ประเทศยูกันดา
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
สาธารณรัฐยูกันดา Republic of Uganda (อังกฤษ) | |
---|---|
คำขวัญ: For God and My Country (เพื่อพระเจ้าและประเทศของข้าพเจ้า) | |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | กัมปาลา 0°18′49″N 32°34′52″E / 0.31361°N 32.58111°E |
ภาษาราชการ | ภาษาอังกฤษ |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ระบบพรรคเด่น สาธารณรัฐระบบประธานาธิบดี |
โยเวรี มูเซเวนี | |
Jessica Alupo | |
Robinah Nabbanja | |
ประกาศเอกราช | |
• จากสหราชอาณาจักร | 9 ตุลาคม พ.ศ. 2505 |
พื้นที่ | |
• รวม | 241,038 ตารางกิโลเมตร (93,065 ตารางไมล์) (79th) |
15.39 | |
ประชากร | |
• พ.ศ. 2560 ประมาณ | 41,487,965[1] (35) |
• สำมะโนประชากร 2014 | 34,634,650[2] |
157.1 ต่อตารางกิโลเมตร (406.9 ต่อตารางไมล์) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2019 (ประมาณ) |
• รวม | $102.659 พันล้าน[3] |
• ต่อหัว | $2,566[3] |
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2019 (ประมาณ) |
• รวม | $30.765 พันล้าน[3] |
• ต่อหัว | $956[3] |
จีนี (2012) | 41.01[4] ปานกลาง |
เอชดีไอ (2019) | 0.544[5] ต่ำ · 159 |
สกุลเงิน | ชิลลิง (UGX) |
เขตเวลา | UTC+3 (EAT) |
ขับรถด้าน | ซ้ายมือ |
รหัสโทรศัพท์ | +256a |
โดเมนบนสุด | .ug |
ยูกันดา (อังกฤษ: Uganda) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐยูกันดา (อังกฤษ: Republic of Uganda) เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออก มีอาณาเขตทางตะวันออกจดประเทศเคนยา ทางเหนือจดประเทศซูดานใต้ ทางตะวันตกจดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซาอีร์เดิม) ทางตะวันตกเฉียงใต้จดประเทศรวันดา และทางใต้จดประเทศแทนซาเนีย ทางใต้ของประเทศรวมถึงบางส่วนของทะเลสาบวิกตอเรีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับเคนยาและแทนซาเนียด้วย ยูกันดาได้ชื่อมาจากอาณาจักรบูกันดาซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมทางใต้ของประเทศ รวมถึงเมืองหลวง กัมปาลา นอกจากนี้ยังมีอาณาจักรอื่นคือ อาณาจักรโตโร อาณาจักรบุนโยโร-กิตารา อาณาจักรบูโซกา อาณาจักรอันโกเล อาณาจักรรเวนซูรูรู เมืองหลวงเก่าของประเทศนี้คือเอนเทบบี อันเป็นที่ตั้งของสนามบินแห่งชาติยูกันดาด้วย
ประวัติศาสตร์
[แก้]อาณานิคมสหราชอาณาจักร
[แก้]ยูกันดาตกเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษตั้งแต่ปี 2436 (ค.ศ. 1893) จากข้อตกลงระหว่างกษัตริย์แห่ง Buganda ซึ่งเป็นเผ่าที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดกับรัฐบาลอังกฤษ หลังจากการเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ อิทธิพลทางเศรษฐกิจของชนผิวขาวจากเคนยาซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในยูกันดาเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้นำ Buganda ไม่พอใจและระแวงว่าคนเหล่านี้จะมีอำนาจครอบงำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อมีการเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งสหพันธรัฐแอฟริกาตะวันออก (East African Federation : EAF) ซึ่งเป็นรัฐเอกราชใหม่ที่จะรวมอดีตอาณานิคมอังกฤษในแอฟริกาตะวันออกเข้าด้วยกัน ผู้นำ Buganda จึงคัดค้านข้อเสนอนี้ และต้องการที่จะแยกตัวออกเป็นประเทศเอกราชต่างหาก เพราะเกรงว่าชนผิวขาวในเคนยาจะมีอิทธิพลเหนือยูกันดา ข้อเรียกร้องดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งกับนักการเมืองจากเผ่าอื่น ซึ่งต้องการให้ยูกันดาได้รับเอกราชแล้วรวมตัวกันเป็นรัฐเดียว ผู้นำที่สำคัญ ได้แก่ นาย Milton Obote หัวหน้าพรรค (Uganda People's Congress : UPC) ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ยูกันดาได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2505 (ค.ศ. 1962) และนาย Obote ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ความวุ่นวายทางการเมือง
[แก้]รัฐธรรมนูญฉบับแรกกำหนดให้ยูกันดาเป็นสหพันธรัฐ มีลักษณะพิเศษ คือ ประกอบด้วยอาณาจักรต่าง ๆ โดยอาณาจักรที่สำคัญที่สุด คือ Buganda ต่อมาในปี 2510 (ค.ศ. 1967) นาย Obote ได้ยึดอำนาจตั้งตนเป็นประธานาธิบดี พร้อมกับยกเลิกการปกครองแบบสหพันธรัฐ อย่างไรก็ดี นาย Obote เป็นประธานาธิบดีได้เพียง 4 ปีเศษ ก็ถูกพลตรี อีดี้ อามิน ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2515 (ค.ศ. 1972) ประธานาธิบดีอีดี้ อามิน ปกครองประเทศแบบเผด็จการ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้ประกาศสงครามเศรษฐกิจยึดทรัพย์สินของเอกชนเป็นของรัฐประมาณ 3,500 ธุรกิจ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขับไล่ชาวเอเชียประมาณ 75,000 คน ทำให้คนงานซึ่งทำงานในสาขาพาณิชย์และอุตสาหกรรมว่างงานจำนวนมาก เศรษฐกิจของยูกันดา (ซึ่งหลังได้รับเอกราช เคยเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางของแอฟริกาตะวันออก) เริ่มตกต่ำ ผลผลิตลดลงร้อยละ 16 เกิดภาวะเงินเฟ้อ ต่อมาในปี 2522 (ค.ศ. 1979) กลุ่มต่อต้านโดยความช่วยเหลือของกองทัพประชาชนแทนซาเนียที่สามารถโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดีอีดี้ อามิน ได้สำเร็จ นาย Obote กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งโดยชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2523 (ค.ศ. 1980) แต่ความขัดแย้งระหว่างเผ่าที่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เผ่า Acholi ซึ่งอยู่ทางเหนือ ไม่พอใจต่อการที่นาย Obote ให้ตำแหน่งสำคัญกับคนในเผ่าอื่นจึงทำให้พลโท Tito Okello ซึ่งเป็นคนเผ่า Acholi ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2528 (ค.ศ. 1985) คณะทหารที่ปกครองประเทศได้กวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนไม่พอใจและหันไปสนับสนุนขบวนการต่อต้านแห่งชาติ (National Resistance Movement : NRM) ซึ่งมีนาย Yoweri Museveni เป็นผู้นำ นาย Museveni เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของประธานาธิบดี Obote ระหว่างปี 2510-2515 (ค.ศ. 1967-1972) และหลบหนีไปแทนซาเนียในช่วงที่ประธานาธิบดี Amin ก่อการรัฐประหาร และได้ก่อตั้งขบวนการ NRM ขึ้น ขบวนการ NRM สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลของพลโท Okello ได้ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2529 (ค.ศ. 1986) และนาย Museveni เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลจากพรรคต่าง ๆ รัฐบาลประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 3-5 ปีข้างหน้า และอนุญาตให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังคงอยู่ได้แต่ให้ระงับกิจกรรมชั่วคราวรัฐบาลของประธานาธิบดี Museveni มีเป้าหมายอันดับแรก คือ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชาติและฟื้นฟูการปกครองด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากผู้แทนหลายฝ่าย เนื่องจากยูกันดามีขบวนการหลายกลุ่มและแตกแยกสู้รบกันเป็นเวลา 20 ปี ทำให้บ้านเมืองถูกทำลายและเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ
รัฐบาลประกอบด้วยสมาชิกจากขบวนการต่อต้านแห่งชาติ (NRM), Uganda Patriotic Movement, Democratic Party, Uganda People's Congress, Conservative Party และขบวนการกองโจรเล็ก ๆ 2 องค์การ รัฐบาลทหารชั่วคราวได้ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 2529 (ค.ศ. 1986) รับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สภา National Resistance Council ประกอบด้วยสมาชิก 268 คน ซึ่งนำโดยประธาน คือ ประธานาธิบดีเดิมขบวนการ NRM ประกาศว่าจะปกครองประเทศเพียง 4 ปี แต่ในเดือนตุลาคม 2532 (ค.ศ. 1989) เนื่องจากสภาวะสงครามทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องขอเวลาอีก 5 ปี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และการขอยืดอายุรัฐบาลประธานาธิบดี Museveni เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพราะเห็นว่าไม่มีใครที่จะปกครองประเทศแทนประธานาธิบดี Museveni ได้ รัฐบาลได้รับความนิยมจากประชาชนในด้านความปลอดภัย เศรษฐกิจเสรีและนำความสงบสุขสู่ยูกันดา
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 (ค.ศ. 1996) ประธานาธิบดี Museveni ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง มีวาระ 5 ปี และสมาชิกของขบวนการ NRM ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนที่นั่ง 276 ที่นั่ง จึงทำให้ขบวนการ NRM มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ปัจจุบันยูกันดากำลังประสบกับปัญหาความขัดแย้งทางตอนเหนือของประเทศ โดยปัญหาดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2530 (ค.ศ. 1987) เนื่องมาจากมีการจัดตั้งกลุ่มกบฏ Lord Resistance Army (LRA) นำโดยนาย Joseph Kony ซึ่งมีเป้าหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาลยูกันดาเพื่อก่อตั้งรัฐบาล Theocratic ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่ยึดถือพระเจ้าหรือเทพเจ้าเป็นหลัก ถึงแม้ว่า LRA ไม่ได้เป็นภัยคุกคามสำหรับรัฐบาลยูกันดาก็ตาม แต่ก็ได้ก่อความไม่สงบทางตอนเหนือของยูกันดาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ปัจจุบันมีชาวยูกันดาซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือจำนวนมากต้องประสบปัญหาความยากจน ขาดแคลนอาหาร มีอัตราการตายของเด็กสูง มีจำนวนผู้พลัดถิ่นสูง นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2547 (ค.ศ. 2004) ได้มีรายงานด้วยว่า LRA ได้ใช้กำลังกดขี่ทางเพศต่อเด็ก รวมทั้งยังมีเด็กอีกจำนวน 16,000 - 26,000 คน ถูกใช้งานเป็นทหาร (Child Soldiers)
ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 (ค.ศ. 2006) ประธานาธิบดี Museveni ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 59.3 โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี
การเมืองการปกครอง
[แก้]การปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2538 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2548
บริหาร
[แก้]ประกอบด้วยประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาล ส่วนนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการช่วยเหลือประธานาธิบดีในการดูแลคณะรัฐมนตรี
นิติบัญญัติ
[แก้]ระบบรัฐสภาของยูกันดาเป็นระบบสภาเดียว มีสมาชิกรัฐสภา จำนวน 276 คน โดยเป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง 214 คน ที่เหลือ 62 คน มาจากการเสนอชื่อของประธานาธิบดีที่จัดสรรที่นั่งให้แก่บุคคลสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ได้แก่ สตรี 39 คน นายทหาร 10 คน คนพิการ 5 คน เยาวชน 5 คน และผู้แทนจากภาคแรงงาน 5 คน โดยสมาชิกรัฐสภาอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี
องค์กรระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกา
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ภายหลังได้รับเอกราชในปี 2510 สามประเทศในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของอังกฤษ ได้แก่ ยูกันดา เคนยา และแทนซาเนียได้ร่วมกันจัดตั้ง EAST AFRICAN COMMUNITY (EAC) แต่ก็ต้องล้มเลิกไปในปี 2520 เนื่องจากความขัดแย้งกันทางการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 กลุ่ม EAC ได้ถือกำเนิดขึ้นอีกเมื่อทั้ง 3 ประเทศร่วมลงนามในการจัดตั้ง EAC ขึ้นอีกครั้ง
ยูกันดาเป็นสมาชิกสหประชาชาติและองค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติและเข้าเป็นสมาชิกองค์การเอกภาพแอฟริกา (Organization of African Unity - OAU) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 ประธานาธิบดี Museveni ได้รับเลือกเป็นประธาน OAU เป็นเวลาหนึ่ง และสมาชิกในกลุ่ม PTA (Preferential Trade Area for East and Southern Africa) เมื่อเดือนธันวาคม 2530 มีการประชุมประเทศในกลุ่ม PTA ที่กรุงกัมปาลา มีมติให้ประเทศสมาชิกลดภาษีศุลกากรลงร้อยละ 10 ทุก ๆ 2 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530 ถึงเดือนตุลาคม 2539 นอกจากนี้ ยูกันดายังเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย
ยูกันดาได้ประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศภายใต้ LOME CONVENTION ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าและความช่วยเหลือระหว่าง EU และแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก โดยสินค้าเข้าบางชนิดในประเทศกลุ่ม EU จะได้รับการยกเว้นภาษี นอกจากนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือด้านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การสูญเสียจากการที่ราคาสินค้าตกต่ำและเพื่อกิจการด้านเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 ยูกันดาและประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาตลาดร่วมแห่งภูมิภาครัฐแอฟริกาตะวันออกและใต้ (Common Market for Eastern and Southern African States : COMESA)
ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ : เนื่องจากเป็นประเทศที่ประสบภาวะสงครามกลางเมืองเป็นเวลานาน ยูกันดาจึงต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี Museveni แถลงว่า รัฐบาลยูกันดายินดีที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากต่างชาติในด้านที่จำเป็นและสำคัญทางเศรษฐกิจเท่านั้น เช่น ในด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2530 ประเทศผู้ให้ต่าง ๆ ได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ยูกันดามากขึ้น โดยประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ยูกันดาที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ออสเตรีย เป็นต้น นอกจากนี้ ยูกันดายังได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการนำเข้าสินค้าจำเป็นจำนวน 20.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ยูกันดามากที่สุดในภูมิภาค SUB-SAHARA เดนมาร์ก (12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ญี่ปุ่นได้ให้เงินช่วยเหลือ 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ ยูกันดาในการลดภาระหนี้สินในการนำเข้าสินค้าจำเป็น อาทิ ปิโตรเลียม เครื่องมือก่อสร้างถนน อุปกรณ์ไฟฟ้า รถประจำทาง เครื่องจักรกล เครื่องรับโทรทัศน์ วิทยุ อุปกรณ์โทรคมนาคม ฯลฯ จากการเยือนยูกันดาของประธานาธิบดี Clinton ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2541 นั้นประธานาธิบดี Clinton ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือแก่ยูกันดาในด้านการศึกษา โภชนาการ สาธารณสุขและด้านแรงงานแก่ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา รวมมูลค่า 198.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การประกาศให้ความช่วยเหลือดังกล่าวที่ประเทศยูกันดา นับว่าสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญแก่ยูกันดามากขึ้น
นอกจากนี้ ยูกันดายังมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในภูมิภาค (Great Lakes) รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุนระหว่างกัน และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Entebbe Summit for Peace and Prosperity ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2541 โดยประธานาธิบดี Clinton ได้เข้าร่วมการประชุมพร้อมกับผู้นำสูงสุดและผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประธานาธิบดี Museveni แห่งยูกันดา ประธานาธิบดี Danial arap Moi แห่งเคนยา ประธานาธิบดี Benjamin W. Mkapa แห่งแทนซาเนีย ประธานาธิบดี Pasteur Bizimungu แห่งรวันดา ประธานาธิบดี Laurent Kabila แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นายกรัฐมนตรี Meles Zenawi แห่งเอธิโอเปีย นาย Murerwa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของซิมบับเว ซึ่งผู้นำและผู้แทนประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์การประชุม Kampala Summit Communigue ด้วย
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]แม่แบบ:Districts of Uganda Image Map
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ประเทศยูกันดาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ภูมิภาค โดยแบ่งย่อยออกเป็น 6 อาณาจักร โดยแต่ละอาณาจักรแบ่งย่อยออกเป็น 111 เขต โดยแต่ละเขตแบ่งย่อยออกเป็น 146 มณฑล
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 69 เขต ได้แก่ Adjumani, Amolatar, Amuria, Apac, Arua, Budaka, Bugiri, Bundibugyo, Bushenyi, Busia, Butaleja, Gulu, Hoima, Ibanda, Iganga, Jinja, Kaabong, Kabale, Kabarole, Kaberamaido, Kabingo, Kalangala, Kaliro, Kampala, Kamuli, Kamwenge, Kanungu, Kapchorwa, Kasese, Katakwi, Kayunga, Kibale, Kiboga, Kiruhura, Kisoro, Kitgum, Koboko, Kotido, Kumi, Kyenjojo, Lira, Luwero, Masaka, Masindi, Mayuge, Mbale, Mbarara, Moroto, Moyo, Mpigi, Mubende, Mukono, Manafwa, Mityana, Nakapiripirit, Nakaseke, Nakasongola, Nebbi, Ntungamo, Pader, Pallisa, Rakai, Rukungiri, Sembabule, Sironko, Soroti, Tororo, Wakiso, Yumbe
ประชากรศาสตร์
[แก้]เชื้อชาติ
[แก้]บากันดา 16.9% บานยาโคล 9.5% บาโซกา 8.4% บาคีกา 6.9% อิเตโซ 6.4% ลันกี 6.1% อโคลี 4.7% บากิซู 4.6% ลักบารา 4.2% บันโยโร 2.7% และอื่นๆ 29.6% (สัมมะโนประชากร พ.ศ. 2545)
ภาษา
[แก้]ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ Luganda, Kiswahili, Luo, Lunyoro -Lutoro และ Bantu เป็นภาษาท้องถิ่น
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ศาสนา
[แก้]ประชากรยูกันดานับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ 84% นับถือศาสนาอิสลาม 12% และศาสนาอื่นๆอีก 4%
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การประเมินประชากรโลก พ.ศ. 2560". ESA.UN.org (custom data acquired via website). United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division. สืบค้นเมื่อ 10 September 2017.
- ↑ "Republic of Uganda – Census 2014 – Final Report" (PDF). Table 2.1 page 8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 19 September 2016. สืบค้นเมื่อ 19 September 2016.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "Uganda". International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 13 July 2019.
- ↑ "Gini index (World Bank estimate)". World Bank. สืบค้นเมื่อ 17 January 2017.
- ↑ Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประเทศยูกันดา ที่เว็บไซต์ Curlie
- Wikimedia Atlas of Uganda
- Uganda entry at The World Factbook
- Chief of State and Cabinet Members เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Uganda เก็บถาวร 2008-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน from UCB Libraries GovPubs.
- Humanitarian news and analysis from IRIN – Uganda
- Humanitarian information coverage on ReliefWeb
- Map Uganda At UN.org
- Country Profile from BBC News.
- การท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐยูกันดา
- คู่มือการท่องเที่ยว ประเทศยูกันดา จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)
- Uganda Humanist Schools Trust เก็บถาวร 2010-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Radio France International – dossier on Uganda and Lord's Resistance Army เก็บถาวร 2021-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Key Development Forecasts for Uganda from International Futures.
- ประเทศยูกันดา ที่เว็บไซต์ Curlie