยุดในช่วงพักรบ

การรุกตรุษญวนเปิดฉากในวันที่ 30 มกราคม 2511 เมื่อนครกว่า 100 นครถูกโจมตีโดยเวียดกง/PAVN กว่า 85,000 คน รวมทั้งโจมตีสถานที่ทางทหาร สำนักงานใหญ่ อาคารและสำนักงานราชการหลายแห่ง รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงไซ่ง่อน กำลังสหรัฐและเวียดนามใต้รู้สึกตะลึงกับขนาด ความเข้มและการวางแผนของการรุกในเมืองในทีแรก เพราะมีการแทรกซึมของคนและอาวุธเข้าสู่นครอย่างลับ ๆ การรุกนี้เป็นความล้มเหลวของข่าวกรองในขอบเขตเท่ากับเพิร์ลฮาร์เบอร์ นครส่วนใหญ่ถูกยึดคืนได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ยกเว้นอดีตเมืองหลวงสมัยกษัตริย์ เว้ ซึ่งทหารเวียดกง/PAVN ยึดนครได้เป็นส่วนใหญ่และป้อมปราการได้ ยกเว้นกองบัญชาการของกองพลที่ 1 และรักษาไว้ได้เป็นเวลา 26 วัน ในช่วงนั้น ทหารเวียดนามใต้ประหารชีวิตพลเรือนและคนต่างด้าวจำนวนประมาณ 2,800 คนเพราะสงสัยว่าเป็นสายลับ ในยุทธการที่เว้ กำลังสหรัฐใช้อำนาจการยิงสูงทำให้พื้นที่นครร้อยละ 80 เป็นซาก เหนือขึ้นไป ที่กวังตรี กองพลส่งทางอากาศ ARVN กองพลที่ 1 และ 1 กรมจากกองพลทหารม้าที่ 1 จัดการต้านและเอาชนะการโจมตีที่หมายยึดนครได้ ในกรุงไซ่ง่อน นักรบเวียดกง/PAVN ยึดพื้นที่ในและรอบนคร โจมตีสิ่งก่อส้างสำคัญและย่าน Cholon ก่อนกำลังสหรัฐและ ARVN ปลดปล่อยได้ในเวลาสามสัปดาห์ ปีเตอร์ อาร์เน็ตรายงานผู้บังคับบัญชาทหารราบนายหนึ่งว่า "จำเป็นต้องทำลายหมู่บ้านเพื่อรักษามันไว้"

ระหว่างเดือนแรกของปฏิบัติการ ทหารอเมริกันและพันธมิตรเสียชีวิต 1,100 คน ARVN เสียชีวิต 2,100 คน และพลเรือนเสียชีวิต 14,000 คน เมื่อสิ้นสุดการรุกครั้งแรกเมื่อผ่านไปสองเดือน กำลัง ARVN เสียชีวิตเกือบ 5,000 คน และกำลังสหรัฐเสียชีวิตกว่า 4,000 คนและได้รับบาดเจ็บ 45,820 คน สหรัฐอ้างว่า PAVN และเวียดกงเสียชีวิต 17,000 คน และได้รับบาดเจ็บ 15,000 คน เดือนต่อมา มีการเปิดฉากการรุกครั้งที่สองหรือการรุกเดือนพฤษภาคม แม้ไม่ได้กว้างขวางเท่าครั้งแรก แต่แสดงให้เห็นว่าเวียดกงยังสามารถดำเนินการรุกทั่วประเทศได้อยู่ สองเดือนต่อมา มีการเปิดฉากการรุกครั้งที่สามเรียก การรุกระยะที่ 3 รายงานอย่างเป็นทางการของ PAVN สรุปว่าฝ่ายตนเสียชีวิต 45,267 คน และกำลังพลสูญเสียทั้งหมด 111,179 คน จนถึงเวลานั้นเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด เป้าหมายจุดประกายการก่อการกำเริบใหญ่และการขาดการแปรพักตร์ในหน่วย ARVN หมายความว่าเป้าหมายสงครามของเวียดนามเหนือล้มเหลวโดยมีราคาแพง

ความเห็นชอบของสาธารณะต่อสมรรถนะโดยรวมของนายพลเวสต์มอร์แลนด์ของสหรัฐลดลงจากร้อยละ 48 เหลือ 36 การสนับสนุนความพยายามของสงครามลดลงจากร้อยละ 40 เหลือ 26 สาธารณชนและสื่ออเมริกันเริ่มคัดค้านรัฐบาลจอห์นสันเมื่อการรุกทั้งสามครั้งขัดต่อข้ออ้างความคืบหน้าของรัฐบาลจอห์นสันและกองทัพ จุดหนึ่งในปี 2511 เวสต์มอร์แลนด์พิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ในประเทศเวียดนาม แต่ยกเลิกไปหลังรัฐบาลทราบข่าว เวสต์มอร์แลนด์ขอทหารเพิ่มอีก 200,000 นาย ซึ่งรั่วไหลไปยังสื่อ เมื่อประกอบกับความล้มเหลวของข่าวกรองทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนมีนาคม 2511

วันที่ 10 พฤษภาคม 2511 เริ่มมีการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐและเวียดนามเหนือในกรุงปารีส การเจรจาชะงักเป็นเวลาห้าเดือน จนจอห์นสันสั่งยุติการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามเหนือเองก็ตระหนักว่าตนไม่อาจคว้าชัยได้อย่างเด็ดขาด และใช้ยุทธศาสตร์คุยไปสู้ไป ความนิยมของจอห์นสันตกลงด้วยเช่นกัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2511 ริชาร์ด นิกสัน ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีแผนลับยุติสงคราม

การแผลงเป็นเวียดนาม 2512–15

[แก้]

ภัยคุกคามและการทูตนิวเคลียร์

[แก้]

ประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน เริ่มถอนทหารสหรัฐในปี 2512 เขาวางแผนสร้างเสริม ARVN เพื่อให้รับช่วงป้องกันเวียดนามใต้แทน เรียก "การแผลงเป็นเวียดนาม" ขณะที่ PAVN/VC กำลังฟื้นตัวจากการสูญเสียในปี 2511 และยังหลบเลี่ยงการปะทะอยู่เป็นส่วนใหญ่ เครย์ตัน เอบรามส์ ที่รับช่วงต่อเวสต์มอร์แลนด์ ดำเนินปฏิบติการที่มุ่งขัดขวางลอจิสติกส์ โดยใช้อำนาจการยิงและมีการประสานงานมากกว่า ARVN วันที่ 27 ตุลาคม 2512 นิกสันสั่งฝูงบินบี-52 จำนวน 18 ลำที่บรรทุกอาวุธนิวเคลียร์บินไปน่านฟ้าโซเวียตเพื่อโน้มน้าวโซเวียตว่าเขาพร้อมทำทุกสิ่งเพื่อยุติสงคราม ตามแผนคนบ้า

ยุทธศาสตร์ของเวียดนามเหนือ

[แก้]

ในเดือนกันยายน 2512 โฮจิมินห์ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 72 ปี ความล้มเหลวของการรุกตรุษญวนซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดการก่อการกำเริบของประชาชนทำให้เกิดการเปลี่ยนยุทธศาสตร์สงครามของเวียดนามเหนือ โดยกลุ่มแยก "ทิศเหนือมาก่อน" ของซ้าปและ Chinh กลับเข้าควบคุมกิจการกองทัพอีกครั้งจากกลุ่มแยก "ทิศใต้มาก่อน" มีการเปลี่ยนจากการแสวงชัยชนะนอกแบบมาเป็นการแสวงชัยตามแบบผ่านการพิชิตดินแดน มีการยกเลิกการรุกขนาดใหญ่แล้วหันไปใช้หน่วยเล็กและพลขุดอุโมงค์ ตลอดจนยุทธศาสตร์การสร้างความสงบและแผลงเป็นเวียดนาม ในระยะสองปีหลังการรุกตรุษญวน PAVN เริ่มแปลงสภาพจากกำลังเคลื่อนที่จำกัดทหารราบเบา เป็นกำลังผสมเหล่ามียานยนต์และเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว

เรื่องอื้อฉาวในสหรัฐ

[แก้]

ขบวนการต่อต้านสงครามมีกำลังมากขึ้นในสหรัฐ นิกสันเรียกร้องต่อ "พลังเงียบส่วนใหญ่" ซึ่งเขาว่าสนับสนุนสงครามแต่ไม่แสดงออกในที่สาธารณะ แต่เมื่อทราบข่าวการสังหารหมู่ที่หมีลายปี 2511 ซึ่งหน่วยรบของกองทัพบกสหรัฐฆ่าข่มขืนกระทำชำเราพลเรือน และ "เรื่องอื้อฉาวกรีนเบเรต์" ปี 2512 ซึ่งทหารหน่วยรบพิเศษ 8 นาย รวมทั้งผู้บัญชาการกลุ่มรบพิเศษที่ 5 ถูกจับกุมฐานฆ่าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับสองหน้า ทำให้เกิดความเดือดดาลในระดับชาติและนานาชาติ

ในปี 2514 เอกสารเพนตากอนเกิดรั่วไหลสู่หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ เอกสารดังกล่าวว่าด้วยประวัติศาสตร์ลับสุดยอดของการเข้ามีส่วนของสหรัฐในเวียดนามซึ่งจัดทำโดยกระทรวงกลาโหม เล่าถึงการหลอกลวงของรัฐบาลสหรัฐในรายละเอียดยาว ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าการจัดพิมพ์เอกสารดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

ขวัญของสหรัฐหดหาย

[แก้]

คล้อยหลังการรุกตรุษญวนและการเสียการสนับสนุนสงครามในหมู่สาธารณชนอเมริกัน กำลังสหรัฐเริ่มเข้าสู่ช่วงขวัญตกต่ำ การมองเห็นความจริงและการไม่เชื่อฟังคำสั่ง ในประเทศ อัตราหนีทหารเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบจากปี 2509 ในหมู่ทหารเกณฑ์ มีเพียงร้อยละ 2.5 ที่เลือกตำแหน่งรบทหารราบในปี 2512–13 อัตราการสมัครเข้าเหล่าฝึกนายทหารกองหนุน (Reserve Officers' Training Corps) ลดลงจาก 191,749 นายในปี 2509 เหลือ 72,459 นายในปี 2514 จนแตะระดับต่ำสุดตลอดกาล 33,220 นายในปี 2517 ทำให้กองทัพสหรัฐขาดแคลนนายทหารที่จำเป็นอย่างยิ่ง

การปฏิเสธการปฏิบัติลาดตระเวนหรือปฏิบัติตามคำสั่งและการขัดขืนเริ่มปรากฏขึ้นในช่วงเดียวกัน โดยมีกรณีหนึ่งทหารทั้งกองร้อยปฏิเสธรับคำสั่งหรือดำเนินปฏิบัติการใด ๆ ความเชื่อมแน่นของหน่วยเริ่มสลายและสนใจแต่การลดการปะทะกับเวียดกงและ PAVN ให้น้อยที่สุด เริ่มปรากฏการปฏิบัติที่เรียกว่า "ถุงทราย" (sand-bagging) ซึ่งหน่วยที่ได้รับคำสั่งให้ออกลาดตระเวนจะออกไปชนบท หาจุดที่อยู่พ้นวิสัยของผู้บังคับบัญชาและที่เหลือ พร้อมกับวิทยุรายงานพิกัดและรายงานหน่วยเท็จ การใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ทหารอเมริกันช่วงนี้ โดยกำลังพลร้อยละ 30 ใช้กัญชาเป็นประจำ และคณะอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรพบว่ากำลังพลอเมริกันร้อยละ 10–15 ในเวียดนามใช้เฮโรอีนเกรดสูงเป็นประจำ หลังจากปี 2512 เป็นต้นมา ปฏิบัติการค้นหาและทำลายกลายเป็น "ค้นหาและหลบหลีก" หรือ "ค้นหาและหลบเลี่ยง" ปลอมแปลงรายงานการรบแต่หลบนักรบกองโจร มีการสอบสวนรายงานการธำรงวินัยหรือต้องสงสัยรวม 900 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดระหว่างปี 2512 ถึง 2514 ในปี 2512 สมรรถนะภาคสนามของกำลังสหรัฐมีลักษณะแบบขวัญต่ำ ขาดแรงจูงใจและมีความเป็นผู้นำขั้นเลว การลดลงอย่างสำคัญของขวัญสหรัฐปรากฏในยุทธการที่ FSB Mary Ann ในเดือนมีนาคม 2514 ซึ่งคนขุดอุโมงค์สามารถก่อความเสียหายร้ายแรงต่อฝายป้องกันสหรัฐ

ARVN นำแทน และกำลังภาคพื้นสหรัฐถอนกำลัง

[แก้]

เริ่มตั้งแต่ปี 2513 ทหารสหรัฐถูกถอนออกจากบริเวณชายแดนอันเป็นที่สู้รบส่วนใหญ่ และถูกวางกำลังใหม่ตามชายฝั่งและด้านในประเทศ กำลังพลสูญเสียของสหรัฐในปี 2513 มีน้อยกว่าในปี 2512 ถึงครึ่งหนึ่งหลังถูกมอบหมายให้ต่อสู้น้อยลง ขณะเดียวกัน ARVN รับช่วงปฏิบัติการรบทั่วประเทศ และมีกำลังพลสูญเสียเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของกำลังพลสูญเสียของสหรัฐในปี 2512 และเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสามเท่าของปี 2513 ในสิ่งแวดล้อมหลังการรุกตรุษญวน จำนวนสมาชิกในกำลังภูมิภาคเวียดนามใต้และทหารอาสาสมัครกำลังประชาชนเติบโตขึ้น และทั้งสองมีความสามารถในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ในขณะที่กำลังอเมริกันไม่สามารถ

ในปี 2513 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันประกาศถอนทหารอเมริกันอีก 150,000 นาย ทำให้จำนวนทหารอเมริกันเหลือ 265,500 นาย จนถึงปีนั้น กำลังเวียดกงไม่ได้ประกบด้วยชาวเวียดนามใต้เป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป โดยเกือบร้อยละ 70 เป็นชาวเวียดนามเหนือ ระหว่างปี 2512 ถึง 2514 เวียดกงและ PAVN บางหน่วยถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นยุทธวิธีหน่วยขนาดเล็กตรงแบบอย่างปี 2510 และก่อนหน้านั้น แทนการรุกขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ในปี 2514 ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ถอนทหาร และทหารสหรัฐลดเหลือ 196,700 นาย สหรัฐยังลดกำลังสนับสนุน และในเดือนมีนาคม 2514 กลุ่มกำลังพิเศษที่ 5 หน่วยอเมริกันหน่วยแรกที่ถูกส่งไปยังเวียดนามใต้ ก็ถูกส่งกลับประเทศด้วย

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ USd&w
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ start date
  3. The Military Assistance Advisory Group, Indochina (with an authorized strength of 128 men) was set up in September 1950 with a mission to oversee the use and distribution of US military equipment by the French and their allies.
  4. "พรรคชาตินิยมเวียดนาม" เดิมก่อตั้งขึ้นในนานกิง ประเทศจีน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2478 และต้นปี 2479 เมื่อพรรคชาตินิยมเวียดนาม นำโดย เหวียน ไท ฮ็อก และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนบางคน และสมาชิกพรรคชาตินิยมเวียดนามอื่นจำนวนหนึ่งก่อตั้งแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยม ไม่นานองค์การนี้ก็หมดความเคลื่อนไหวไป จนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและโฮจิมินห์รื้อฟื้นในปี 2484[54]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Foreign Affairs in the 1960s and 1970s". Library of Congress. 1992. Throughout the 1960s and 1970s, Bulgaria gave official military support to many national liberation causes, most notably in the Democratic Republic of Vietnam, (North Vietnam)...
  2. Le Gro, p. 28.
  3. "Vietnam War : US Troop Strength". Historycentral.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-25. สืบค้นเมื่อ 17 October 2009.
  4. "Facts about the Vietnam Veterans Memorial Collection". nps.gov. (citing The first American ground combat troops landed in South Vietnam during March 1965, specifically the U.S. Third Marine Regiment, Third Marine Division, deployed to Vietnam from Okinawa to defend the Da Nang, Vietnam, airfield. During the height of U.S. military involvement, 31 December 1968, the breakdown of allied forces were as follows: 536,100 U.S. military personnel, with 30,610 U.S. military having been killed to date; 65,000 Free World Forces personnel; 820,000 South Vietnam Armed Forces (SVNAF) with 88,343 having been killed to date. At the war's end, there were approximately 2,200 U.S. missing in action (MIA) and prisoner of war (POW). Source: Harry G. Summers, Jr. Vietnam War Almanac, Facts on File Publishing, 1985.)
  5. Vietnam Marines 1965–73. Google Books. 8 March 1965. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-20. สืบค้นเมื่อ 29 April 2011.
  6. Vietnam War After Action Reports, BACM Research, 2009, page 430
  7. 7.0 7.1 "China admits 320,000 troops fought in Vietnam". Toledo Blade. Reuters. 16 May 1989. สืบค้นเมื่อ 24 December 2013.
  8. Roy, Denny (1998). China's Foreign Relations. Rowman & Littlefield. p. 27. ISBN 978-0847690138.
  9. 9.0 9.1 China and Vietnam: The Politics of Asymmetry. Cambridge University Press 2006. Brantly Womack. P. 176
  10. 10.0 10.1 10.2 Lewy 1978, pp. 450–3.
  11. Thayer 1985, chap. 12.
  12. Aaron Ulrich (editor); Edward FeuerHerd (producer and director) (2005, 2006). Heart of Darkness: The Vietnam War Chronicles 1945–1975 (Box set, Color, Dolby, DVD-Video, Full Screen, NTSC, Dolby, Vision Software) (Documentary). Koch Vision. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 321 minutes. ISBN 1-4172-2920-9.
  13. Rummel, R.J (1997), "Table 6.1A. Vietnam Democide : Estimates, Sources, and Calculations" (GIF), Freedom, Democracy, Peace; Power, Democide, and War, University of Hawaii System
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-16. สืบค้นเมื่อ 2012-10-25.
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-26. สืบค้นเมื่อ 2012-10-25.
  16. The Encyclopedia of the Vietnam War: A Political, Social, and Military History By Spencer C. Tucker
  17. "Vietnam War Casualties". Vietnamgear.com. 3 April 1995. สืบค้นเมื่อ 17 October 2009.
  18. Rummel 1997.
  19. Soames, John. A History of the World, Routledge, 2005.
  20. Dunnigan, James & Nofi, Albert: Dirty Little Secrets of the Vietnam War: Military Information You're Not Supposed to Know. St. Martin's Press, 2000, p. 284. ISBN 0-312-25282-X.
  21. Lewy, Guenter (1978). America in Vietnam. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-987423-1.
  22. Shenon, Philip (23 April 1995). "20 Years After Victory, Vietnamese Communists Ponder How to Celebrate". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 24 February 2011. The Vietnamese government officially claimed a rough estimate of 2 million civilian deaths, but it did not divide these deaths between those of North and South Vietnam.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 Obermeyer, Ziad; Murray, Christopher J L; Gakidou, Emmanuela (23 April 2008). "Fifty years of violent war deaths from Vietnam to Bosnia: analysis of data from the world health survey programme". British Medical Journal. 336 (7659): 1482–1486. doi:10.1136/bmj.a137. ISSN 0959-8138. PMC 2440905. PMID 18566045. From 1955 to 2002, data from the surveys indicated an estimated 5.4 million violent war deaths ... 3.8 million in Vietnam
  24. 24.0 24.1 Hirschman, Charles; Preston, Samuel; Vu, Manh Loi (December 1995). "Vietnamese Casualties During the American War: A New Estimate" (PDF). Population and Development Review. 21 (4): 783. doi:10.2307/2137774. JSTOR 2137774.
  25. 25.0 25.1 Heuveline, Patrick (2001). "The Demographic Analysis of Mortality Crises: The Case of Cambodia, 1970–1979". Forced Migration and Mortality. National Academies Press. pp. 102–04, 120, 124. ISBN 978-0-309-07334-9. As best as can now be estimated, over two million Cambodians died during the 1970s because of the political events of the decade, the vast majority of them during the mere four years of the 'Khmer Rouge' regime. ... Subsequent reevaluations of the demographic data situated the death toll for the [civil war] in the order of 300,000 or less.
  26. 26.0 26.1 Banister, Judith; Johnson, E. Paige (1993). Genocide and Democracy in Cambodia: The Khmer Rouge, the United Nations and the International Community. Yale University Southeast Asia Studies. p. 97. ISBN 978-0-938692-49-2. An estimated 275,000 excess deaths. We have modeled the highest mortality that we can justify for the early 1970s.
  27. 27.0 27.1 Sliwinski, Marek (1995). Le Génocide Khmer Rouge: Une Analyse Démographique [The Khmer Rouge genocide: A demographic analysis]. L'Harmattan. pp. 42–43, 48. ISBN 978-2-7384-3525-5.
  28. Factasy. "The Vietnam War or Second Indochina War". PRLog. สืบค้นเมื่อ 29 June 2013.
  29. The Paris Agreement on Vietnam: Twenty-five Years Later (Conference Transcript). Washington, DC: The Nixon Center. April 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-01. สืบค้นเมื่อ 5 September 2012 – โดยทาง International Relations Department, Mount Holyoke College.
  30. "Vietnam War". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 5 March 2008. Meanwhile, the United States, its military demoralized and its civilian electorate deeply divided, began a process of coming to terms with defeat in its longest and most controversial war
  31. Friedman, Herbert. "Allies of the Republic of Vietnam". สืบค้นเมื่อ 1 May 2019.
  32. Lind, Michael (1999). "Vietnam, The Necessary War: A Reinterpretation of America's Most Disastrous Military Conflict". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 17 January 2014.
  33. Eckhardt, George (1991). Vietnam Studies Command and Control 1950–1969. Department of the Army. p. 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-11.
  34. Ang, Cheng Guan (2002). The Vietnam War from the Other Side. RoutledgeCurzon. ISBN 978-0700716159.
  35. "Vietnam War Allied Troop Levels 1960–73". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2016. สืบค้นเมื่อ 1 June 2018.
  36. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Hastings2
  37. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Ang2
  38. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Hastings
  39. Li, Xiaobing (2010). Voices from the Vietnam War: Stories from American, Asian, and Russian Veterans. University Press of Kentucky. p. 85. ISBN 978-0-8131-7386-3.
  40. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ AWL2
  41. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Hastings3
  42. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Pribbenow
  43. Pilger, John (2001). Heroes. South End Press. p. 238. ISBN 9780896086661.
  44. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Tucker
  45. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Hirschman2
  46. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Obermeyer2
  47. Kalb, Marvin (22 January 2013). "It's Called the Vietnam Syndrome, and It's Back". Brookings Institution. สืบค้นเมื่อ 12 June 2015.
  48. Horne, Alistair (2010). Kissinger's Year: 1973. Phoenix Press. pp. 370–1. ISBN 978-0753827000.
  49. Ooi, Keat Gin. Southeast Asia: a historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor. ABC-CLIO; 2004. ISBN 978-1-57607-770-2. p. 520.
  50. Rai, Lajpat. Social Science[ลิงก์เสีย]. FK Publications; ISBN 978-81-89611-12-5. p. 22.
  51. Dommen, Arthur J.. The Indochinese experience of the French and the Americans: nationalism and communism in Cambodia, Laos, and Vietnam. Indiana University Press; 2001. ISBN 978-0-253-33854-9. p. 4–19.
  52. Neale 2001, p. 3.
  53. 53.0 53.1 Neale 2001, p. 17.
  54. Sophie Quinn-Judge (2003). Ho Chi Minh: the missing years, 1919–1941. C. Hurst. pp. 212–213. ISBN 978-1-85065-658-6.
  55. Tucker 1999, p. 42
  56. Brocheux 2007, p. 198
  57. Neale 2001, p. 18.
  58. Koh, David (21 August 2008). "Vietnam needs to remember famine of 1945". The Straits Times. Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-19. สืบค้นเมื่อ 2014-05-05.
  59. Neale 2001, pp. 18–9.
  60. 60.0 60.1 Kolko 1985, p. 36.
  61. Neale 2001, p. 19.
  62. 62.0 62.1 62.2 62.3 62.4 62.5 Neale 2001, p. 20.
  63. Interview with Archimedes L. A. Patti, 1981, http://openvault.wgbh.org/catalog/vietnam-bf3262-interview-with-archimedes-l-a-patti-1981
  64. Kolko 1985, p. 37.
  65. Dommen, Arthur J. (2001), The Indochinese Experience of the French and the Americans, Indiana University Press, pg. 120. "According to one estimate, 15,000 nationalists were massacred" in the summer of 1946 (pg. 154). In addition, "100,000 to 150,000 [civilians] had been assassinated by the Viet Minh" by the end of the First Indochina war (pg. 252).
  66. "ベトナム独立戦争参加日本人の事跡に基づく日越のあり方に関する研究" (PDF). 井川 一久. Tokyo foundation. October 2005. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.
  67. "日越関係発展の方途を探る研究 ヴェトナム独立戦争参加日本人―その実態と日越両国にとっての歴史的意味―" (PDF). 井川 一久. Tokyo foundation. May 2006. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.
  68. Willbanks 2009, p. 8
  69. 69.0 69.1 Neale 2001, p. 24.
  70. Neale 2001, pp. 23–4.
  71. Willbanks 2009, p. 9
  72. "Franco-Vietnam Agreement of March 6th, 1946". Vietnamgear.com. 6 March 1946. สืบค้นเมื่อ 29 April 2011.
  73. "Pentagon Papers, Gravel Edition, Chapter !, Section 2". Mtholyoke.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-02. สืบค้นเมื่อ 29 April 2011.
  74. Peter Dennis (1987). Troubled days of peace: Mountbatten and South East Asia command, 1945–46. Manchester University Press ND. p. 179. ISBN 978-0-7190-2205-0.
  75. 75.0 75.1 Neale 2001, p. 25.
  76. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WarBegan
  77. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ GS

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]