รัฐบัญญัติจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่
รัฐบัญญัติจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ หรือ รัฐบัญญัติ 11 มีนาคม (ลิทัวเนีย: Aktas dėl Lietuvos nepriklausomos valstybės atstatymo; อังกฤษ: Act of the Re-Establishment of the State of Lithuania; Act of March 11) เป็นรัฐบัญญัติของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลิทัวเนีย ร่างขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1990 และลงนาม[1] โดยสมาชิกทุกคนของสภาที่ปรึกษาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย นำโดยขบวนการซายูดิส (Sąjūdis) รัฐบัญญัตินี้เน้นย้ำถึงการฟื้นฟูและสถานภาพทางกฎหมายอันต่อเนื่องของลิทัวเนีย ซึ่งถูกยึดครองโดยและสูญเสียเอกราชแก่สหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 ส่งผลให้ลิทัวเนียเป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพโซเวียตแห่งแรกที่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
พื้นเพเดิม
แก้การสูญเสียเอกราช
แก้ภายหลังการแบ่งแยกเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ลิทัวเนียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ถัดมาเกิดการปฏิวัติขึ้นในปี ค.ศ. 1917 สภาที่ปรึกษาแห่งลิทัวเนียซึ่งมีนายโยนัส บาซานาวิเชียส (Jonas Basanavičius) เป็นประธาน จึงได้ประกาศรัฐบัญญัติว่าด้วยเอกราชของลิทัวเนียในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 ลิทัวเนียจึงมีสถานะเป็นรัฐเอกราชเป็นเวลาสองทศวรรษ เมื่อเวลาก้าวล่วงถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนีได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกเขตอิทธิพลของทั้งสองฝ่ายในภูมิภาคยุโรปตะวันออก รัฐบอลติก (ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย) จึงตกอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของสหภาพโวเวียต และถูกเข้ายึดครองในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 ก่อนที่จะถูกแปรสภาพไปเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตในภายหลัง
ในกรณีของลิทัวเนีย ประธานาธิบดีอันตานัส สเมโตนา (Antanas Smetona) เลือกที่จะลี้ภัยออกนอกประเทศแทนการยอมรับการเข้ายึดครองของโซเวียต เขาไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง แต่ทำการถ่ายโอนหน้าที่ของประธานาธิบดีแก่นายกรัฐมนตรีอันตานัส เมอร์คีส (Antanas Merkys) แทน ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าพึงกระทำได้ ในวันถัดมานายเมอร์คีสจึงได้ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีและแต่งตั้งนายยุสตัส พาเลกคีส (Justas Paleckis) นักการเมืองผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามนายสเมโตนามาอย่างยาวนาน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายเมอร์คีสก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้นายพาเลกคีสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อมา สหภาพโซเวียตจึงได้ใช้นายพาเลกคีสเป็นผู้นำหุ่นเชิดเพื่อให้การผนวกรวมลิทัวเนียทั้งในทางปฏิบัติและในทางกฎหมายสามารถดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์
จากนั้นทางการโซเวียตได้ริเริ่มนโยบายทำให้รัฐบอลติกเป็นโซเวียต (Sovietization) เช่น ยึดเอาทรัพย์สินเอกชนมาเป็นของชาติ ริเริ่มเกษตรกรรมแบบนารวม ปราบปรามคริสตจักรโรมันคาทอลิก และเข้าปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะเดียวกันนั้นเองยังได้ริเริ่มโครงการการศึกษาและสาธารณสุขฟรีอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1953 กลุ่มติดอาวุธต่อต้านโซเวียตของลิทัวเนียถูกกำจัด โดยประมาณการณ์กันว่าสมาชิกกองกำลังชาวลิทัวเนียกว่า 130,000 คน หรือถูกเรียกขานโดยโซเวียตว่า ศัตรูของประชาชน ถูกเนรเทศไปยังไซบีเรีย (การเนรเทศเดือนมิถุนายนและเดือนมีนาคม) ถัดมาในปีเดียวกันนั้นเอง โจเซฟ สตาลิน ถึงแก่อสัญกรรม สหภาพโซเวียตจึงได้ริเริ่มนโยบายโต้อภิวัฒน์สตาลิน (de-Stalinization) ซึ่งทำให้การประหัตประหารผู้คนจำนวนมากสิ้นสุดลงไปด้วย ทั้งนี้ขบวนการต่อต้านโซเวียตของลิทัวเนียที่ปราศจากความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปทั้งในลิทัวเนียเองและในหมู่ชาวลิทัวเนียพลัดถิ่น ขบวนการนี้เป็นขบวนการลับ ผิดกฎหมาย และมุ่งเน้นไปที่ประเด็นปัญหาทางสังคม สิทธิมนุษยชน และกิจการด้านวัฒนธรรม มากกว่าการเรียกร้องทางการเมือง
ขบวนการเรียกร้องเอกราช
แก้ในขณะที่มิฮาอิล กอร์บาชอฟ พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตด้วยนโยบายกลัสนอสต์ (glasnost; การเผยแพร่) และเปเรสตรอยคา (perestroika; การปรับโครงสร้าง) กอร์บาชอฟได้เปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลโซเวียตครั้งใหญ่ เช่น เปิดกว้างให้สาธารณชนชาวโซเวียตได้ถกเถียงและอภิปรายกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สำหรับชาวลิทัวเนียผู้ไม่พอใจสหภาพโซเวียตแล้ว นี่จึงเป็นโอกาสทองที่พลาดไม่ได้ในการนำขบวนการใต้ดินของตนขึ้นมาบนดิน
ต่อมาในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1987 (ตรงกับวันครบรอบปีที่ 48 ของสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพ) สันนิบาตเสรีภาพลิทัวเนียได้จัดการเดินประท้วงขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ได้มีการปราบปรามหรือจับกุมจากทางการโซเวียตแต่อย่างใด โดยหลังจากการเดินประท้วงครั้งดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มปัญญาชน 35 คนรู้สึกถึงแรงกล้าที่จะจัดตั้งขบวนการปฏิรูปซายูดิส (Sąjūdis) ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1988 มีเป้าหมายดั้งเดิมเพื่อสนับสนุน อภิปราย และริเริ่มการปฏิรูปของกอร์บาชอฟ รวมถึงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตอย่างเปิดเผยด้วยเล็กน้อย ขบวนการดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นและดึงดูดผู้คนให้มาเข้าร่วมการเดินประท้วงในสวนสาธารณะวินกีสจำนวนมาก ส่งผลให้แนวทางและเป้าหมายของขบวนการมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยโอกาสที่กอร์บาชอฟมีท่าทีที่เพิกเฉย
เมื่อก้าวล่วงถึงปี ค.ศ. 1989 ขบวนการซายูดิสไม่เกรงกลัวอำนาจของมอสโกหรือการปราบปรางที่รุนแรงแต่อย่างใด แต่ยังคงพลักดันข้อเรียกร้องของตนอย่างต่อเนื่อง โดยลดทอนการอภิปรายในประเด็นการปฏิรูปของกอร์บาชฟลงและเพิ่มน้ำหนักไปที่ข้อเรียกร้องถึงสิทธิการมีส่วนรวมในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้สหภาพโซเวียตอีกด้วย
ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1989 เกิดเหตุการณ์ บอลติกเวย์ (Baltic Way) ที่ผู้คนร่วมออกมาเรียงแถวเป็นโซ่มนุษย์ยาวมากกว่า 600 กิโลเมตร (370 ไมล์) ผ่านรัฐบอลติก 3 รัฐ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 50 ของสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพ ซึ่ง ณ เวลานี้เองขบวนการซายูดิสได้ถือเอาการเรียกร้องเอกราชแบบเต็มขั้นมาเป็นเป้าหมายอย่างเป็นทางการของกลุ่ม
การเลือกตั้งในแบบประชาธิปไตย
แก้การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาลิทัวเนีย ค.ศ. 1990 นับเป็นการเลือกตั้งเสรีตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในลิทัวเนียนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนจำนวนมากออกมาใช้เสียงเลือกผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกโดยขบวนการซายูดิส แม้ขบวนการดังกล่าวจะไม่ได้ดำเนินงานในฐานะพรรการเมืองก็ตาม ลิทัวเนียจึงได้รัฐบาลที่ไม่ใช่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมัยสงครามโลก และในสมัยประชุมแรกของรัฐสภาในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1990 นี่เองที่สภาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลิทัวเนีย (Supreme Soviet of the Lithuanian SSR) ได้เลือกนายวีเทาตัส ลันสเบอร์กีส (Vytautas Landsbergis) เป็นประธานสภา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สภาที่ปรึกษาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย (Supreme Council of the Republic of Lithuania) พร้อมกับประกาศจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ด้วยรัฐบัญญัติซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาฯ จำนวน 124 คน (งดออกเสียง 6 คน) เมื่อเวลา 22.44 น.[2] โดยปราศจากเสียงคัดค้าน
เนื้อความ
แก้“ | รัฐบัญญัติ ว่าด้วยการจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่สภาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย แสดงออกซึ่งเจตจำนงแห่งประชาชาติ จึงตราและประกาศเป็นพิธีว่า การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐลิทัวเนียที่กองกำลังต่างชาติล้มล้างลงในปี 1940 นั้นเป็นอันจัดตั้งขึ้นอีกครั้ง และลิทัวเนียจึงกลับคืนเป็นรัฐเอกราชนับแต่บัดนั้น รัฐบัญญัติเอกราช ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1918 ของสภาลิทัวเนีย และกฤษฎีกาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 1920 ว่าด้วยรัฐประชาธิปไตยลิทัวเนียที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ไม่เคยสิ้นผลทางกฎหมาย และประกอบไว้ซึ่งรากฐานทางรัฐธรรมนูญของรัฐลิทัวเนีย อาณาเขตลิทัวเนียย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวและจะแบ่งแยกมิได้ และการสถาปนารัฐอื่นใดในอาณาเขตนี้ย่อมไม่เป็นผล รัฐลิทัวเนียเน้นย้ำการที่ตนยึดถือหลักกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นที่ยอมรับโดยสากล รับรองหลักความละเมิดมิได้ของเขตแดนตามที่กำหนดไว้ในกรรมสารฉบับสุดท้ายของที่ประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ณ กรุงเฮลซิงกิในปี 1975 กับทั้งรับประกันสิทธิมนุษยชน พลเมือง และชุมชนชาติพันธุ์ สภาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย แสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตย จึงให้อำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ของรัฐเป็นอันเริ่มมีขึ้นด้วยรัฐบัญญัตินี้[3] |
” |
วาทกรรมของรัฐบัญญัตินี้ที่ว่าลิทัวเนียไม่เคยสูญเสียเอกราชนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าประธานาธิบดีอันตานัส สเมโตนา ไม่เคยลาออกจากตำแหน่ง ดังนั้นการสืบทอดตำแหน่งของประธานาธิบดีอันตานัส เมอร์คีส จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ลิทัวเนียได้โต้แย้งว่าการกระทำทุกอย่างหลังจากที่นายเมอร์คีสเข้าสืบทอดตำแหน่งไปจนถึงการเข้ายึดครองของโซเวียตถือเป็นโมฆะ
ผลที่ตามมา
แก้แม้รัฐบัญญัติจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่จะถือเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่สาธารณรัฐโซเวียตแห่งอื่น ๆ แต่ประเด็นปัญญาเกี่ยวกับการประกาศเอกราชก็ไม่ได้รับการคลี่คลายลงในทันที ส่วนการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอน
มิฮาอิล กอร์บาชอฟ กล่าวว่ารัฐบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย สหภาพโซเวียตเองก็เรียกร้องให้มีการเพิกถอนกฎหมายดังกล่าวและเริ่มมาตรการคว่ำบาตรลิทัวเนีย เช่น การปิดกั้นทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1991 กองกำลังของโซเวียตได้เข้าโจมตีอาคารรัฐสภาในกรุงวิลนีอุสและหอแพร่ภาพสัญญาณโทรทัศน์ของวิลนีอุสด้วย พลเรือนชาวลิทัวเนียผู้ไม่มีอาวุธจึงเข้าเผชิญหน้ากับทหารโซเวียต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน และอีก 700 กว่าคนได้รับบาดเจ็บ ภายหลังได้มีการขนานนามเหตุการณ์นี้ว่า เหตุการณ์เดือนมกราคม
ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 สภาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวียลงมติยอมรับการจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ให้เป็นเอกราช[4] จึงเป็นรัฐสภาประเทศแรกในโลกที่ยอมรับเอกราชของลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ แม้มอลเดเวียจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็ตาม
ไอซ์แลนด์เป็นประเทศนอกสหภาพโซเวียตประเทศแรกที่ยอมรับเอกราชของลิทัวเนียในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991[5] ตามมาด้วยเดนมาร์ก สโลวีเนีย โครเอเชีย และลัตเวีย ต่อมาหลังความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวในเดือนสิงหาคม เอกราชของลิทัวเนียก็ถูกยอมรับโดยสหรัฐอเมริกาในวันที่ 2 กันยายน ซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ประกาศว่าหากโซเวียตรัสเซียใช้กำลังเข้าโจมตีลิทัวเนียสหรัฐอเมริกาก็จะตอบโต้ในแบบเดียวกัน จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1991 สหภาพโซเวียตจึงยอมรับเอกราชของลิทัวเนียในที่สุด ลิทัวเนียจึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างรวดเร็ว เช่น จีน อินเดีย และเบลารุส เป็นต้น ในท้ายที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1991 ลิทัวเนียก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติเช่นเดียวกับเอสโตเนียและลัตเวีย
การยอมรับจากนานาชาติ
แก้เส้นเวลาการยอมรับการจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ของนานาชาติ[6] | |||||
ที่ | วันที่ | ประเทศ | ที่ | วันที่ | ประเทศ |
---|---|---|---|---|---|
1 | 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 | มอลเดเวีย | 58 | 6 กันยายน ค.ศ. 1991 | สิงคโปร์ |
2 | 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 | ไอซ์แลนด์ | 59 | 6 กันยายน ค.ศ. 1991 | อียิปต์ |
3 | 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 | เดนมาร์ก | 60 | 6 กันยายน ค.ศ. 1991 | สหภาพโซเวียต |
4 | 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 | สโลวีเนีย | 61 | 7 กันยายน ค.ศ. 1991 | อัฟกานิสถาน |
5 | 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 | โซเวียตรัสเซีย | 62 | 7 กันยายน ค.ศ. 1991 | จีน |
6 | 3 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | โครเอเชีย | 63 | 7 กันยายน ค.ศ. 1991 | เกาหลีเหนือ |
7 | 23 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ลัตเวีย | 64 | 7 กันยายน ค.ศ. 1991 | เปรู |
8 | 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | นอร์เวย์ | 65 | 7 กันยายน ค.ศ. 1991 | เซเนกัล |
9 | 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ฮังการี | 66 | 7 กันยายน ค.ศ. 1991 | บังกลาเทศ |
10 | 25 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | อาร์เจนตินา | 67 | 8 กันยายน ค.ศ. 1991 | ปากีสถาน |
11 | 25 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ฝรั่งเศส | 68 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | โบลิเวีย |
12 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | บัลแกเรีย | 69 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | โบลิเวีย |
13 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | อิตาลี | 70 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | อินเดีย |
14 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | แคนาดา | 71 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | คิวบา |
15 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | โปแลนด์ | 72 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | ซีเรีย |
16 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | มอลตา | 73 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | ไทย |
17 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | โปรตุเกส | 74 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | เวียดนาม |
18 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | โรมาเนีย | 75 | 9 กันยายน ค.ศ. 1991 | กาบูเวร์ดี |
19 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ซานมารีโน | 76 | 10 กันยายน ค.ศ. 1991 | กาบูเวร์ดี |
20 | 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ยูเครน | 77 | 10 กันยายน ค.ศ. 1991 | อาเซอร์ไบจาน |
21 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | แอลเบเนีย | 78 | 10 กันยายน ค.ศ. 1991 | อิหร่าน |
22 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ออสเตรเลีย | 79 | 10 กันยายน ค.ศ. 1991 | เนปาล |
23 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | เบลเยียม | 80 | 11 กันยายน ค.ศ. 1991 | มาดากัสการ์ |
24 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | สหราชอาณาจักร | 81 | 12 กันยายน ค.ศ. 1991 | อาร์มีเนีย |
25 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | จอร์เจีย | 82 | 12 กันยายน ค.ศ. 1991 | ไซปรัส |
26 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | สเปน | 83 | 13 กันยายน ค.ศ. 1991 | เยเมน |
27 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ลักเซมเบิร์ก | 84 | 15 กันยายน ค.ศ. 1991 | บาห์เรน |
28 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | สวีเดน | 85 | 15 กันยายน ค.ศ. 1991 | จอร์แดน |
29 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | เยอรมนี | 86 | 15 กันยายน ค.ศ. 1991 | คูเวต |
30 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ไอร์แลนด์ | 87 | 15 กันยายน ค.ศ. 1991 | ฟิลิปปินส์ |
31 | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | เอสโตเนีย | 88 | 16 กันยายน ค.ศ. 1991 | ซาอุดีอาระเบีย |
32 | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ออสเตรีย | 89 | 17 กันยายน ค.ศ. 1991 | อินโดนีเซีย |
33 | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ชิลี | 90 | 19 กันยายน ค.ศ. 1991 | สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ |
34 | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | นิวซีแลนด์ | 91 | 20 กันยายน ค.ศ. 1991 | ลาว |
35 | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | แอฟริกาใต้ | 92 | 24 กันยายน ค.ศ. 1991 | เติร์กเมนิสถาน |
36 | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | ฟินแลนด์ | 93 | 25 กันยายน ค.ศ. 1991 | ปานามา |
37 | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | สวิตเซอร์แลนด์ | 94 | 30 กันยายน ค.ศ. 1991 | อุซเบกิสถาน |
38 | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | อุรุกวัย | 95 | 30 กันยายน ค.ศ. 1991 | นามิเบีย |
39 | 29 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | เชโกสโลวาเกีย | 96 | 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991 | ศรีลังกา |
40 | 29 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | มองโกเลีย | 97 | 23 ธันวาคม ค.ศ. 1991 | กานา |
41 | 30 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | นครรัฐวาติกัน | 98 | 23 ธันวาคม ค.ศ. 1991 | คาซัคสถาน |
42 | 30 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | คีร์กีซสถาน | 99 | 24 ธันวาคม ค.ศ. 1991 | โมซัมบิก |
43 | 2 กันยายน ค.ศ. 1991 | เอกวาดอร์ | 100 | 25 ธันวาคม ค.ศ. 1991 | ทาจิกิสถาน |
44 | 2 กันยายน ค.ศ. 1991 | เนเธอร์แลนด์ | 101 | 27 ธันวาคม ค.ศ. 1991 | แอลจีเรีย |
45 | 2 กันยายน ค.ศ. 1991 | สหรัฐอเมริกา | 102 | 27 ธันวาคม ค.ศ. 1991 | เบลารุส |
46 | 3 กันยายน ค.ศ. 1991 | กรีซ | 103 | 30 ธันวาคม ค.ศ. 1991 | เลบานอน |
47 | 3 กันยายน ค.ศ. 1991 | ลิเบีย | 104 | 2 มกราคม ค.ศ. 1991 | อิรัก |
48 | 3 กันยายน ค.ศ. 1991 | นิการากัว | 105 | 6 มกราคม ค.ศ. 1991 | บุรุนดี |
49 | 3 กันยายน ค.ศ. 1991 | ตุรกี | 106 | 16 มกราคม ค.ศ. 1991 | บูร์กินาฟาโซ |
50 | 4 กันยายน ค.ศ. 1991 | บราซิล | 107 | 25 มกราคม ค.ศ. 1991 | มาลี |
51 | 4 กันยายน ค.ศ. 1991 | อิสราเอล | 108 | 31 มกราคม ค.ศ. 1991 | เบนิน |
52 | 4 กันยายน ค.ศ. 1991 | ตูนิเซีย | 109 | 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 | คอสตาริกา |
53 | 5 กันยายน ค.ศ. 1991 | เกาหลีใต้ | 110 | 17 มีนาคม ค.ศ. 1991 | ซิมบับเว |
54 | 5 กันยายน ค.ศ. 1991 | เม็กซิโก | 111 | 25 กันยายน ค.ศ. 1992 | เอลซัลวาดอร์ |
55 | 6 กันยายน ค.ศ. 1991 | กินี | 112 | 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1992 | บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา |
56 | 6 กันยายน ค.ศ. 1991 | ญี่ปุ่น | 113 | 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1992 | ไนจีเรีย |
57 | 6 กันยายน ค.ศ. 1991 | โคลอมเบีย | 114 | 12 มกราคม ค.ศ. 1993 | ชาด |
อ้างอิง
แก้- ↑ "LR AT AKTO Dėl Lietuvos nepriklausomos valstybės atstatymo signatarai". Lietuvos Respublikos Seimas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-07-01. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
- ↑ "LR AT AKTO Dėl Lietuvos nepriklausomos valstybės atstatymo signatarai". Lietuvos Respublikos Seimas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-07-01. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
- ↑ "Supreme Council - Reconstituent Seimas 1990 - 1992". Lietuvos Respublikos Seimas.
- ↑ "Prime Minister thanks Moldova for recognizing Lithuania's Independence in 1990". January 29, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ April 1, 2015.
- ↑ "Core document forming part of the reports of states parties : Lithuania". United Nations. 1 October 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-15. สืบค้นเมื่อ February 20, 2008.
- ↑ "Atkurtos Lietuvos nepriklausomos valstybės pripažinimo chronologija". สืบค้นเมื่อ April 7, 2015.
หนังสือเพิ่มเติม
แก้- The Oxford Companion to Politics of the World (p. 69, 70), Joel Krieger (editor), Oxford University, 1993.
- Background Notes on Countries of the World 2003; September 2003, Lithuania, (p. 12)
- The Baltic Revolution; Estonia, Latvia, Lithuania and The Path to Independence, Anatol Lieven, 1993.
- Collapse of an Empire, Lessons for Modern Russia (pp. 175, 214, 217-219), Yegor Gaidar, Brookings Institution, 2007.
- Why did the Soviet Union collapse, Understanding Historical Change, (p. 152-155), Robert Strayer, M.E.Sharpe, 1998.
- Ilgūnas, Gediminas. "Lietuvos kelias į 1990 m. kovo 11-ąją (1940-1990 m.)". Lietuvos Respublikos Seimas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-22. สืบค้นเมื่อ 2016-10-01.